++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เด็กไทยไร้พุง : ความด้อยประสิทธิผล และความไร้ประสิทธิภาพของการจัดการ...?

รศ.ดร. ประพัฒน์ ลักษณพิสุทธิ์
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหาเรื่องของโรคอ้วน (Obesity-มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มากกว่า 30 กก./ม2-WHO, 2010) ที่เคยเป็นปัญหาจำกัดวงอยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ ในปัจจุบันกลับพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ อยู่ในภาวะมีน้ำหนักเกิน ประมาณ 22 ล้านคน ทั่วโลก การแพร่อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นปัญหาระดับโลกและกำลังแพร่ไปอย่างมากในประเทศ กำลังพัฒนา ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย เด็กอายุ 5-12 ปี มีเด็กที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 12.2 % เป็น 15-16 % ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา (WHO, 2010) ซึ่งในปี พ.ศ. 2538 พบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 5 ขวบลงมา จำนวน 17.6 % มีภาวะน้ำหนักเกิน และในจำนวนดังกล่าว พบว่ามีจำนวนถึง 5.4 % ที่เป็นโรคอ้วน นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ในเด็กวัยก่อนเรียนที่เป็นโรคอ้วน พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5.8 % ในปี พ.ศ. 2541 เป็น 7.9 % ในปี 2544 (National Public Health Foundation, 2004 อ้างถึงใน พรรณี อุ่นเอม, 2550) และจากประมาณการสถานการณ์โรคอ้วน ในเด็ก ซึ่งได้มีการหยิบยกประเด็นโรคอ้วนขึ้นมาถกกันในเวทีสมัชชาสุขภาพโลก ครั้งที่ 63 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในรายงานดังกล่าวระบุว่า ปี 2010 นี้จะมีเด็กอ้วนถึงกว่า 42 ล้านคนทั่วโลก และ 35 ล้านคนในจำนวนดังกล่าวอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ชักน่ากลัวขึ้นมาแล้วไหมล่ะ

ปัญหารอบเอวขยายไม่ยอมหด ตั้งแต่เด็กจนโตจึงไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ อีกต่อไป เพราะภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight-มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มากกว่า 25 กก./ม2-WHO, 2010) ที่แพร่ไปทั่วโลกนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งโรคร้ายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้ออักเสบ และโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งล้วนกระทบถึง ศักยภาพของประเทศทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เรื่อยไปจนกระทั่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม จนกลายเป็นที่มาของการรณรงค์ขับเคลื่อนในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และทั้งองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน เพื่อสลายไขมันส่วนเกิน อย่างแข็งขัน ถึงขั้นที่องค์การอนามัยโลกต้องจัดทำ ยุทธศาสตร์ระดับโลกเรื่องอาหาร กิจกรรมทางกาย และสุขภาพ พ.ศ. 2547 (Global Strategy on Diet, Physical Activity and Health 2004) และแผนปฎิบัติการลดโรคไม่ติดต่อปี พ.ศ. 2551 (Non-Communicable Disease Action Plan 2008) (แหล่งที่มา: http://www.globalpa.org.uk/pdf/torontocharter-thai-20may2010.pdf) ขึ้น เพื่อระงับปัญหาที่สาเหตุ

บ้านเราเองก็ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคอันเกิดจากภาวะน้ำหนักเกิน นี้ไม่แพ้นานาอารยประเทศ ด้วยตระหนักถึงภัยเงียบของรอบเอวที่ขยันขยายแต่ไม่ยอมหด ถึงขั้นกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดทำ แผนยุทธศาสตร์ “ประเด็นยุทธศาสตร์สายส่งเสริมสุขภาพ พ.ศ.2552-2554” โดยมี แผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคอ้วนคนไทย (คนไทยไร้พุง) เป็นแผนหนึ่งในประเด็นฯ ดังกล่าว ซึ่งกรมอนามัยต้องการให้มีผลจุดหมายปลายทางการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนคนไทย (คนไทยไร้พุง) ภายในปี พ.ศ. 2554 โดยพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร และออกกำลังกายมาใช้ในชีวิตประจำวันตามหลักการ 3 อ. (อาหาร-โภชนาการ ออกกำลังกาย และอารมณ์) และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร และออกกำลังกาย (แหล่งที่มา: http://www.anamai.moph.go.th/main.php?filename=Plan)

