++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2550

ความนอบน้อม และ กิจที่ไม่ควรละเลย

อปจายนะ – ความนอบน้อม
อปจายนะ ความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม... ข้อนี้ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม เช่น มาในที่ประชุม ก็ต้องนอบน้อมประธานในที่ประชุม แต่ถ้าการประชุมดำเนินไปแล้ว แม้ดั้นด้นฝ่าฝูงชนเข้ามาแสดงความนอบน้อม มาไหว้ทักทาย “อาจารย์สบายดีหรือ ยาที่ให้ไปเมื่อวันก่อนเป็นอย่างไร ได้ผลดีไหม” อะไรทำนองนี้ เป็นเหตุให้การประชุมหยุดชะงักไป อาจเป็นการทำประโยชน์ทั้งของตนและคนอื่นให้เสียไป อย่างน้อยก็สร้างความรำคาญ จึงเป็นอปจายนะที่ไม่น่าปรารถนา

ตัวอย่างอปจายนะที่เหมาะสม
พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระราชา วันหนึ่งเสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปช้าไปถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าประทับแสดงธรรมอยู่ พระองค์เสด็จไปถึงแล้วก็ทรงยืนบังเสาก่อนไม่ให้ใครเห็น เพราะถ้าหากว่าเข้าไปถวายบังคมพระพุทธเจ้าตอนนี้ คนก็จะแตกตื่นว่าพระราชาเสด็จมา ก็จะไม่เป็นอันฟังธรรม หันมาถวายบังคมพระราชา ก็ย่อมเกิดความวุ่นวายขึ้น กำลังฟังธรรมเข้าใจเหตุและผลติดต่อกันดีๆอยู่ บางทีอาจจะเกิดญาณปัญญาไปตามลำดับจนกระทั่งถึงมรรคถึงผลได้ดีทีเดียว ไปหยุดชะงักเพราะการรับเสด็จอย่างนั้นเสีย ก็อาจจะเสียประโยชน์เหล่านั้นไป หรือว่าควรจะได้ความเข้าใจเพิ่มเติมก็ชะงักไป ความคิดไม่ปะติดปะต่อ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นอย่างนี้แล้วก็ทรงยืนแอบบังเสาไว้ก่อน รอพระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้จบก่อนจึงเสด็จเข้าไป เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของบุคคลผู้มีอปจายนะ...

ตัวอย่างการนอบน้อมที่ไม่ถูกกาลเทศะ
มีอยู่คนหนึ่งต้องการจะนอบน้อมพระรัตนตรัย โดยไม่พิจารณาให้เหมาะแก่กาลเทศะ ได้รับเชิญเป็นประธานเปิดสถานที่แห่งหนึ่ง ในที่ประชุมกรรมการสมาคมแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของนานาชาติ พอถึงเวลาผู้เป็นประธานก็บอกให้ทุกคนยืนขึ้นพนมมือ กล่าวคำนอบน้อมพระรัตนตรัย “อรหังสัมมา สัมพุทโธ ภควาฯ” ทำให้ชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาอื่นในที่ประชุมนั้นงงงวย ทำเช่นนี้ไม่เหมาะกาลเทศะ เพราะการแสดงความนอบน้อมเช่นนี้ ทำได้เฉพาะสังคมชาวพุทธเท่านั้น เป็นเหตุให้ลูกหลานของท่านผู้นั้นเกิดความอับอาย ทำให้ไม่ยินดีในการเข้าวัดฟังธรรม เพราะเห็นพ่อหรือลุงทำอย่างนี้ เกรงว่าจะเป็นเหมือนลุงเหมือนพ่อ... การทำไม่ถูกกาลเทศะอย่างนี้ย่อมเป็นเหตุให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าคนเข้าวัดฟังธรรมจะต้องเป็นคนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องใช้วิจารญาณ ใช้ปัญญาพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย

เวยยาวัจจะ – ความขวนขวายในกิจที่ควรทำ
เวยยาวัจจะ ความขวนขวายในกิจที่ควรทำ หมายความว่าเป็นคนไม่ละเลยในกิจที่ควรทำทั้งหลาย ไม่มีการผัดวันประกันพรุ่ง ว่าจะทำพรุ่งนี้ มะรืนนี้ นี้คือเวยยาวัจจะ เช่น ท่านกำลังนั่งอยู่ มีคนเข้ามามองหาที่นั่ง แต่ไม่มีที่นั่ง... ท่านเห็นว่ามีเก้าอี้พิงอยู่ข้างฝาใกล้ๆท่าน ท่านก็ลากมากางให้เขานั่ง อย่างนี้เรียกว่า บำเพ็ญบุญข้อเวยยาวัจจะ... แต่ต้องกำหนดขอบเขตด้วย ว่าควรทำสักแค่ไหนเพียงใด บางคนก็ทำจนเกินเลยขอบเขตไป เช่น ตนเองกำลังนั่งเรียน นั่งศึกษาธรรม มีคนเข้ามาก็รีบกุลีกุจอไปหา ถามว่ามีที่นั่งหรือยัง เป็นต้น ให้วุ่นวายไปหมด เสียประโยชน์ในการเรียนของตัวเองด้วย ทำให้คนอื่นพลอยเสียด้วย

ถ้าย่อบุญ 10 อย่างให้เหลือ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา ขอให้ทราบว่า อปจายนะ และเวยยาวัจจะ สงเคราะห์เข้าในศีล เพราะมีลักษณะเป็นจาริตศีล

บทความโดย อาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

ขอขอบพระคุณ ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น