++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2550

ศีลต่างๆ...

ศีล – ความสำรวมทางกายทางวาจา
คำว่า “ศีล” มาจาก “ศีร” หรือ “เศียร” แปลว่า “หัว” ธรรมชาตินี้เป็นเหมือนหัว คือเป็นประธานแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า “ศีล” ถ้าหากผู้ใดมีหัว คือศีลแตกทำลายแล้ว กุศลธรรมทั้งหลายจะตั้งอยู่ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ปัญญา คุณวิเศษทั้งหลายที่ยิ่งๆขึ้นไป ไม่อาจจะเกิดมีได้แก่คน“ทุศีล” ผู้มีศีลทำลาย เพราะคุณธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ได้ด้วยศีล...

อุปมาเรื่องงู
ข้อนี้ก็มีอุปมาเหมือนบุคคลถูกงูใหญ่รัดตัวจนแน่น ต้องการเป็นอิสระจากงู ก็พยายามดึงส่วนต่างๆ ของลำตัวงูออก วิธีการอย่างนั้นย่อมเป็นภาระหนักทำให้สำเร็จได้ยาก วิธีปฏิบัติที่ง่าย คือทำลายหัวงูโดยใช้วัตถุของแข็งทุบที่ศีรษะงู พอศีรษะงูถูกทำลายแล้ว ขนาดลำตัวงูก็จะคลายออกไปเอง ข้อนี้ฉันใดบุคคลรักษาคุณธรรมทั้งหลายเอาไว้ได้โดยมีศีลเป็นหัวเป็นประธานแล้ว วันใดวันหนึ่งหากศีลถูกทำลายไปแล้ว คุณธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ย่อมคลาย กล่าวคือ ทำลายไปหมดฉันนั้นเหมือนกัน

ศีล 2 พวก
ศีลเป็นบุญอย่างหนึ่งในบรรดาบุญหลายอย่าง ศีลแบ่งเป็น 2 พวก คือ...
"วาริตศีล" คือศีลส่วนที่เป็นข้อห้ามให้งดเว้นไม่ประพฤติชั่ว
"จาริตศีล" คือ ศีลเป็นส่วนข้อควรประพฤติสนับสนุนให้ปฏิบัติ ให้ขวนขวายลงไม้ลงมือทำกิจที่สมควรทำ

อุโบสถศีล
ในตำราว่า ศีลทั้ง 8 เรียกว่า “อุโบสถศีล” เป็นศีลของฆราวาส สมาทานวันเดียว คือ วันอุโบสถเท่านั้น 8 ค่ำ 15 ค่ำ หรือถ้าเดือนขาดก็ 14 ค่ำ ไม่ได้เป็นศีลที่รักษาประจำ (นิจศีล) เพราะว่าชีวิตฆราวาสคลุกคลีกับกามคุณ กิจน้อยใหญ่ ท่านจึงให้โอกาสไว้วันเดียว

อุโบสถศีล ขาดไม่ได้เลยแม้แต่ข้อเดียว ถ้าขาดก็เป็นอันว่าอุโบสถศีลนั้นหมดไป เวลาสมาทานต้องให้เต็มวัน ปกติแล้วพออาทิตย์อุทัยก็เริ่มสมาทานศีล ว่าต่อไปนี้ทั้งวันจะรักษาอุโบสถศีล ถ้าไม่อาจเริ่มรักษาในเวลานั้น สายกว่านั้นก็ได้ แต่ต้องมาทดให้ครบวันในวันรุ่งขึ้น สมาทานตั้งแต่เช้าตรู่อาทิตย์อุทัยจะมาสิ้นสุดอีกที พอฟ้าสางอาทิตย์อุทัยของอีกวันหนึ่ง... ถ้าพูดเป็นชั่วโมงก็ครบ 24 ชั่วโมง จึงจะถูกต้อง บางคนรับประทานอาหารเลยเพลแล้ว พอทราบว่าเป็นวันอุโบสถ ปรารถนาจะรักษาอุโบสถศีล ย่อมรักษาได้ แต่ต้องมาชดเชยในวันรุ่งขึ้น

ตัวอย่างการรักษาอุโบสถศีลตอนสาย
คนงานใหม่ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปทำงาน กลับจากนาไร่มาสถานที่อยู่ วันนั้น เพื่อนคนงานไม่มีใครแตะต้องอาหารเหมือนวันก่อนก็แปลกใจ พอเขาบอกให้ทราบว่าวันนี้เป็นวันอุโบสถ ก็ปรารถนาจะรักษาอุโบสถศีลบ้าง เขาจึงไม่รับประทานอาหารมื้อนั้น ท้องเขาไม่เคยขาดอาหารอย่างนั้นมาก่อน เกิดความหิวจัด เป็นเหตุให้เขาเป็นลมตาย ตายแล้วก็ไปสวรรค์ด้วยอานุภาพของอุโบสถศีลนั้น แสดงให้เห็นว่าอุโบสถศีลจะสมาทานเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเวลาเช้าตรู่เสมอไป แต่ต้องให้ครบถ้วนและสมาทานในวันอุโบสถ
พุทธบริษัทมี 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สำหรับภิกษุณีไม่มีแล้ว เพราะขาดการสืบต่อ นักบวชที่เรียกว่าชีก็ไม่ใช่ เป็นบริษัทหนึ่งต่างหากในพระพุทธศาสนา ถ้าจะจัดก็จัดเป็นอุบาสิกานับเนื่องในพวกฆราวาสนั่นแหละ

