++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

*** น่ารู้...โรคหัวใจกับที่สูง..

*** น่ารู้...โรคหัวใจกับที่สูง... คุณทราบหรือไม่ว่า การขึ้นที่สูง เช่น ไต่เขา ขึ้นเครื่องบิน… มีผลต่อโรคหัวใจ อย่างไร? ในปัจจุบัน เรามีโอกาสที่จะต้องอยู่ในที่สูงๆ เช่น การขึ้นเครื่องบิน การไต่เขา หรือการไปเที่ยวพักแรมตามภูเขา ซึ่งการที่เราขึ้นไปอยู่ในที่สูงๆนั้น ไม่เพียงแต ่มีผลกับคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น ในคนปกติที่มีสุขภาพดีก็อาจจะเกิดความเจ็บป่วยอันเป็นผลจากการอยู่ในที่สูงได้ เช่น ภาวะน้ำท่วมปอดจากการอยู่ในที่สูง, ภาวะสมองบวมเลือดออกในจอประสาทตา เป็นต้น ในที่สูง ความดันบรรยากาศจะลดลงตามความสูงทำให้ความดันออกซิเจนของอากาศที่หายใจลดลงตามไปด้วย และร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศที่เปลี่ยนไป @การปรับตัวของระบบไหลเวียนโลหิต ต่อความสูง การอยู่ในที่สูงในระยะเวลาสั้นๆ.......... ร่างกายจะมีการปรับตัวโดยมีการหายใจเร็วขึ้น, หัวใจเต้นเร็วขึ้น, ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจต่อนาทีเพิ่มขึ้น, ความดัน โลหิตสูงขึ้น และที่สำคัญคือการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจก็เพิ่มขึ้นด้วย ในที่สูง จะทำให้ปริมาณความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดลง เรื่อยๆตามความสูง และจะยิ่งลดลงมากขึ้นถ้ามีการออกกำลังร่วมด้วย, ภาวะที่ปริมาณ ออกซิเจน ในเลือดลดต่ำลงนี้ จะทำให้ความดันของเส้นเลือดในปอดเพิ่มขึ้นตามอันเป็นผลจากการหดตัวของเส้นเลือดที่ปอดจากภาวะขาดออกซิเจนนั่นเอง การเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายคือ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณ กล้ามเนื้อ, ผิวหนัง, อวัยวะภายในจะหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงน้อยลง ขณะที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจจะขยายตัวทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น ส่วนเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผลก็คือ เราจะรู้สึกเหนื่อยเร็วขึ้นกว่าปกติ ออกแรงสูงสุดได้น้อยลงกว่าเดิม การอยู่ในที่สูงเป็นเวลานาน.......... หลังจากอยู่ในที่สูงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3-4 วัน ก็จะมีการปรับตัวของร่างกายโดยระบบประสาทซิมพาเธติคจะลดการทำงานลง, ความดันโลหิตเริ่มลดลง, ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจต่อนาทีเริ่มลดลง, ร่างกายมีการปรับตัวให้เม็ดเลือดแดงสามารถปล่อยออกซิเจนออกได้ดีขึ้นกว่าเดิม(left shift hemoglobin oxygen dissociation curve) ภาวะการขาดน้ำของร่างกายจะพบได้บ่อย เนื่องจากแรงดันน้ำในบรรยากาศลดลงตามอุณหภูมิที่ลดลง และการหายใจที่เร็วขึ้นทำให้ร่างกาย เสียน้ำไปทางระบบทางเดินหายใจออกมากขึ้น มีการศึกษาพบว่านักไต่เขาที่ระดับความสูงมากกว่า 6000 เมตร ต้องการบริโภคน้ำถึง 3-4 ลิตรต่อวัน โรคหัวใจกับความสูง @ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ พบว่าความสามารถในการออกกำลังกายลดลงในที่สูง และการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดโดยเฉพาะขณะออกกำลังกายเป็นได้ง่ายขึ้น แม้แต่ในคน ที่ไม่เคยมีประวัติของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมาก่อน ก็พบว่าสามารถเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ถ้าออกกำลังกายในที่สูง แต่การอยู่ในที่สูงเป็นระยะเวลานานเกิน 5 วัน พบว่าร่างกายมีการปรับตัวจนสามารถออกกำลังได้เท่ากับอยู่ในที่ราบ ดังนั้นในคนที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ จึงต้องพิจารณาถึงความพร้อมในการเที่ยวในที่สูงเช่น พักแรมบนภูเขา การไต่เขา ซึ่งมักจะพักในช่วงสั้นๆ ซึ่งร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวได้ ถ้ามีประวัติเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกบ่อยแม้ออกกำลังเล็กน้อย ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการขึ้นที่สูง เพราะอาจมีอันตรายต่อสุขภาพได้ @ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีโอกาสเป็นได้บ่อยขึ้นในคนสูงอายุ จะมีโอกาสเป็นมากขึ้นตามความสูงที่ขึ้น ในรายที่มีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่แล้ว การอยู่ในที่สูงมีโอกาสที่จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆและถ้ามีการออกแรงร่วมด้วย หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นสามารถเป็นได้ทั้งที่เกิดจากหัวใจด้านบน(supraventricular) และหัวใจด้านล่าง(ventricular) สำหรับ การเดินทางโดยเครื่องบิน น่าจะมีความเสี่ยงต่ำ ยกเว้นคนที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนขึ้นเครี่องก็มีโอกาสจะเป็นมากขึ้นได้ ดังนั้นในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นบ่อยโดยเฉพาะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากหัวใจด้านล่าง ในคนที่มีอายุ ควรหลีกเลี่ยงการขึ้นที่สูง หรือการพักแรมบนเขา เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเสียชีวิตกระทันหันจากหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ @ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดฝังในร่างกาย ในที่สูงจะมีภาวะออกซิเจนต่ำลง ขณะที่คาร์บอนไดออกไซต์ก็ต่ำลงด้วยจากการหายใจที่เร็วขึ้น ผลของออกซิเจนในเลือดที่ต่ำลงจะเพิ่มค่า pacing stimulation threshold ขณะที่ผลของคาร์บอนไดออกไซต์ที่ต่ำลงจะลดค่า pacing stimulation threshold ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้ในที่สูงจึงพบว่าค่า pacing stimulation threshold(=ค่ากระแสไฟฟ้าขั้นต่ำที่เครื่องใช้ในการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจขึ้น) จีงไม่เปลี่ยนแปลง แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลศึกษาในที่ ที่สูงมากๆเช่น การไต่เขา จึงไม่แนะนำให้ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ขึ้นไปในที่สูงมากๆ @ ผู้ป่วยโรคหัวใจกับการเดินทางโดยเครื่องบิน โดยปกติเครื่องบินของสายการบินต่างๆ มักบินในระดับความสูง 22,000 – 44,000 ฟุต (6700-13,400 เมตร) และเครี่องบินจะมีการปรับความดันในห้อง ผู้โดยสารให้อยู่ในระดับเท่ากับความสูง 8,000 ฟุตหรือน้อยกว่า (ประมาณ 5000-8000 ฟุต) ซึ่งในระดับความสูง 8,000 ฟุต ความดันบรรยากาศจะลดลงเหลือ 564 มิลลิเมตรปรอท (เทียบกับความดันบรรยากาศปกติที่ระดับน้ำทะเลคือ 760 มิลลิเมตรปรอท) และทำให้ความดันออกซิเจนที่หายใจเข้าเท่ากับ 109 มิลลิเมตรปรอท( เทียบกับ 149 มิลลิเมตรปรอทที่ระดับน้ำทะเล) และทำให้ระดับแรงดันออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือ 60 มิลลิเมตรปรอท (แรงดันออกซิเจนในคนปกติ เท่ากับ 100 มิลลิเมตรปรอท) ในคนปกติสามารถทนต่อภาวะแรงดันออกซิเจนในเลือดที่ลดลงนี้ได้ แต่ในคนที่เป็นโรคหัวใจอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ถ้าโรคหัวใจที่เป็นอยู่เป็นมาก และมีอาการเหนื่อยง่ายหรือเจ็บแน่นหน้าอกบ่อยแม้ในขณะพัก อีกทั้งการนั่งเครื่องบินนานๆ ก็อาจจะมีภาวะเครียดจากการไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปกติ, การสั่นสะเทือน, เสียงที่เกิดขึ้นจากเครื่องบิน รวมทั้งความชี้นในอากาศที่ลดลง เคยมีรายงานการศึกษาพบว่า มีสถิติการเจ็บหน้าอกบนเครื่องบิน 433 ครั้ง และการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย 14 รายจากผู้โดยสารทั้งหมด 580 ล้านคน ในปี ค.ศ.1996 นอกจากนี้การนั่งเครื่องบินในระยะเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเส้นเลือดดำที่ขาอุดตันจากลิ่มเลือดไปอุด และทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน ถึงขั้นเสียชีวิตได้ @ คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการขึ้นเครื่องบิน - ผู้ที่มีโรคหัวใจที่สามารถควบคุมอาการได้ดี ไม่มีอาการเหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอกบ่อย สามารถขึ้นเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย - ผู้ป่วยโรคหัวใจต่อไปนี้ห้ามเดินทางโดยเครื่องบิน 1. ภาวะหัวใจขาดเลือดรุนแรง เช่น โรค unstable angina , กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 2. หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด PVC ที่เป็นมากและเป็นบ่อย 3. ภาวะหัวใจล้มเหลวที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ - ในรายที่บอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจ ควรรออย่างน้อย 2 สัปดาห์ - ในรายที่ผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ ควรรออย่างน้อย 3 สัปดาห์ - ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ควรรออย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน และถ้ามีภาวะแทรกซ้อนของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ควรรออย่างน้อย 6 สัปดาห์ เรียบเรียงโดย Doctor Heart
โดย: หมอสารภี รักในหลวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น