กรรมคือเจตนา กรรมเป็นคำกลางแปลว่าการกระทำ เป็นกรรมดีก็ได้ เป็นกรรมชั่วก็ได้ การกระทำกรรมเกิดขึ้นได้ทางกาย วาจา และแม้กระทั่งเกิดทางใจ คือ มีความคิดดี หรือไม่ดีก็เป็นกรรมแล้ว แต่แน่นอนว่าการกระทำกรรมที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งกาย วาจาและใจ ย่อมมีผลรุนแรงกว่าการคิดเพียงอย่างเดียว...
กรรมต้องมีเจตนา ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาคือกรรม" ทุกครั้งที่กรรมเกิดขึ้นย่อมเก็บสะสมไว้ในจิต พร้อมมีการปรุงแต่งให้เมื่อมีโอกาส.. ถ้าเป็นกรรมชั่ว ความฟุ้งซ่านของจิตอาจนำมาซึ่งวิบากกรรมที่เร็วกว่าเวลาอันควร จึงเป็นเรื่องน่ากลัวมาก กรรมทำแล้วต้องมีผลแก่ผู้กระทำเสมอ เหมือนเราตบมือเป็นกรรม เสียงที่มาจากการตบมือคือวิบากกรรมนั่นเอง.. จะทำกรรมโดยไม่ให้มีวิบากกรรมไม่ได้เด็ดขาด เพราะเป็นสภาวธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผู้ฆ่าสัตว์ย่อมต้องการให้สัตว์นั้นมีอายุสั้น มีความเจ็บปวด ผลจากเจตนานั้นย่อมเข้าหาตัวผู้กระทำโดยอัตโนมัติ คือมีอายุสั้น ตายไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรตหรืออสูรกายแล้วแต่กรณี..
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "เรามีกรรมเป็นของเรา เราเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมอันใดไว้ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"
ประเภทของกรรมพอจะแยกโดยสังเขปได้ดังนี้
กรรมนำเกิด (ชนกกรรม) คือ จิตที่ถือปฏิสนธิใหม่อาศัยกรรมเป็นผู้นำเกิดในทุคติหรือสุคติแล้วแต่อำนาจกรรม ไม่สามารถเลือกเองได้ตามใจชอบ ส่วนรูปที่เกิดใหม่เรียก "กรรมชรูป" ต้องอาศัยกรรมเป็นผู้สร้างเช่นกัน เช่น หน้าตาสวยงามมาจากการทำสมาธิ หรือ ริษยาอาฆาตทำให้หน้าตาไม่งาม เป็นต้น ไม่สามารถเลือกได้เช่นกัน
กรรมพี่เลี้ยง (อุปัตถัมภกกรรม) มีหน้าที่คอยอุปถัมภ์ค้ำจุน เป็นกรรมที่ช่วยอุดหนุนชนกกรรมให้มีโอกาสส่งผลได้ตลอดรอดฝั่ง ทารกบางคนแม้ได้อารมณ์ดีมาเกิดในครรภ์มารดา แต่เกิดมาต้องลำบากเพราะอดีตทำทานมาน้อย เป็นต้น
กรรมเบียดเบียน (อุปปีฬิกกรรม) มีหน้าที่คอยเบียดเบียนแทรกแซงผลจากกรรมดีหรือกรรมชั่ว มิให้เจริญงอกงาม เช่น กำลังมีความสุขกับลาภยศสรรเสริญสุข มีกรรมตัดรอนให้กลายเป็นคนเจ็บป่วย หรือพิการ เป็นต้น
กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม) เป็นกรรมที่ทำหน้าที่ตัดรอนกรรมที่ให้ผลอื่นๆ หยุดการสืบต่อแห่งขันธ์ 5 ที่เกิดจากกรรมอื่นๆ เช่น ตัดชนกกรรมไม่ให้มีโอกาสส่งผลต่อไป เช่น ทารกที่คลอดใหม่ต้องตายลง โดยไม่มีโอกาสเสวยผลบุญจากกรรมพี่เลี้ยง หรืออาจไม่ตายแต่พอโตขึ้นมาอยู่ดีๆ เกิดตาบอด เป็นต้น
การให้ผลของกรรม จะให้ผลเรียงตามลำดับดังนี้
ครุกรรม เป็นกรรมหนักมีกำลังมากจึงให้ผลก่อน กรรมอื่นไม่สามารถตัดรอนได้ จะให้ผลทันทีในชาติหน้าถัดจากชาติปัจจุบัน ครุกรรมฝ่ายอกุศลได้แก่ อนันตริยกรรม 5 คือ ทำสงฆ์ให้แตกร้าว ทำร้ายพระพุทธองค์จนถึงห้อพระโลหิต ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา และยังรวมความเห็นผิดที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ เช่น เห็นว่าไม่มีกรรมไม่มีผลของกรรม สัตว์บุคคลตายแล้วสูญ เป็นต้น ส่วนครุกรรมฝ่ายกุศลเช่น การทำสมถภาวนาจนได้รูปฌานหรืออรูปฌาน เป็นต้น
อาสันนกรรม ได้แก่ กรรมที่กระทำหรือระลึกถึงเมื่อใกล้จะตาย ให้ผลรองจากครุกรรม อารมณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตาย ย่อมทำให้ระลึกถึงวิถีจิตได้ง่าย จึงให้ผลก่อนกรรมอื่น
อาจิณกรรม ได้แก่ กรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ ให้ผลรองจากอาสันนกรรม ดังนั้นแม้ท่านทั้งหลายจะหมั่นกระทำดีอย่างไรก็ตาม ถ้าแม้นก่อนตายมีอารมณ์อกุศลเข้าแทรก ย่อมจะทำให้ไปเกิดในทุคติภูมิได้ (แต่อำนาจของกรรมดี มีอำนาจเป็นกรรมตัดรอนทำให้พ้นจากทุคติภูมิได้ในเวลาอันสั้น)
กตัตตากรรม (กรรมเล็กน้อย) เป็นกรรมที่ไม่ครบองค์เจตนา เช่นไม่มีบุพพเจตนา หรือมุญจเจตนา เป็นต้น
บทความโดย อาจารย์ ประพันธ์
“หลวงพ่อว่าเราไม่ตายวันนี้ ก็ตายพรุ่งนี้ มีอะไรไว้ก็เอามาเผยแพร่ให้หมด นี่ก็เป็นเรื่องกรรม คนไม่รู้จะได้เอาไปใช้ประโยชน์ คนรู้แล้วก็เอาไว้ทบทวน” อาจารย์ท่านว่าไว้...
ขอขอบพระคุณ ...
ที่มา http://weblog.manager.co.th/publichome/forgiven/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น