ทว่าชื่อแผนยุทธศาสตร์โลกข้างต้นคงพอจะสะท้อนให้เห็นว่า บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ โภชนาการและการออกกำลังกายทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ภาวะน้ำหนักเกินเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย และเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น ปัจจัยด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย ไปจนถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ หรือ คุมได้ยาก ซึ่งคือปัจจัยที่เป็นอยู่และก่อขึ้นภายหลังในตัวเอง ตั้งแต่ปัจจัยด้านพันธุกรรม โรคประจำตัว เพศ อายุ รวมไปถึงภาวะทางอารมณ์ เช่น อาการจิตตกซ้ำซากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ชนิดที่ผู้ป่วยระบายออกด้วยการกระหน่ำรับประทานอาหารอย่างไม่จำกัดประเภทและ ปริมาณ ซึ่งกรณีนี้หากไม่ได้รับการบำบัดก็อาจกลายเป็นโรคอ้วน ตลอดจนโรคเรื้อรังอื่นๆตามมาได้

แนวทางการนำแผนยุทธศาสตร์พิชิตพุงทั้งในและต่างประเทศสู่การปฏิบัติ ดูจะให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาเป็นอันดับแรก แต่การ “ให้การศึกษา” นั้น สามารถจัดให้มีขึ้นได้ในหลายระดับ ด้วยวิธีการและในสถานที่และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่สำคัญการให้การศึกษา เพื่อผลักดันให้เกิดการเรียนรู้จนถึงขั้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่าง ยั่งยืนถาวรนั้น จำเป็นต้องให้มากกว่าการให้ในด้าน “ความรู้” หรือ “ทฤษฎี” นั่นคือ ต้องให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในด้าน “ทักษะหรือการปฏิบัติ” และด้าน “ทัศนคติหรือเจตคติ” อีกด้วย กล่าวคือ หลังจากผู้เรียนได้รับการศึกษาแล้ว ผู้เรียนต้องมีความรู้ ทักษะ และเจตคติ ทั้งด้านโภชนาการและด้านการออกกำลังกาย เพราะเราจะสังเกตุเห็นได้ว่า การสั่งห้าม หรือสั่งให้ปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางที่ยั่งยืนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ก็ตาม

การให้การศึกษาแก่ผู้เรียน ตั้งแต่ให้ผู้เรียนสามารถจดจำได้ มีความเข้าใจ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ในสถานการณ์อื่น วิเคราะห์แยกแยะรายละเอียดได้ ประเมินผลและตัดสินใจได้ จนถึงขั้นสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมทักษะและทัศนคติ ต้องจัดให้อย่างสอดคล้องกับ อายุ เพศ ประสบการณ์และลักษณะพิเศษของแต่ละบุคคล การรับรู้และทัศนคติที่เป็นลักษณะเฉพาะของพฤติกรรม และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการและการออกกำลังกาย ต่างหากที่จะนำไปสู่การปฏิวัติวิถีการบริโภคและการออกกำลังกายอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดของรูปแบบการส่งเสริมสุขภาวะ (Health Promotion Model) ของ เพนเดอร์และคนอื่น ๆ (Pender et al., 2006)

เด็กปฐมวัย ถือเป็นกลุ่มผู้เรียนกลุ่มแรกที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ไม่เพียงเพราะค่าประมาณการสถานการณ์โรคอ้วนในเด็กทั่วโลกที่สูงจนน่าตกใจ เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายอย่างถูกต้องและมี ประสิทธิภาพนั้นต้องบ่มเพาะกันมาตั้งแต่ระดับดังกล่าว เพื่อให้ความตระหนัก ความรู้ พฤติกรรมและทัศนคติต่อการบริโภคและการออกกำลังกายดังกล่าวติดตัวเด็กต่อไปจน ถึงวัยสูงอายุในอนาคต จึงจะเป็นการขจัดปัญหาที่ต้นเหตุ

