++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พุทธศาสนากับประชาธิปไตย ต้องเกื้อกูลกัน



ประชาธิปไตยมุ่งให้เกิดเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หลักการทั้งสามประการจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยคุณภาพจิตเป็นตัวรองรับ

กล่าวคือ เสรีภาพภายนอกต้องอิงเสรีภาพภายใน โดยมีปัญญาเป็นตัวเชื่อม เสรีภาพภายในทำให้มองเห็นความจริงอย่างปราศจากอคติ ใช้ปัญญาได้เต็มที่และรอบด้าน ทำให้เสรีภาพภายนอกนั้นเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ไม่ก่อปัญหาแก่ผู้อื่นหรือสนองความเห็นแก่ตัว

ความเสมอภาคจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่ล่วงละเมิด มีการเฉลี่ยแบ่งปันและเจือจานกัน คนมีช่วยคนจน คนแข็งแรงช่วยคนอ่อนแอ ดังนั้น จึงต้องมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน

ภราดรภาพเกิดจากการมองเห็นทุกคนเป็นเพื่อน ไม่หลงติดในสมมติและความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา การมีปัญญาแลเห็นข้อจำกัดของสมมติ ตระหนักถึงจุดร่วมที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน ไม่มองคนแบบแบ่งฝ่ายหรือมองแบบทวินิยม ย่อมเอื้อให้เกิดภราดรภาพได้

ในเวลาเดียวกัน ประชาธิปไตยก็เกื้อกูลพุทธศาสนา เช่น เสรีภาพในการแสวงหาความจริง ย่อมทำให้เกิดปัญญา เห็นความจริงรอบด้าน และส่งเสริมเสรีภาพภายใน (จิตใจไม่ถูกอคติครอบงำ) พุทธศาสนาเน้นการเชื่อด้วยการไตร่ตรองของตนเอง จึงต้องมีเสรีภาพในการคิดด้วย

ในด้านกระบวนการของประชาธิปไตยก็ต้องการคุณภาพด้านในที่เกื้อกูลด้วย เพราะต้องอาศัยเสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจ จึงต้องเป็นการตัดสินใจที่เกิดจากการรับรู้ข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เป็นการตัดสินอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ และรับผิดชอบต่อผลที่เกิด

กล่าวคืออีกนัยหนึ่ง คือ มีวิจารณญาณบนพื้นฐานของธรรมาธิปไตย คือ การถือเอาธรรมเป็นใหญ่ยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตัว (อัตตาธิปไตย) และการคล้อยตามเสียงของคนรอบข้าง (โลกาธิปไตย)

คุณภาพจิตดังกล่าว เป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญและมีวิธีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ปัญหาอยู่ตรงที่ระบบปฏิบัติดังกล่าวถูกมองข้ามไป แต่นอกเหนือจากการฟื้นฟูระบบฝึกฝนพัฒนาจิตให้แพร่หลายแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปก็คือการฟื้นฟูมิติทางสังคม ให้กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบศีลธรรมในพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดสำนึกและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ยิ่งมีมิติด้านโลกุตตรธรรมเป็นพื้นฐานรองรับ ก็จะทำให้ระบบศีลธรรมนั้นเข้มแข็งมั่นคง เพราะเป็นศีลธรรมที่เกิดจากความตื่นรู้ เบาบางจากความยึดติดถือมั่น ในตัณหา มานะ ทิฏฐิ และสำนึกเชื่อมโยงกับสรรพสัตว์ในโลก

พระไพศาล วิสาโล

ปฐกถาในการประชุมประจำปีของสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย
21 ธันวาคม 2551 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น