เสนอผลคาดการณ์ “โลกร้อน” ชี้ผลกระทบต่อไทย “ระบบลมเปลี่ยนแปลง” ทำมรสุมชายฝั่งสูงขึ้น เหตุลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดความชื้นเข้าฝั่ง แต่ลมตะวันออกเฉียงเหนือเบาลงเหตุแผ่นดินร้อนขึ้น ส่งผลให้ไม่หนาวอย่างเคย จำนวน “วันร้อน” เพิ่มขึ้น 30-60 วัน/ปี แต่จำนวน “วันเย็น” ลดลง และบางพื้นที่ไม่มีเลย
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวไว้ในค่ายทูตวิทยาศาสตร์ไทย ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) วันที่ 23 เม.ย.นี้ ว่าผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนก็คือการเปลี่ยนแปลงของระบบลม ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการคาดการณ์ซึ่งทำการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้ง นี้ ดร.อานนท์ได้อธิบายว่าประเทศไทยและในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นอยู่ภาย ใต้ระบบลมมรสุม ซึ่งมีฝนที่เกิดจากการยกตัวของอากาศ โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้มวลอากาศชื้นจากทะเลสูงขึ้นและถูกพัดเข้าชาย ฝั่ง ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นจะทำให้ความร้อนถูกกักเก็บไว้มากและส่งผลให้ ความชื้นจากทะเลถูกลมพัดพาเข้าบริเวณชายฝั่งมากขึ้น อีกทั้งบริเวณดังกล่าวก็เกิดฝนมากขึ้นด้วย
“ใน ฤดูร้อนลมตะวันตกเฉียงใต้จะมากขึ้นส่งผลให้ระดับน้ำชายฝั่งอันดามันสูงขึ้น ส่วนฤดูหนาวลมตะวันออกเฉียงเหนือจะอ่อนกำลังเนื่องอุณหภูมิบนแผ่นดินสูงขึ้น ทำให้ไม่หนาวอย่างที่เคย ทั้งยังทำให้น้ำจากทะเลจีนใต้เข้าอ่าวไทยน้อยลง ระดับความสูงของน้ำบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยจึงไม่มากเท่าฝั่งอันดามัน” ดร.อานนท์
ใน เรื่องความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกนั้น ดร.อานนท์กล่าวว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นน้อย แต่ประเด็นคืออุณหภูมิเฉลี่ยบนแผ่นดินกับทะเลไม่เท่ากัน โดยอุณหภูมิบนแผ่นดินจะสูงกว่าอุณหภูมิในทะเลซึ่งมีพื้นที่ถึง 70% ของพื้นที่ในโลก แสดงว่าอุณหภูมิบนแผ่นดินต้องเพิ่มสูงขึ้นมากจึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของ ทั้งโลกเพิ่มขึ้นเท่ากับอุณหภูมิเฉลี่ยดังกล่าว และอุณหภูมิในพื้นที่สูงกว่าเส้นศูนย์สูตรจะเพิ่มมากกว่าพื้นที่ในบริเวณ เส้นศูนย์สูตร เป็นผลให้น้ำแข็งละลายและก็มีนำแข็งละลายถาวรในหลายพื้นที่
ผล จากการแบบจำลองการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในประเทศไทยของ ดร.อานนท์ยังชี้ให้เห็นว่า หากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นจากในปัจจุบัน 360 ppm เป็น 720 ppm ซึ่งคาดว่าเป็นปริมาณก๊าซที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะส่งผลให้ “วันร้อน” ซึ่งเป็นวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 33 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้น 30-60 วัน/ปี โดย จ.อุทัยธานีเป็นจังหวัดที่จำนวนวันร้อนเพิ่มสูงที่สุดมากกว่า 60 วัน สาเหตุเนื่องจากเป็นพื้นที่ในหุบและอยู่ในปากกรวยของเส้นความร้อน ขณะที่ จ.ขอนแก่น จ.สกลนคร และ จ.ชัยนาถมีจำนวนวันร้อนคงที่ ขณะที่ “วันเย็น” ซึ่งเป็นวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสมีจำนวนลดลงและบางพื้นที่ไม่มีเลย