การให้การศึกษาด้านโภชนาการและการออกกำลังกายแก่เด็กทุกวัย ตั้งแต่เด็กปฐมวัยขึ้นมาในบ้านเรานั้นมีมานานแล้ว แต่ผลผลิตจากการจัดการศึกษา ก็เป็นดังที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ ชวนให้คิดว่า ‘การปฎิรูปการศึกษา’ ที่เป็นคำพูดฮิตติดปากกันอยู่ทุกวันนี้ ด้อยประสิทธิผลและไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่ เพียงใด จะมีหนทางใดที่น่าจะได้ช่วยปฏิรูปวิธีการให้การศึกษาด้านโภชนาการและการออก กำลังกายในระบบและอย่างเป็นระบบด้วย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ทักษะและเจตคติทั้งด้านโภชนาการและการออก กำลังกายไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง อย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวันแทนที่จะรู้ไว้เพียงเพื่อตอบข้อสอบเพียงอย่าง เดียว

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นก็ใช่ว่าจะละเลยในด้านการ ให้การศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการและการออกกำลังกายเสียทีเดียว การให้การศึกษาในประเด็นดังกล่าวนั้นได้รับการบรรจุไว้ในกลุ่มสาระการเรียน รู้สุขศึกษาและพลศึกษาแล้ว ทว่าน่าจะยังขาดในส่วนของผู้ให้การศึกษาในการสร้างเสริมความตระหนักในคุณค่า ของอาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพและครบหมู่อาหารหลัก ตลอดจนการสร้างความตระหนักและการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ จำนวนชั่วโมงเรียนสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ดังกล่าวยังมีน้อยอีกด้วย เมื่อเทียบกับเวลามากกว่า 8 ชั่วโมง ที่เด็กใช้ศึกษาเรียนรู้ในสถานศึกษา และไม่น่าจะเพียงพอต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการปลูกฝังและปรับเปลี่ยน พฤติกรรมด้านการบริโภคและการออกกำลังกายของเยาวชน เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายและสุขภาวะของเยาวชน ดังจะเห็นได้จากจำนวนชั่วโมงพลศึกษา ซึ่งตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นั้นโดยเฉลี่ยแล้วมีเพียง 1 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ สำหรับเด็กในระดับประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และหดสั้นลงเหลือเพียง ครึ่งชั่วโมงโดยเฉลี่ยต่อ 1 สัปดาห์ สำหรับเด็กในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งที่ ทางวิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาอเมริกัน หรือ American College of Sport Medicine (ACSM) ได้แนะนำไว้ว่า เกณฑ์ด้านความถี่ในการออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายอย่างมี ประสิทธิภาพ ที่รู้จักกันในนาม F.I.T.T Principles นั้นควรมีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอยู่ที่เฉลี่ย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่เกณฑ์ด้านเวลาในการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างต่อเนื่องต่อครั้ง นั้นควรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 15 นาที

ซ้ำร้าย ค่านิยมด้านความเป็นเลิศทางวิชาการซึ่งส่งผลให้ทั้งเด็ก ผู้ปกครองและ ครูอาจารย์ต่างรู้สึกกดดันจากการแข่งขันเพื่อช่วงชิงที่นั่งในสถาบันการ ศึกษาชั้นสูงที่มีชื่อเสียงให้ได้ ยังส่งผลให้เวลาในส่วนของ “รายวิชาหรือกิจกรรมที่สถานศึกษาจัดเพิ่มเติมตามความพร้อมและจุดเน้น” ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งน่าที่จะนำมาใช้เป็นช่องทางในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย และปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายได้บ้าง ถูกเบียดบังไปเพื่อทุ่มให้กับกิจกรรม หรือรายวิชาที่บรรจุอยู่ในการสอบ GAT/PAT และการสอบวัดผลเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาเสียเป็นส่วน ใหญ่ ส่งผลให้การให้การศึกษาด้านโภชนาการและการออกกำลังกายไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ ควร แถมยังพาลทำให้เด็กพลอยป่วยเป็นโรคเครียดอีกด้วย เพราะเด็กสมัยนี้พอเลิกเรียนในโรงเรียนตามหลักสูตรปกติต้องรีบบึ่งไปเรียน พิเศษต่ออีก เป็นผลให้ไม่มีเวลาออกกำลังกายเรียกเหงื่อ ระบายความเครียดกันเลย

