โดย ป.เพชรอริยะ 11 ตุลาคม 2553 17:44 น.
ในช่วงนี่มีข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและการเลือกตั้งกำนัน ซึ่งเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดของกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งจงใจที่จะเปลี่ยนรูปประเทศจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังคิดโค่นสถาบันพระมหากษัตริย์และคิดแบ่งแยกดินแดน และเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจโดยยึดเอาลักษณะประเทศสาธารณรัฐ (Republic) เข้ามาผสมปนเปกับประเทศที่มีลักษณะราชอาณาจักร (Kingdom) ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาคิดจะหาทางออกให้กับประเทศชาติ แต่ทั้งนี้หารู้ไม่ว่าเหตุวิกฤตปัญหาทั้งปวงนั้นล้วนแล้วมาจากการเมืองระบอบ เผด็จการโดยรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น มาดูกัน
แนวคิดฝ่ายสาธารณรัฐ (Republic) คนเสื้อแดง เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เราจึงขอเสนอให้มีการ “เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่” เข้ามาทำงานให้จังหวัดเชียงใหม่มีความเจริญทัดเทียมกับเมืองใหญ่ ที่เจริญแล้ว...
นักวิชาการบางคนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยอ้างว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและมีการซื้อตำแหน่ง”
แนวคิดฝ่ายคัดค้าน ม.ล.ปนัดดา เป็นผู้หนึ่งที่แสดงความเห็นในการบรรยาย หรือการประชุมคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ ได้เขียนบทความหัวข้อ สาเหตุใดกัน ที่ไม่ควรเลือกตั้ง “ผวจ.” ระบุความตอนหนึ่งว่า “ผวจ. คือ ข้าราชการประจำผู้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่เช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม และเป็นผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงจังหวัดในส่วนภูมิภาคกับส่วนกลาง รักษาไว้ซึ่งปรัชญาทางการบริหาร คือ ความเป็นราชอาณาจักร ที่เป็น “รัฐเดี่ยว” หรือ “Unitary State” มิใช่ระบบ “สหรัฐฯ” หรือ “Federation state” แต่อย่างใด”
และล่าสุดคำสัมภาษณ์ ม.ล.ปนัดดา ที่ระบุว่า “กระแสให้ยก เลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ ตามที่นักการเมืองนำเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าวต่อ ส.ส.บางส่วนขณะนี้เป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง เพราะในยามประเทศชาติกำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะความเป็นเอกภาพและความสงบเรียบร้อยคนไทยต้องช่วยกันนำเสนอข้อคิด เรื่องการเสริมสร้างทัศนคติความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง ไม่ใช่เวลาคิดค้นกระบวนวิธีการแบ่งแยกรูปแบบการบริหารของจังหวัด”
อีกด้านหนึ่ง กลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอรรถพร พลบุตร และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 35 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ เพื่อยื่นต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอรรถพรกล่าวว่า “สาระสำคัญคือการแก้ไขระบบการ เลือกตั้งกำนัน จากเดิมที่ให้ผู้ใหญ่บ้านในตำบลเลือกกันเองมาเป็นกำนัน เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้ใหญ่บ้านมาเป็นกำนันเหมือนระบบเดิมในอดีต”
ฝ่ายคัดค้าน นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ ส.ว. กล่าวว่า “ผม คิดว่า บางทีการเลือกตั้งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านที่เป็นข้าราชการของรัฐ ไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งจากประชาชนก็ได้ เพราะวัตถุประสงค์ในการทำงานของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไม่เหมือนกับการทำงานของ อบต. ที่มีวัตถุประสงค์การทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน แต่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ทำงานกับหน่วยงานของรัฐ เช่น ปราบปรามยาเสพติด”
นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว. ให้เหตุผลว่า (1) ที่มาของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ที่กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกำนัน แต่ร่าง พ.ร.บ.ที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้ไข ต้องการให้ประชาชนเลือกกำนันโดยตรง (2) วาระการดำรงตำแหน่ง ปัจจุบันใช้เกณฑ์เกษียณเหมือนข้าราชการ เพราะมองว่า เหมือนเป็นผู้ช่วยนายอำเภอ
สรุปได้ว่า แนวคิดเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และเลือกตั้งกำนัน เป็นพวกที่มีแนวคิดที่ไม่ถูกต้องสอดคล้องกับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศราช อาณาจักร และปัญหาเหตุวิกฤตชาติไม่ก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้เลย
โดยหลักการของราชอาณาจักร หรือหลักการสำคัญทางการเมืองการปกครอง ผู้ที่คิดจะเสนอหรือคิดจะเป็นนักการเมืองจะต้องรู้ว่า สัมพันธภาพระหว่างการเมืองกับการปกครอง ด้านการเมืองจะต้องกระจายอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนจริงๆ แต่ในระบอบเผด็จการทุกชนิดกลายเป็นว่า รวมศูนย์อำนาจอธิปไตยของปวงชนไปเป็นของกลุ่มทุนทางการเมืองเพียงหยิบมือ เดียว ส่วนการปกครองนั้นจะต้องรวมศูนย์ ไม่ใช่นำไปกระจาย การกระจายการปกครองถือว่าเป็นการแบ่งแยกราชอาณาจักรแบบค่อยเป็นค่อยไป
หากทำให้ถูกต้องสัมพันธภาพระหว่างการเมืองกับการปกครอง ซึ่งก็คือ สัมพันธ ภาพระหว่างการกระจายอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนกับการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง จึงเป็นปัจจัยให้เกิดดุลยภาพ มั่นคงทางการเมืองและการปกครอง นั่นเอง ดุจดัง ดวงอาทิตย์แผ่อำนาจโอบอุ้มดาวเคราะห์ ขณะเดียวกันดาวเคราะห์ขึ้นต่อหรือรวมศูนย์ที่ดวงอาทิตย์ นี่คือดุลยภาพของระบอบสุริยจักรวาล ประเทศไทยทำได้ตามกฎธรรมชาตินี้ ประเทศไทยย่อมก้าวหน้า รุ่งเรือง มั่นคง “พวกคุณอย่าคิดโค่นราชอาณาจักรกันเลย พวกเรารู้ทัน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น