ทั้ง นี้ ดร.อานนท์กล่าวว่าเป็นเพียงคาดการณ์จากแบบจำลองเดียวซึ่งอาจมีความผิดพลาด เกือบ 50% แต่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนเพียงแต่ไม่ทราบว่าจะมีการเปลี่ยน แปลงมากน้อยแค่ไหน และตอนนี้ใช้เพียงแบบจำลองทางฟิสิกส์ทำการศึกษา ซึ่งควรจะมีแบบจำลองทางด้านอื่น อาทิ แบบจำลองทางชีววิทยา แบบจำลองประชากร เป็นต้น เพื่อใช้ทำการคาดการณ์ด้วย
“20-30 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลง หากไม่ทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาเลย โดยปัญหาจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ซึมลึก ไม่เหมือนภัยพิบัติแบบ “สึนามิ” ที่มาตูมเดียวแล้วไป ส่วนที่ตรงกับการคาดการณ์ตอนนี้คือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่เพิ่ม ขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนโรคระบาด พายุ ปริมาณน้ำฝนยังไม่สรุปได้ไม่ชัด ยังไม่กล้าฟันธง” ดร.อานนท์กล่าว
ส่วนความสนใจของคน ไทยต่อสภาวะโลกร้อนที่มากขึ้นนั้น ดร.อานนท์กล่าวว่าไม่เป็นเรื่องที่ “ตื่นตูม” เกินไป เพราะหากตื่นตูมจะทำให้เกิดความโกลาหล และถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนเริ่มตระหนักและอยากรู้ว่าความจริงคืออะไร ซึ่งการหยุดเพื่อฟังข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ดี แต่การอุดหูไม่รับฟังหรือตื่นตูมโดยไม่ฟังนั้นเป็นเรื่องไม่ดี และปัจจุบันการผลิตข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เริ่มไม่ทันกับความต้องการรับรู้ ความจริงของประชาชน
“แม้แต่หนังสือแฟชั่นยังพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ล่าสุดหนังสือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงก็เพิ่งมาสัมภาษณ์” ดร.อานนท์กล่าว โดยให้ความเห็นว่าความสนใจดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องจากระดับโลก ทั้งการทำงานของ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) รวมทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวของคนทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.อานนท์กล่าวอีกว่าในต้นเดือน พ.ค.นี้ IPCC จะมาประชุมที่กรุงเทพฯ และเผยแพร่รายงานฉบับที่ 4 อย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าข้อมูลที่ออกมานั้นจะร้อนแรงกว่ารายงานทุกฉบับ เนื่องจากจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ ซึ่งเหตุผลที่ IPCC ต้องทำรายงานเพื่อยืนยันสถานการณ์โลกร้อนเพราะข้อโต้แย้งหลักๆ ของฝ่ายที่ไม่ยอมรับต่อปัญหาดังกล่าวคือ “ข้อมูล” จึงจำเป็นต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน โดยการทำงานของนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คนจากประมาณ 130 ประเทศ
“ข้อ เสนอแนะวิชาการมีโอกาสกระทบต่อประเทศได้ โดยเมื่อก่อนมองประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นผู้สร้างปัญหา ต่อมาก็คำนวณปริมาณที่ปล่อยต่อหัว และมาแนวใหม่คำนวณการปลดปล่อยต่อ “จีดีพี” ปรากฏว่าแนวใหม่นี้เราอยู่ในอันดับที่สูงเพราะเทคโนโลยีเราต่ำ กว่าจะผลิตสินค้าส่งขายได้ก็ปลดปล่อย (ก๊าซเรือนกระจก) ออกไปเยอะ” ดร.อานนท์กล่าว
“ที่ กลัวตอนนี้คือชุมชนเพิกเฉย ไม่ใส่ใจ และคิดว่าคนไทยจำนวนมากเห็นเป็นเรื่องไกลตัว และเรายังแก้ปัญหาที่ปลายมือ ตอนนี้ยังทำได้ (แก้ปัญหาปลายมือ) แต่ต่อไปจะไม่สามารถทำได้ ตอนนี้เราใช้ทรัพยากรแบบเต็มกำลัง ถ้าใช้มากขึ้นกว่านี้จะวิกฤติ เช่นทรัพยากรน้ำหากใช้มากขึ้นกว่านี้และน้ำน้อยลง จะทำให้เกิดวิกฤตได้” ดร.อานนท์ให้ความเห็น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น