++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อบต.-อบจ.: ฮีโร่ลดอุบัติเหตุพันธุ์ไทย

อบต.-อบจ.: ฮีโร่ลดอุบัติเหตุพันธุ์ไทย
โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 11 ตุลาคม 2553 16:01 น.
อุบัติเหตุจราจรเป็นวิกฤตสำคัญของทุกท้องถิ่น ยิ่งเป็นชุมชนเมืองที่ยวดยานวิ่งกันขวักไขว่ด้วยแล้วอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ยิ่งทวีคูณ การคลี่คลายวิกฤตการณ์บาดเจ็บล้มตายจากการขับขี่ที่สัมฤทธิผลจึงเรียกร้อง การปรับเปลี่ยนจากภายในมากกว่าภายนอก โดยเฉพาะจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ไม่เพียงเป็นกลไกการเมืองการปกครองที่ใกล้ชิดประชาชนเท่านั้น ทว่ายังก้าวขึ้นมาเป็นฮีโร่ลดอุบัติเหตุแบบมีส่วนร่วมของท้องถิ่นได้ด้วย

ด้วยศักยภาพแท้จริงในการลดอุบัติเหตุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ ใช่การมีงบประมาณในการบริหารจัดการด้านอุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งมีเจตจำนงทางการเมือง (political will) ของผู้นำที่ประกาศก้องว่าจะลดอุบัติเหตุให้ได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลที่มีทั้งงบประมาณและผู้นำคงประสบผลสำเร็จแล้ว ด้วยถึงที่สุดแล้วกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม (participation) ต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ

ดังความสำเร็จในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 12 คนต่อปีเป็น ‘0’ คนต่อปีของ อบต.กระทู้ จ.ภูเก็ต ที่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมด้านข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ จนสามารถก้าวข้ามขวากหนามด้านถนนที่ทั้งแคบเพราะขยายถนนไม่ได้ ทั้งการจราจรหนาแน่นเพราะนักท่องเที่ยวใช้สัญจรผ่านระหว่าง อ.เมืองกับเทศบาลป่าตอง โดยวิธีการที่ อบต.กระทู้ทุ่มเททำคือการประสานข้อมูลอุบัติเหตุกับสาธารณสุขจังหวัด แล้วนำข้อมูลพื้นฐานที่ได้มาประสานงานกับตำรวจท้องที่เพื่อกำหนดมาตรการนำ ป้ายโฆษณาข้างทางออกทั้งหมด และร่วมกับแขวงการทางจัดทำเส้นชะลอความเร็วและป้ายจราจรเพื่อลดความเสี่ยง อีกทางหนึ่ง รวมถึงรณรงค์วินัยจราจรกับชาวชุมชน โดยเฉพาะเยาวชน

เพียงหนึ่งปี อบต.กระทู้ไม่เพียงประสบความสำเร็จลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุด้วยเม็ดเงินแค่ 4-5 แสนบาท หากยังได้ ‘ใจ’ ชาวชุมชนและหน่วยงานอื่นๆ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมด้านข้อมูลและเคารพบทบาทหน้าที่ซึ่งกัน ไม่ต่างจาก อบต.ท่างิ้ว จ.นครศรีธรรมราช ที่ก็ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมจนรื้อถอนปัญหาอุบัติเหตุที่ หยั่งรากลึกได้ กระทั่งปัจจุบันแทบไม่เกิดอุบัติเหตุอีกเลย

ผลการทำประชาคมของ อบต.ท่างิ้ว ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเปลี่ยนมาเปิดให้เดินรถทางเดียวโดยแยกทางเข้าและ ทางออก จากเดิมที่มีรถสวนทางกันหนาแน่นเพราะใช้ทางเดียวกัน และผู้ใช้รถใช้ถนนมักวิ่งรถย้อนศรเพราะยูเทิร์นไกล สถานีตำรวจในพื้นที่จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจาก เดิมที่ไม่มี และยังฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องอุบัติเหตุถึงในโรงเรียน แขวงการทางจังหวัดก็ขยายไหล่ทางใกล้เคียง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดก็ฝึกซ้อมแผนการขนส่งผู้บาดเจ็บ และโรงเรียนในพื้นที่ก็จัดครูนักเรียนเป็นจราจรอาสาดูแลการข้ามถนนของนัก เรียน

รวมทั้ง อบต.ท่างิ้วที่มีเจตจำนงทางการเมืองแน่ชัดว่าจะลดอุบัติเหตุยังตั้งจุดพักรถ ในช่วงเทศกาลสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในการจัดการ จราจรอีกแรงหนึ่ง รวมถึงจัดฝึกอบรมการป้องกันภัยบนท้องถนนซึ่งเป็นข้อบัญญัติที่ต้องจัดทุกปี ที่สำคัญยังร่วมวางแผนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อทำทะเบียนประวัตินักศึกษา ที่ขี่รถจักรยานยนต์เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมด้วย

แรงผลักดันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นปัจจัยภายในที่มี ศักยภาพมากพอจะเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างการเกิดอุบัติเหตุของท้องถิ่นได้ ดังเช่น อบจ.ภูเก็ตที่การมุ่งมั่นพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับ การคมนาคมภายในจังหวัด ไม่ได้มีดีแค่การปรับเปลี่ยนรถโดยสารให้เข้ากับความเป็นเมืองชายฝั่งทะเลโดย การออกแบบคล้ายรถสองแถวขนาดใหญ่ที่มีสีสันสวยงามเท่านั้น ทว่ายังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนภูเก็ตให้หันมานิยมการเดินทางด้วยระบบขน ส่งมวลชนมากขึ้นด้วย จนปัจจุบันทำรายได้กว่า 300,000 บาทแล้วเพราะประชาชนเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยจากการติดตั้งจีพีเอส และความสะดวกสบายที่ถือของทะเลขึ้นรถได้เพราะตัวรถเปิดโล่งอากาศถ่ายเท ที่สำคัญยังลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัวที่ก่ออุบัติเหตุอีกด้วย

ดังนั้น ตราบใดที่ อบต.และ อบจ. ยังไม่สวมบทบาทฮีโร่ที่ใช้พลังตนเองและพลังเครือข่ายเพื่อถนนปลอดภัยที่ถัก ทอขึ้นมาบนกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยการเปิดใจตนเองจนได้ใจภาคีเครือข่ายทั้ง ภาครัฐและประชาสังคมเข้าบริหารจัดการวิกฤตอุบัติเหตุจราจรเหมือนดังตัวอย่าง อบต.และ อบจ. ข้างต้นนี้ ตราบนั้นอุบัติเหตุทางถนนก็จะอยู่คู่กับท้องถิ่นต่อไป เหนืออื่นใดไม่ต้องรอฮีโร่นำเข้าที่ไหน เพราะฮีโร่ไทยๆ นี่แหละที่ต่อกรกับอุบัติเหตุได้ดีที่สุด

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น