++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สัมภาษณ์พิเศษ: ประเทศชาติต้องรอมชอมครั้งยิ่งใหญ่ (สุรินทร์ พิศสุวรรณ)

Dr.Surin Pitsuwan: News & Articles
สัมภาษณ์พิเศษ: ประเทศชาติต้องรอมชอมครั้งยิ่งใหญ่ (สุรินทร์ พิศสุวรรณ) โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2556 สถานการณ์บ้านเมืองกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เมื่อทางแยกข้างหน้าทางหนึ่งกำลังจะเดินไปสู่ "เลือกตั้ง" ที่เต็มไปด้วยแก๊สน้ำตากระสุนยาง กระสุนจริง จากที่มวลชนบางส่วนมองว่าไม่อาจเป็น "ทางออก" ที่จะพาประเทศหลุดพ้นวังวนปัญหา ขณะที่อีกทางเลือกหนึ่งคือการเดินหน้าสู่ "ปฏิรูป" เพื่อจัดวางระบบโครงสร้างกันใหม่โดยสภาประชาชน ที่ยังเป็นหนทางที่ตีบตันเพราะมีตัวบทกฎหมายขวางจนยากจะก้าวข้าม สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ผู้ที่เคยคลุกคลีอยู่ทั้งในแวดวงการเมืองไทยและ ระดับนานาชาติ ประเมินสถานการณ์เมืองไทยขณะนี้ที่มีมวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมเวลานี้ว่า เป็นเพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนรู้สึก "Lonely In The Crowd" คือ เหงาเปล่าเปลี่ยวเดียวดายท่ามกลางฝูงชน คับอกคับใจ เครียด กลัว เหงา แต่ไม่รู้จะไปพูดกับใคร เพราะไม่รู้ว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวคิดอย่างไร ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนบนถนนราชดำเนินทำสำเร็จ คือเอาแต่ละปัจเจกชนที่รู้สึกอึดอัดเปล่าเปลี่ยวมาตลอด มาต่อเชื่อมกันได้เหมือนกับไฟลามทุ่งไปทั่วประเทศ มากกว่าการแสดงออกในลักษณะนี้ในอดีต เข้าใจว่ามากกว่าหลายประเทศ ซึ่งทุกสังคมจะถึงจุดนี้ อย่างสหรัฐตอนที่ มาธิน ลูเธอร์ คิงนำคนเดินขบวน ที่วอชิงตัน ดี.ซี. หลายแสนคน ตูนีเซีย อียิปต์ ยูเครน ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงการรวมตัวของคนที่มีความรู้สึกว่า ทิศทางของสังคมเป็นทิศทางที่ผิดจึงต้องดึงกลับและหาทิศทางใหม่ อย่างไรก็ตาม ทางออกที่เรามีมันอาจจะใช้ไม่ได้ในขณะนี้ เพราะทางออกนั้นคือทางออกที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ 12-13 ปีที่ผ่านมา กระบวนการรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ วิธีการมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหาในกรอบเดิม เพราะฉะนั้นอาจจะต้องตั้งคำถามใหญ่กว่านั้น กว้างกว่านั้น ไกลกว่านั้น คนส่วนหนึ่งมองว่ากรอบวิธีการมาตรการเดิมๆ เพียงแต่สะสมความกดดันมากขึ้น สั่งสมปัญหา ความผิดพลาดมากขึ้น หนึ่งกระบวนการเลือกตั้งได้เสียงข้างมาก มีสิทธิในการบริหารจัดการประเทศ แต่ว่าสิทธินั้นไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด ไม่ใช่ "ประทานบัตร" ที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการเบ็ดเสร็จ ในโครงการที่เราได้ประทานบัตรมาเป็นเวลา 4 ปี 10 ปี 20 ปี แล้วแต่อายุประทานบัตร มันไม่ใช่ แต่ที่เป็นอยู่เหมือนกับได้เสียงข้างมากแล้วใช้ได้เต็มที่ไม่ต้องฟังอะไรทั้งสิ้นแต่ถ้าจะนำหลักประชาธิปไตยมาวิเคราะห์ อำนาจในระบอบประชาธิปไตยเป็นอำนาจที่จำกัด ทั้งโดยกรอบของเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่เกิน 4 ปีกำหนดโดยกระบวนการและวิธีการของรัฐธรรมนูญ กำหนดโดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดด้วยกลไกถ่วงดุล แม้แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีค่านิยมของสังคม อดีตเลขาธิการอาเซียน วิเคราะห์ว่า ในระยะหลังนี้มีการใช้เสียงข้างมากที่ไม่ใช่ภายในกรอบกระบวนการของประชาธิปไตย