



เป็นธรรมดาของสัตว์โลก ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้วตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีก 3 เดือนแต่นี้ ตถาคตจักปรินิพพาน” แล้วตรัสว่า “คนเหล่าใดทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมีทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำแล้ว ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น”
ถ้าจะเปรียบเทียบการตายของสัตว์ทั้งหลายกับเหตุให้ความตายปรากฏขึ้น 4 อย่างแล้ว สามารถอธิบายได้ดังนี้





คำว่า 'อายุ' หมายถึง อายุขัย ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งการตั้งอยู่แห่งชีวิตรูป เป็นกัมมชรูปผู้รักษาชีวิตของสัตว์ให้เป็นอยู่ได้ในชาติหนึ่งๆ... เมื่อว่าโดยบุคคล คือ การตายเพราะ 'สิ้นอายุ' หมายถึง ตายเมื่อแก่ คือ ถึงความชราแล้วจึงตาย
ในสมัยพุทธกาล มนุษย์มีอายุขัย 100 ปี โดยประมาณ นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว อายุขัยก็ลดลงในอัตราส่วน 100 ปีลดลง 1 ปี ขณะนี้ล่วงเลยไป 2500 ปี มนุษย์ปัจจุบันจึงมีอายุขัยประมาณ 75 ปี… เพราะอายุขัยของมนุษย์ไม่แน่นอน มีขัยขึ้นและขัยลง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงขัยลง ส่วนอายุของเหล่าเทวดาหรือพรหม ต่างก็มีขอบเขตอายุตามภูมิของตนที่เกิดอยู่ปัจจุบันกำหนด 75 ปี เป็นอายุขัย
ดังนั้นมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้แม้ว่าอำนาจกรรมยังมีอยู่ แต่เมื่อครบอายุขัยก็ตายไปเป็นส่วนมาก ผู้ที่มีอายุยืนเกินกว่าอายุขัยที่กำหนดไว้นั้น ก็มีบ้าง แต่หาได้ยาก ท่านเหล่านั้นต้องมีอดีตกรรมที่เกี่ยวกับการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์จะช่วยอุปถัมภ์ชีวิตและร่างกายให้อยู่ได้นานเป็นพิเศษ หรือมิฉะนั้นด้วยอำนาจชนกกรรมยังมีกำลัง และปัจจุบันมีกรรมฝ่ายดี คือการรักษาศีล 5 ไว้ได้บริสุทธิ์ หรือมีการรักษาสุขภาพอนามัยไว้อย่างดีต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้นั้นมีอายุเกินขัยได้ มีผู้อายุยืนถึง 90 กว่าปีก็ยังมี ปรากฏอยู่ ในสมัยพุทธกาลนั้น กำหนดอายุขัยไว้ 100 ปี แต่ผู้อายุยืนกว่า 100 ปี ก็มีหลายท่าน เช่น พระอานนท์ พระมหากัสสป นางวิสาขา มีอายุ 120 ปี พระพากุลเถระ มีอายุ 160 ปี เป็นต้น

คำว่า 'กรรม' ในที่นี้ หมายถึง ชนกกรรมที่ส่งผลให้เกิดในภพนั้นๆ และอุปถัมภกกรรม มีหน้าที่อุดหนุนให้รูปนามที่เกิดจากชนกกรรมตั้งอยู่ได้นานๆในภพนั้น การสิ้นสุดแห่งกรรมทั้งสองที่ชื่อว่า ตายเพราะสิ้นกรรม ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาและอยู่ด้วยกรรมทั้งสองนี้ บางคนตั้งเพียง 1 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง หรือ 5 ปี 10 ปี เหล่านี้ย่อมกล่าวได้ว่า เป็นการตายเพราะกรรมสิ้นสุดลง

ความตายชนิดนี้ก็หมายถึง ผู้ตายนั้นมีอายุยืนอยู่ได้จนครบอายุขัย และอำนาจของชนกกรรมก็พอดีหมดลงพร้อมกับความสิ้นสุดแห่งอายุ เช่นผู้ที่เกิดมาในสมัยกำหนดอายุ 75 ปี เป็นอายุขัยและอำนาจของกุศลชนกกรรมของผู้นั้นก็มีอำนาจอยู่ได้ 75 ปีเช่นเดียวกัน เมื่อผู้นั้นมีอายุ 75 ปีแล้วตายลงก็กล่าวได้ว่า ความตายของผู้นั้นเป็นการตายแบบสิ้นทั้งอายุและกรรมทั้งสองได้.. แม้อบายสัตว์ก็เช่นเดียวกัน เช่นสุนัข มีอายุขัยกำหนด 10-12 ปี และสุนัขนั้นเกิดด้วยอำนาจอกุศลชนกกรรมก็อยู่ได้ครบ 10-12 ปี แล้วตายลง ก็กล่าวได้ว่า สุนัขนั้นตายแบบสิ้นทั้งอายุและกรรมทั้งสองได้