กระนั้นจากแนวคิดต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาวะของ เพนเดอร์และคนอื่น ๆ (2006) ข้างต้น การ ‘ให้’ การศึกษา และปรับเปลี่ยน ‘วิธี’ การให้การศึกษาอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและสุขภาวะของ บุคคล เช่น สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ วัฒนาธรรมและสังคม ค่านิยม การเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่า และพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย ศักยภาพทั้งด้านกายภาพและเศรษฐกิจของบุคคล หรือผู้ปกครอง (ในกรณีของพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายของเด็ก) เห็นทีจะไม่เพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการบริโภคอาหารที่มีคุณค่า ในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายและการมีกิจกรรมทางกายได้อย่าง ถาวรและยั่งยืน ดังนั้น การเพิ่มหรือจัดพื้นที่ในการออกกำลังกายให้สอดคล้องกับสัดส่วนของนักเรียนใน สถานศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการออกกำลังกายที่มีอย่าง หลากหลายชนิด เพื่อรองรับรูปแบบและลักษณะการออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่เหมาะสมกับความต้อง การตลอดจนความสนใจของเด็ก รวมถึงพัฒนาและเพิ่มจำนวนครูผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษาและสุขศึกษาเพื่อให้ ความรู้ สร้างความตระหนักในคุณค่า ตลอดจนปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการควบคุมราคาและปรับปรุงคุณภาพของอาหารที่มีให้บริการอยู่ใน โรงเรียนและละแวกใกล้เคียงให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม มีความหลากหลาย และกำกับดูแลให้ราคาของอาหารคุณภาพเหล่านี้อยู่ในระดับที่ผู้ปกครองนักเรียน สามารถแบกรับได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่อาจละเลยได้ ในการส่งเสริมและปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคที่สมดุลย์ควบคู่ไปกับการมี กิจกรรมทางกายและเล่นกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน สู่ปัญหาภาวะ “โรคอ้วน” อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพจึงต้องอาศัยการบูรณาการศาสตร์ และการปฏิรูป ‘วิธี’ การให้การศึกษา ด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมอื่นอันมีส่วนกำหนดพฤติกรรมของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนักในคุณค่าของอาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม ตลอดจนการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อให้เด็กได้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายและเล่นกีฬา เพื่อที่เด็กจะ...

ได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬา หมายถึง ครูควรจะให้เด็กได้ประกอบกิจกรรมทางกายก่อน
อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการออกกำลังกาย เมื่อเด็กได้ออกกำลังกายแล้ว เด็กก็จะ...ออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้ แต่อาจจะยังไม่มีทักษะหรือความชำนาญมากนัก สามารถสร้างความสนุกสนานและเล่นกับเพื่อได้บ้าง และแล้ว... เมื่อเด็กมีความสนใจในกีฬาหรือชนิดของการออกกำลังกายที่ตนเองถนัด สนใจ สามารถเล่นได้อย่างชำนาญ หมั่นฝึกซ้อม และได้ออกไปหาประสบการณ์การแข่งขัน ก็ถือได้ว่า เด็ก...ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็น

เมื่อนั้น อนาคตของเด็กไทย...ไร้พุง...ถาวร...อย่างแน่นอน

เอกสารอ้างอิง
พรรณี อุ่นเอม. 2550. ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะอ้วนในเด็กวัยก่อนเรียนจังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชา สาธารณสุขศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
Pender, N.J., Murdaugh, C.L. and Parsons, M.A. 2006. Health Promotion in Nursing Practice. 5th ed. New Jersey: Pearson
Education.
http://www.anamai.moph.go.th/main.php?filename=Plan
http://www.who.int/dietphysicalactivity/publications/facts/obesity/en/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น