เกิดเป็นคำใหม่ขึ้นว่าลัทธิเสียงข้างมาก "Majoritarianism" มีหลายที่ในโลกทั้ง รัสเซีย เวเนซุเอลา อียิปต์ โดยเอาเสียงข้างมากไปเป็นตัวตั้ง เป็นใบอนุญาตที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่ฟังเสียงข้างน้อย ไม่ฟังความถูกต้องเป็นธรรมค่านิยมดีๆ ของสังคม สถาบันองค์กรตรวจสอบ ทั้งนี้ วาระทางการเมืองขัดแย้งสูงมาก มีผลกระทบมาก และอาจไม่ได้คิดอย่างทะลุปรุโปร่งว่าจะมีผลกระทบตามมาอย่างไร ทั้งเรื่องนโยบายข้าวรถยนต์ บ้าน เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เรื่องการนิรโทษกรรม เต็มไปด้วยสภาพของความขัดแย้ง อันตรายอยู่ข้างหน้า โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทรัพยากรที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาหนักหน่วงของประเทศชาติ แต่ศาลปกครองบอกว่าคุณไม่ได้ทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ดูแลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถามประชาชนเชิงประชาพิจารณ์ สะท้อนให้เห็นว่ากำลังใช้ "Majoritarianism" มากกว่าใช้อำนาจที่จำกัดในกรอบของรัฐธรรมนูญ "อันนี้คือสิ่งที่ผมตั้งคำถามหนักว่า แล้วจะหันไปสู่กรอบเดิมวิธีคิดเดิม มาตรการเดิมที่เรามีจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อล่อแหลม ข้างหน้าเต็มไปด้วยหน้าผาที่ก้าวพลาดเดินตกหน้าผาเลย น่ากลัวมากๆ ถึงเวลาที่ต้องหยุดคิดและถอดหัวใจระดมความคิดประชาชนฉลาดขึ้นเยอะอยากมีส่วนร่วมมากขึ้นเกิดองค์กรหน่วยงานที่ทำงานอย่างอิสระขึ้นมาหลากหลาย การมีตัวแทนทางการเมืองผ่านกระบวนการทางการเมือง 4 ปีครั้ง มันอาจจะไม่พอแล้วสำหรับสังคมไทย มันซับซ้อนขึ้นกว่านั้นเยอะ มีตัวแสดงเพิ่มขึ้นเยอะ มีตัวละครที่อยากขึ้นเวที ร่วมแสดง ร่วมมีส่วนในการชี้นำ กำหนดแก้ปัญหามากขึ้น" สุรินทร์ อธิบายว่า สิบกว่าปีที่แล้วคนในต่างจังหวัดมีความรู้สึกว่า ตัวเองได้มีโอกาสมีสิทธิที่จะเข้ามาอยู่ในกระบวนการ เขารู้ตระหนักว่าเสียงของเขาสามารถที่จะประกาศทิศทางทางการเมืองได้ แต่10-12 ปีที่ผ่านมาอีกฟากหนึ่ง ที่กำลังตื่นตัวที่เห็นอยู่บนถนนขณะนี้ก็ตื่นเหมือนกันว่าที่ตื่นและนำไปสู่นโยบายที่ผิดพลาดหลายอย่าง นำไปสู่หนี้สิน ความอ่อนเปลี้ยของสังคม นำไปสู่ปัญหาที่สั่งสมเพิ่มขึ้นนำไปสู่กลไกที่ล้มเหลวในการตรวจสอบ นำไปสู่อำนาจที่ล่อแหลมที่จะใช้ผิด ตำรวจ อัยการ ระบบข้าราชการทั้งหมด องค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบอ่อนเปลี้ยไปหมด ระบบราชการกลายเป็นระบบครอบครัวเครือญาติที่ขยายวง รัฐวิสาหกิจเป็นเน็ตเวิร์กส่วนตัว การแต่งตั้ง โยกย้าย ให้ตำแหน่ง เป็นไปบนพื้นฐานของเหตุผลส่วนตัวผลประโยชน์ทับซ้อน "Cronyism"พรรคพวกนิยม ในวงราชการธุรกิจ ทำให้ระบบทั้งระบบ ขณะที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แทนที่ องคาพยพ ของไทย ระบบราชการไทย องค์กรต่างๆของไทย ภาคประชาชนไทย การศึกษาไทย แทนที่จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เวทีการแข่งขันเรากลับถอยหลัง "ห้าปีที่ผมอยู่ที่อาเซียนชัดเลยว่า "นักกีฬา" ที่เราส่งขึ้นเวทีไปแข่งขันในเวทีอาเซียนสู้เขาไม่ได้คุณภาพลดลง ผมพูดทีเล่นทีจริงว่า นั่งอยู่ 10 คนดูรู้ว่าคนไหนคนไทยโดยไม่ต้องมีป้ายอยู่ข้างหน้า คือคนที่เงียบที่สุด เพราะหนึ่งไม่ต่อเนื่องสองไม่ได้เตรียมตัวมา สามไม่ได้ขึ้นมาเพราะความรู้ความสามารถ แต่ขึ้นมาเพราะ Cronyism จะให้ประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ อิงก์ ไปแข่งขันกับคนอื่นเขาในขณะที่อ่อนเปลี้ยไปทุกเรื่องทุกด้านนี่ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงจึงต้องคิดว่าหัวเลี้ยวหัวต่อตรงนี้เราจะเอาอย่างไร เดินหน้าเข้าซอกเข้ามุมที่แคบลงดูแล้วอึดอัดหันซ้ายหันขวาติดหล่มไปหมด หรือจะหยุดแล้วคิดหาทางออก" สุรินทร์ มองต่อไปว่า ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนที่ตระหนัก ตื่นตัวเวลานี้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงแค่ 5 วินาที 4 ปีครั้งในคูหาเลือกตั้ง แต่ต้องทำให้ยั่งยืน ต้องทำให้ทุกคนสามารถที่จะนำไปสู่จุดการสร้างสติร่วมเจตนารมณ์ร่วม (General Will) เท่าที่เห็น ทุกฝ่ายขณะนี้สุดโต่งกันทั้งนั้น สุดโต่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เพื่อสถานภาพของตัวเพื่อสภาวะปัจจุบันของตัวเอง แต่ความสุดโต่งนั้นมันแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่มีการต่อรองไหนที่ทุกฝ่ายจะได้ 100%เหมือนกันหมด มันต้องมีรอมชอม "Give and Take" อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ประเทศชาติต้องการการรอมชอมครั้งยิ่งใหญ่ "Grand Compromise"เพื่อสร้างสติร่วมเจตนารมณ์ร่วม จากนั้นจึงเดินหน้าไปสู่ การผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่ "Grand Coalition" เหมือนอย่างประเทศเยอรมนี ที่เร็วๆ นี้สองพรรคใหญ่ คือ คริสเตียนเดโมแครต กับ โซเชียลเดโมแครต หันหน้าเข้าหากัน แล้วตั้งรัฐบาลร่วมกันซึ่งก่อนหน้านี้หลายปีที่แล้วก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นอีกครั้งเพราะเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่นปัญหาของยุโรปหนักหน่วง ถ้ายังมาแบ่งกันอยู่อย่างนี้ แก้ปัญหาไม่ได้ พรรคใหญ่ 2 พรรคจึงมาร่วมมือกัน "คิดต่อไปข้างหน้าคือหลังการเลือกตั้ง ผลจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ มีรัฐบาลแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นการเดินหน้าถือเป็นGrand Compromise" ให้มันเกิดเงื่อนไขทุกคนพอใจมั่นใจ หลังจากนั้นจึงเป็น Grand Coalition ที่จะต้องช่วยกันคิดต่อไป ซึ่งไม่อยากบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทยจะต้องมาร่วมกันคิดแต่จะต้องเป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่จะต้องหันหน้าเข้าหากัน คือ Grand Compromise ก่อนเลือกตั้ง และGrand Coalition หลังการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาคการเมือง แต่ต้องเป็นภาคองค์กรอิสระกระบวนการยุติธรรมต้องมีส่วน ภาคเอกชนต้องมีส่วน ภาคประชาสังคมต้องมีส่วน สื่อมวลชนต้องมีส่วน ภาคการศึกษา สถาบันต้องมีส่วน ทั้งนี้ จะถือเป็น Grand Coalition ของประเทศทั้งหมด เพื่อที่จะมาแก้ไขปัญหาที่หนักหน่วงที่สุดเท่าที่ประเทศที่เคยประสบ 81 ปีประชาธิปไตย ไม่เคยหนักหน่วงเหมือนตอนนี้ ขณะนี้ เราเอาตัวรอดมาได้ แต่ละขั้นแต่ละตอนทั้ง 14 ตุลา 6 ตุลาพฤษภาทมิฬ มาถึงเหตุการณ์ปี 2553 เราไม่ได้แก้ปัญหา เพียงแต่หักมุมนิดๆ หน่อยๆ ลดความกดดันแล้วก็เดินหน้าต่อ แต่เราไม่ได้แก้ปัญหา ในเชิงเจตนารมณ์ร่วม สติร่วม ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมี Grand Coalition "ต้องลดทิฐิกันบ้างต้องมูฟมาสู่ตรงกลางกันบ้างตรงกลางคือผลประโยชน์ประเทศชาติ แต่เอกซ์ตรีมคือเรื่องส่วนตัวของทุกฝ่ายเฉพาะพวก เฉพาะฝ่ายเฉพาะกลุ่ม แต่ส่วนที่อยู่ตรงกลางมันกว้าง ซ้ายสุดขวาสุดมันแคบ ส่วนตรงกลางคือทางเดิน ทางเลือกของประเทศ เจตนารมณ์ร่วม อยู่ตรงนั้น สติร่วมอยู่ตรงนั้น" สุรินทร์ กล่าว
โดย: สุรินทร์ พิศสุวรรณ - Surin Pitsuwan

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น