++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กลับคืนสู่ต้นกำเนิด



ผมยืนพิงเคียวด้ามยาวในมือ หยุดพักงานในสวนชั่วขณะแล้วทอดสายตาจับจ้องอยู่ที่ภูเขาและหมู่บ้านเบื้องล่าง ผมเฝ้าสงสัยว่าเหตุไฉนปรัชญาของผู้คน จึงได้หมุนเร็วเสียยิ่งกว่าการแปรเปลี่ยนของฤดูกาล

เส้นทางที่ผมเลือกเดิน หรือการทำเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ซึ่งมักจะเป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับผู้คนส่วนใหญ่นั้น เคยได้รับการกล่าวขวัญถึงในสมัยแรก ๆ ว่า เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ความก้าวหน้าและการพัฒนาอย่างปราศจากความยั้งคิดของวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งหมดที่ผมได้กระทำมา ด้วยการออกมาทำเกษตรในชนบท ก็เพียงเพื่อจะแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่รู้อะไรเลย เพราะโลกได้หมุนไปในทิศทางตรงกันข้ามด้วยพลังอันบ้าระห่ำนี่เอง ผมจึงดูเหมือนคนล้าหลัง แต่กระนั้นผมก็ยังเชื่อมั่นว่าหนทางที่ผมเลือกเดินเป็นหนทางที่มีเหตุมีผลอันสมควรมากที่สุดหนทางหนึ่ง

หลายปีที่ผ่านมานี้ คนที่หันมาสนใจการเกษตรกรรมธรรมชาติได้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดูเหมือนว่าขีดจำกัดของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ได้ปรากฏให้เห็นแล้ว ความลังเลสงสัยเริ่มเกิดขึ้น และเวลาสำหรับการกลับมากำหนดคุณค่าใหม่ได้มาถึง ดังที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องโบราณคร่ำครึและล้าหลัง กลับกลายเป็นความก้าวหน้าที่เหนือกว่าวิทยาศาสตร์แผนใหม่ไปได้อย่างไม่คาดฝัน ทั้งนี้อาจจะดูแปลกประหลาดในตอนแรก แต่สำหรับผม ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดเลยแม้แต่น้อย

ผมได้พูดคุยกับศาสตราจารย์ อินูม่า แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตเมื่อไม่นานมานี้ว่า เมื่อพันปีที่แล้ว การทำเกษตรกรรมในญี่ปุ่นไม่มีการไถพลิกหน้าดิน จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยโตกูกาว่า เมื่อราว ๓๐๐-๔๐๐ ปีที่ผ่านมา การไถหน้าดินตื้น ๆ ก็ถูกนำเข้ามาใช้ไนญี่ปุ่น การไถดินแบบลึกถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นพร้อมกับเกษตรกรรมแบบตะวันตก ผมกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในอนาคต คนรุ่นต่อไปจะกลับไปหาวิธีทำเกษตรกรรมแบบไม่ไถพลิกหน้าดินอีกครั้งหนึ่ง

การเพาะปลูกโดยไม่ไถพลิกหน้าดิน ในตอนแรกอาจจะดูเป็นการถอยหลังกลับไปสู่เกษตรกรรมแบบโบราณ แต่หลายปีที่ผ่านมา จากการทดลองในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และสถานีทดลองการเกษตรทั่วประเทศแสดงให้เห็นว่า วิธีทำเกษตรกรรมแบบนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด มีประสิทธิภาพ และเป็นวิธีที่ทันสมัยกว่าทุกวิธีในปัจจุบัน แม้ว่าวิธีทำเกษตรกรรมแบบนี้จะปฏิเสธวิทยาศาสตร์แผนใหม่ แต่วิธีการนี้ก็ได้ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของพัฒนาการทางการเกษตรแผนใหม่

ผมได้เสนอวิธีทำเกษตรแบบหว่านเมล็ดข้าวเจ้าและธัญพืชฤดูหนาวลงไปโดยตรงในดินที่ไม่มีการไถพรวนในวารสารการเกษตรเมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน จากนั้นเป็นต้นมา ก็มีการนำเนื้อหานี้ไปตีพิมพ์ และออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์อยู่เสมอ เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก

มาบัดนี้ เรื่องราวกลับตาลปัตรไปโดยสิ้นเชิง คุณอาจกล่าวว่าตอนนี้เกษตรกรรมธรรมชาติได้กลายเป็นสิ่งน่านิยมอย่างที่สุด นักหนังสือพิมพ์ ศาสตราจารย์ และนักวิจัยทางเทคนิคพากันแห่มาเยี่ยมผมที่ไร่และกระท่อมบนเขา

แต่ละคนที่มาล้วนมีทัศนะที่แตกต่างกันไป ต่างคนต่างมองจากจุดยืนของตน และให้ความหมายต่อสิ่งที่แลเห็นแตกต่างกัน แล้วก็จากไป บางคนก็บอกว่ามันโบราณ บ้างก็ว่าล้าหลัง บางส่วนก็เห็นว่านี่คือความสำเร็จทางเกษตรกรรมขั้นสูงสุด และบางคนก็เรียกมันเป็นการเบิกทางสู่อนาคต โดยทั่วไปคนมักสนใจแต่เพียงว่าการทำเกษตรแบบนี้เป็นความก้าวหน้าของอนาคตหรือการย้อนกลับไปหาอดีตกันแน่ มีน้อยคนที่จะสามารถจับสาระได้อย่างถูกต้องว่า แท้จริงแล้วเกษตรกรรมธรรมชาติเกิดขึ้นจากศูนย์กลางแห่งพัฒนาการทางการเกษตรที่ไม่ไหลเลื่อน และไม่เปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุที่ผู้คนแยกตัวออกจากธรรมชาติ เขาจึงหมุนห่างออกจากศูนย์กลางนี้ไหลออกไปทุกที ในขณะเดียวกัน ความปรารถนาในการที่จะกลับคืนสู่ศูนย์กลางดังกล่าวก็ค่อยแสดงตัวขึ้น และความปรารถนาที่จะกลับมาหาธรรมชาติก็เกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าผู้คนยังคงคิดอยู่แค่การแสดงปฏิกิริยาโต้กลับ ด้วยการหมุนไปทางซ้ายทีขวาที โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเหตุปัจจัยอื่น ๆ ผลคือจะเป็นเพียงการเพิ่มพูนกิจกรรมให้เกิดมากขึ้นเท่านั้น จุดที่ไม่เคลื่อนไหวของต้นกำเนิดดั้งเดิม ยังอยู่นอกอาณาจักรแห่งสัมพันธภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสังเกตเห็นและถูกมองผ่านไป ผมเชื่อว่าแม้ "การกลับสู่ธรรมชาติ" และกิจกรรมที่ต่อต้านมลภาวะ จะเป็นการกระทำที่น่ายกย่องเพียงไรก็ตาม แต่ก็มิได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ตราบใดที่การกระทำนั้น เป็นเพียงการแสดงออกถึงปฏิกิริยาต่อการพัฒนามากเกินไปในสมัยปัจจุบันเท่านั้น

ธรรมชาติไม่ได้เปลี่ยนแปลง แม้ว่าวิธีการมองดูธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายจากยุคหนึ่งสู่ยุคหนึ่ง แต่ไม่ว่ายุคใด เกษตรกรรมธรรมชาติจะยังคงเป็นต้นกำเนิดของเกษตรกรรมตลอดไป

ที่มา https://www.facebook.com/KhayKhawKlxngHxmMaliXinthriy100SinkhaHomMed

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น