สรุปได้ว่า วาริตศีลที่เป็นข้อห้ามสำหรับฆราวาสปกติก็เป็นศีล 5 เพิ่มขึ้นมาอีกเป็นศีล 8 ในวันอุโบสถ และข้อที่ 3 ในศีลอุโบสถนั้นก็เคร่งครัดกว่าข้อที่ 3 ในศีล 5 คือ ข้อที่ 3 ในศีล 5 เป็นความงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือความประพฤติผิดในกาม อันได้แก่ในเมถุนธรรมทั้งหลาย พูดง่ายๆ ว่าไม่ประพฤติล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี ในหญิง 20 จำพวก ซึ่งมิใช่ภรรยาตน หรือเป็นผู้ที่มีเจ้าของหวงแหน ส่วนข้อที่ 3 ในศีล 8 หรือศีลอุโบสถ เป็นความงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ใช่พรหมจรรย์ คือการเสพเมถุนทั้งหมด แม้กับภรรยาตน

ข้อที่ 6, 7 และ 8 ที่เพิ่มเข้ามาเป็นศีลอุโบสถ คือ ความงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเลยเที่ยงไปจนอรุณขึ้นใหม่.. ความงดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การบรรเลง และการดูมหรสพ และการประดับประดาตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ของหอมเครื่องย้อมทา.. จากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่..

ในส่วนของ จาริตศีล สำหรับฆราวาสนั้น ถ้าจะถามว่าจะมีสักกี่ข้อ ก็ไม่อาจจะกำหนดจำนวนได้ เพราะเป็นข้อควรประพฤติแล้วแต่เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ไปประสบเข้า เช่น เห็นเด็กเล็กๆจะข้ามถนนก็ช่วยพาเขาข้ามถนน เป็นต้น เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร มีอยู่คนหนึ่ง เป็นคนใจดี เห็นเด็กคนหนึ่งกระเย่อกระแหย่งพยายามกดออดประตูหน้าบ้านหลังหนึ่ง ก็กุลีกุจอช่วยกด พอออดดังเด็กคนนั้นก็มาบอกว่า “คราวนี้ตัวใครตัวมันแล้วกันนะคุณลุง” แล้วก็วิ่งหนีไป เพราะฉะนั้น ก็ต้องระวังเหมือนกัน!!!

ส่วนที่ทำอยู่เป็นประจำก็มี เช่น การอุปถัมภ์บำรุงบิดามารดานี้ก็เป็นจาริตศีลด้วย บุคคลอื่นที่เป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นพี่น้องอยู่บ้านเดียวกัน ก็สงเคราะห์ตามสมควรแก่บุคคล ล้วนแต่เป็นจาริตศีลทั้งนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญจาริตศีล ว่าเป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษผู้เป็นบัณฑิต เพราะทำให้เต็ม ให้ดี ให้ถี่ถ้วน ได้ยาก ต้องข่มใจ ต้องฝืนกิเลส บางทีไม่อยากทำ หรือมีบุคคลมาพูดให้เสียใจ ก็หมดกำลังใจที่จะทำ ถ้าเอาชนะกิเลสไม่ได้ ข่มใจไม่ได้ก็จะเลิกทำ จาริตศีลในคราวนั้นก็บกพร่องไป ขาดการข่มใจอันเป็นคุณธรรมของบัณฑิต

ตัวอย่างจาริตศีลที่ต้องใช้ความอดทน...
คนแก่นั้นมักน้อยใจ คิดมาก คิดไปสารพัดให้ตัวเองเดือดร้อนใจ พอลูกหลานคนใดคนหนึ่งมาดีด้วยเป็นพิเศษ แทนที่จะชื่นชม กลับเกิดระแวงว่าลูกหลานอยากได้มรดก จึงได้มาทำดีเป็นพิเศษ บางครั้งทำเอาลูกหลานผู้มีจิตบริสุทธิ์ มีจิตกตัญญู เสียใจจนอาจจะละทิ้งความตั้งใจดี ทิ้งข้าวของที่เตรียมมาเพื่อจะปรนนิบัติบำรุงนั้นเสียก็ได้ หรือรีบจากไปเสียก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น ผู้ต้องการทำจาริตศีลให้เต็มให้บริบูรณ์ ก็จำต้องอดทนอดกลั้น ต้องข่มใจตนใช้ความอุตสาหะยิ่งกว่าวาริตศีล ไม่เช่นนั้นจาริตศีลก็จะเต็มบริบูรณ์ไม่ได้ คนที่รักษาศีล 5 ได้ด้วยดี ไม่บกพร่องเลยตลอดกาลนาน ก็เนื่องจากว่าเขามีจาริตศีลสมบูรณ์อยู่เสมอนั่นเอง เพราะจาริตศีลเกื้อกูลแก่ วาริตศีล

ศีลของพระภิกษุ
สำหรับพระภิกษุสงฆ์ วาริตศีลและจาริตศีลมีมากกว่าฆราวาส... วาริตศีลส่วนที่เป็นข้อห้าม ไปประพฤติละเมิดเข้าก็ต้องอาบัติ ต้องปลงอาบัติ จาริตศีลที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ทำก็เหมือนกัน ถ้าไม่ทำก็ต้องอาบัติ ต้องปลงอาบัติ มีมากมาย เช่นอุปัชฌาย์เป็นไข้ไม่อุปัฏฐากบำรุงท่าน ไม่ปรนนิบัติตามกาลอันควร ก็อาบัติ เป็นต้น

บทความโดย อาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

ขอขอบพระคุณ ...

ที่มา http://weblog.manager.co.th/publichome/forgiven

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น