การให้เพราะต้องการบุญ… เป็นบุญหรือไม่
ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการวัตถุเครื่องตอบแทนเลย เพียงต้องการบุญเท่านั้น.. การกระทำ (เกี่ยวกับการให้) จะนับว่าเป็นบุญหรือไม่ เช่น ได้ยินได้ฟังพระท่านเทศน์สอนว่าบุญเป็นของที่ควรจะได้ เป็นของที่ควรปรารถนา เป็นของดี อย่างนี้แล้วก็สละบริจาค เพราะต้องการบุญที่ท่านสรรเสริญนั้น
... การสละบริจาคแม้อย่างนี้ก็ไม่นับว่าเป็นบุญ ...
เหตุใดจึงไม่นับว่าเป็นบุญทั้งๆที่มีการให้จริงๆ.. สมมุติว่าเป็นวัตถุสิ่งของ เช่น เหรียญรุ่นใดรุ่นหนึ่ง เป็นต้น ผู้บริจาคอยากได้ก็บริจาคเงิน ก็เห็นชัดว่าต้องการตอบแทนผลอันนั้น ก็พอจะมองเห็นได้ว่าไม่หมดจด มีมลทินคือความอยากได้นั้น ถึงกระนั้นก็พึงทราบว่า แม้ทำเพราะต้องการบุญเท่านั้น การกระทำนั้นก็ไม่ชื่อว่าบุญนั่นแหละ เพราะเกิดความอยากได้บุญนั่นเอง
คนส่วนมากเข้าใจผิดว่า “บุญ” เป็นของดีของวิเศษที่ควรได้อีกอย่างหนึ่ง การกระทำ (มีการให้เป็นต้น) นั้นยังไม่ใช่ตัวบุญ เพียงแต่เป็นเหตุที่จะได้มาซึ่งของวิเศษที่เรียกว่า “บุญ” อีกทีหนึ่ง...ความจริงการให้นั้นนั่นแหละเป็นบุญอยู่แล้ว…
การให้เพื่อกำจัดความตระหนี่
บุคคลที่เห็นโทษของความตระหนี่ แล้วคิดจะให้ทานเพื่อกำจัดความตระหนี่ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญเป็นพิเศษทีเดียว สมมุติว่าพระเที่ยวบิณฑบาตมีของเต็มบาตรยังจะถวายของแก่ท่านอีก อย่างนี้ชื่อว่าอยากได้บุญ ไม่ใช่จะกำจัดความตระหนี่ ถ้าต้องการจะกำจัดความตระหนี่จริงๆ ก็ต้องไปบริจาคแก่คนที่ยังขาดแคลน เพราะความรู้สึก เสียสละ มีจริงๆ เห็นอยู่ว่าถ้าไม่มีใครให้ เขาผู้นั้นก็จะเดือดร้อน บางครั้งการให้แก่คนที่มีกินมีใช้ จะเกิดความลังเลว่าควรจะให้หรือไม่ให้ แต่เวลาให้แก่คนที่ขาดแคลนจะไม่เกิดความลังเลเลย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุญนั้นมีกำลัง ข่มความตระหนี่ได้ดี
ให้เพื่อบูชาประณีตกว่าให้ด้วยกรุณา
ระหว่างคนที่มีศีลกับคนที่ไม่มีศีล ให้แก่คนที่มีศีล บุญนั้นมีกำลังกว่า เพราะปรารภถึงคุณธรรมของบุคคลผู้รับเป็นการให้อย่างบูชา การให้ด้วยจิตคิดบูชาคุณประณีตกว่าการให้ด้วยกรุณาด้วยสงสาร
ตัวอย่างการใส่บาตรด้วยโลภะ.....