เป็นการตายเพราะมีกรรมอื่นเข้าไปตัดวิบากและกัมมชรูป ที่เกิดจากชนกกรรมให้สิ้นสุดลง กรรมนั้นได้แก่ อกุศลกรรม, มหากุศลกรรม, อรหัตตมัคกรรม ผู้ที่มีอายุยังไม่เข้าถึงขีดอายุขัย และอำนาจของชนกกรรมก็ยังไม่หมด แต่ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้วในภพก่อนหรือภพนี้ เข้ามาตัดรอนให้ผู้นั้นตายลงเสียก่อน ซึ่งเปรียบได้กับดวงไฟที่ไส้ยังอยู่ น้ำมันก็ยังอยู่แต่ไฟต้องดับลงด้วยเหตุอื่น เช่นถูกลมพัด ถูกน้ำ เป็นต้น...
ตัวอย่าง อกุศลกรรมตัดรูปนามที่เกิดจากกุศล เช่นถูกศัตรูฆ่าตาย ถูกสัตว์ทำร้ายถึงแก่ความตาย แม้ด้วยความพยายามของตนเอง เช่น ฆ่าตัวตาย กระโดดน้ำตาย เป็นต้น.. หรือสัตว์เดรัจฉาน เช่น สุนัข รูปนามเกิดจากอกุศลชนกกรรม มีอายุเพียง 1 ปี หรือ 2 ปี ถูกรถทับตาย เป็นต้น.. ตัวอย่าง กุศลกรรมตัดอกุศลชนกกรรม เช่นสัตว์นรก เมื่อพญายมราชเตือนสติให้ระลึกถึงกุศลที่ทำไว้ ได้กุศลนั้นก็ตัดรูปนามสัตว์นรกนั้นถึงแก่ความตาย ไปเกิดใหม่ในมนุษย์ หรือเทวดาทันที เป็นต้น.. หรืออรหัตมัคกรรมตัดรูปนามของฆราวาสผู้เป็นพระอรหันต์ ถ้ามิได้อุปสมบทภายใน 7 วัน จะต้องสิ้นชีวิต หรือปรินิพพานใน 7 วันนั้นเอง
ความตายทั้ง 4 อย่างนี้ ตายโดยสิ้นกรรม ตายโดยสิ้นอายุ ตายโดยสิ้นทั้งกรรมและอายุ ทั้ง 3 นี้ เป็นการตายที่ถึงเวลา เรียกว่า “กาลมรณะ” ส่วนการตายแบบอุปัทวเหตุอย่างใด อย่างหนึ่งก็ตามเป็นการตายที่ยังไม่ถึงเวลา เรียกว่า “อกาลมรณะ”
“อกาลมรณะ” นี้ในสังยุตตบาลี แสดงไว้ว่า “ดูก่อนมหาราชา ในโลกนี้ผู้ใดทำให้คนอื่นตายลงด้วยการอดข้าว ผู้นั้นแม้ยังอยู่ในวัยเด็กก็ตาม วัยหนุ่มสาวก็ตาม วัยชราก็ตาม ย่อมได้รับการเบียดเบียนด้วยการอดข้าว และตายลงด้วยความหิวข้าวนั้นเอง เป็นดังนี้ตลอดแสนชาติ ” หมายความว่า ผู้ที่เคยทำให้ผู้อื่นตายลงด้วยการอดน้ำ ให้งูกัด วางยา เอาไฟเผา ถ่วงน้ำ หรือฆ่าใช้อาวุธเหล่านี้ เป็นต้น ผู้นั้นก็ย่อมตายด้วยการอดน้ำ ถูกงูกัด ถูกวางยา ถูกไฟคลอก จมน้ำ ถูกอาวุธ เช่นเดียวกัน แสดงว่า อกาลมรณะเหล่านี้ จะเว้นเสียจากอดีตกรรมไม่ได้ จึงเรียกอกาลมรณะนี้ว่า อุปัจเฉทกกรรม คือ กรรมที่มาตัดรอนนั่นเอง
ความตายที่เป็น อกาลมรณะนี้ รวมถึงการปฎิบัติตนเป็นไปไม่สม่ำเสมอ ไม่มีปัญญาที่จะบำรุงรักษาร่างกายให้มีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ตลอดอายุขัย ไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถใหญ่ให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ มัวปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมด้วยอำนาจกิเลส คือ ความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความเห็นผิดบ้าง หรือคิดไม่ถึงบ้าง ทำให้คนทั้งหลายต้องตายลงโดยกาลอันไม่สมควรนี้เป็นส่วนมาก
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของมรณะ คือความตายของสัตว์โลกที่เป็นไปในสังสารวัฏนี้
บทความโดย อาจารย์สุคนธ์ สุ่นศิริ
ขอขอบพระคุณ ...
ที่มา คัดลอกมาจาก http://weblog.manager.co.th/publichome/forgiven/Default.aspx
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น