ที่ตลาดตอนเช้าๆในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แม่ค้าจะจัดข้าวพร้อมทั้งกับข้าวใส่ถุงพลาสติกเตรียมไว้ให้คนซื้อ ใส่บาตรพระ พอถึงเวลาพระออกบิณฑบาต พระก็จะมาที่ตลาด มีคนมาซื้อของจากแม่ค้าหย่อนใส่บาตร พอพระรับเสร็จก็ไปที่หลังร้านไปถ่ายของออก คือพอเต็มบาตรแล้วก็ไปถ่ายออกเสียทีหนึ่ง แล้วลูกมือแม่ค้าก็จะนับว่ามีกี่ถุง และจ่ายเงินให้พระไปเป็นชุด แม่ค้าขายกันชุดละสิบบาท แต่แม่ค้าซื้อคืนพระชุดละ ๓ บาทเท่านั้น ซึ่งท่านก็รับ เรื่องนี้เขาก็ทำกันอย่างเปิดเผยหาได้ปิดบังไม่ เห็นเป็นเรื่องธรรมดา คนที่ใส่บาตรก็เห็นตำตา แต่เขาไม่ถือสา วันรุ่งขึ้นเขายังมาใส่บาตรอีก ทำกันเป็นปกติ ทำไมจึงยังคิดใส่บาตรพระอีก ทั้ง ๆ ที่ท่านประพฤติอย่างนั้น ในขณะที่คนยากจนขัดสนยังมีอยู่มาก
ถ้าจะว่าบูชาคุณของท่านเป็นสำคัญ ว่าท่านเป็นเพศอุดมสูงกว่าเพศฆราวาส มีศีลมีกัลยาณธรรมทำนองนี้ ก็น่าจะเกี่ยวกับว่าท่านไม่มีพฤติกรรมที่น่าติเตียนอย่างนี้ปรากฏให้เห็น แต่ทว่าเห็นอยู่ตำตา คนที่ใส่บาตรพระในเวลาเช้าที่ตลาด เขาบูชาท่านในเรื่องอะไร พฤติกรรมอย่างนั้นของท่านนั่นแหละ แสดงถึงความเป็นผู้ที่ไม่ควรบูชา เพราะฉะนั้น เรื่องถวายของแก่พระก็เป็นเรื่องที่ขาดความรู้ เพราะคิดว่าถวายแก่พระแล้วได้บุญมากนั่นเอง จึงตั้งหน้าตั้งตาถวายแก่พระ สรุปว่าเขาสักแต่ว่าปรารถนาในบุญ เป็นเรื่องของความโลภพาไป คนใส่บาตรพระก็โลภอยากได้บุญ พระก็โลภอยากได้เงิน โดยการขายกลับคืนแก่แม่ค้า
การวางใจในเรื่องทาน
พระพุทธเจ้าตรัสอานิสงส์ของทานไว้เป็นอเนกประการ ตรัสถึงโทษของการไม่ยอมสละบริจาคไว้เป็นอเนกประการ เช่น คนไม่รู้จักสละบริจาค ตระหนี่ เกิดมาจะเป็นคนยากคน เป็นต้น ส่วนทานตรัสไว้เกี่ยวกับสุคติโลกสวรรค์มากมายหลายสูตร ตรัสอย่างนี้มิได้มีพระประสงค์ชักชวนให้คนเกิดอยากได้ในอานิสงส์ของทาน เพียงแต่ทรงชี้ให้เห็นว่า การกระทำนี้มีผล..ไม่ใช่ไม่มีผล
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรทราบคือ อย่าได้เข้าใจว่าให้อะไรๆ แก่ใคร ก็จัดว่าเป็นบุญข้อทานนี้ไปเสียทั้งนั้น สิ่งของบางอย่างแม้ให้คนอื่นไป คนผู้ให้ก็ไม่ชื่อว่าบำเพ็ญทาน ในตำราท่านกล่าวว่า การให้ 5 อย่างต่อไปนี้ไม่ชื่อว่าทาน ได้แก่...
การให้สิ่งสร้างความมึนเมา เช่น สุราเมรัยและสิ่งเสพติดทั้งหลาย
การให้มหรสพ ฟ้อนรำ ขับร้อง หรือการละเล่นต่าง ๆ
การให้หญิงแก่ชายเพื่อบำเรอความสุขในเมถุน
การให้โคตัวผู้แก่โคตัวเมีย ใจความก็คือจัดให้สัตว์ได้ผสมพันธุ์กัน
การให้ภาพลามก
บทความโดย อาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์
ขอขอบพระคุณ ...
ที่มา http://weblog.manager.co.th/publichome/forgiven
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น