Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556
เกษตรกรรมแบบไม่กระทำ
ผมใช้ชีวิตอยู่ในไร่นาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี โดยติดต่อกับผู้คนและโลกภายนอกชุมชนที่ผมอยู่อาศัยน้อยมาก ในระหว่างหลายปีนั้น ผมมุ่งมั่นกับวิธีการทำการเกษตรที่เรียกว่า "ไม่กระทำ" อย่างจริงจัง
ตามปกติเมื่อเราคิดที่จะพัฒนาวิธีการอะไรสักอย่าง เรามักจะเริ่มต้นด้วยคำถามว่า "ลองวิธีนี้ดีไหม" หรือ "ลองวิธีนั้นดีไหม" การเริ่มต้นเช่นนี้จะทำให้เรามีเทคนิควิธีการที่หลากหลาย จากวิธีหนึ่งไปสู่อีกวิธีหนึ่ง นี่คือเกษตรกรรมแผนใหม่ ผลก็คือมักจะทำให้เกษตรกรมีเรื่องที่ต้องทำมากขึ้น
ผมทำตรงกันข้าม สิ่งที่ผมมุ่งหวังคือ การทำเกษตรด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติ* และน่าพึงพอใจ ซึ่งส่งผลให้งานง่ายขึ้นยิ่งกว่าหนักขึ้น วิธีคิดของผมก็คือ "ลองไม่ทำสิ่งนี้ดูซิ ลองไม่ทำสิ่งนั้นดูซิ" ผมได้มาถึงข้อยุติที่ว่า ไม่จำเป็นต้องไถพรวนดิน ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ไม่จำเป็นต้องทำปุ๋ยอินทรีย์ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง เมื่อคุณปฏิบัติจริง ๆ ดู คุณจะพบว่ามีวิธีการทางเกษตรกรรมไม่กี่อย่างเท่านั้นที่มีความจำเป็น
เหตุผลที่เทคนิคใหม่ ๆ ของมนุษย์ดูจะมีความจำเป็น ก็เพราะว่าธรรมชาติได้สูญเสียความสมดุลไปมากแล้วจากเทคนิคทั้งหลายก่อนหน้านั้น จนทำให้ต้องพึ่งพิงและขึ้นอยู่กับเทคนิคพวกนั้น
เหตุผลข้อนี้ไม่เพียงแต่ใช้ได้กับเกษตรกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงแง่มุมอื่น ๆ ของสังคมมนุษย์ด้วย แพทย์และยากลายเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อคนเราก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เจ็บป่วยขึ้นมา การศึกษาในระบบโรงเรียนไม่มีคุณค่าที่แท้จริงแต่กลายเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อคนเราสร้างเงื่อนไขให้คนต้องเป็นผู้ "มีการศึกษา" ขึ้นมา
ก่อนที่สงครามโลกจะสิ้นสุด ตอนนั้นผมไปทดลองกับสวนส้มของพ่อด้วยวิธีที่ผมคิดในตอนนั้นว่า คือ เกษตรกรรมธรรมชาติ ผมไม่ตัดแต่งกิ่งของต้นส้มอย่างที่พ่อเคยทำ และปล่อยให้สวนส้มทั้งขนัดนั้นเติบโตของมันไปตามลำพัง ผลปรากฏว่ากิ่งก้านที่งอกขึ้นใหม่ของต้นส้ม ซ้อนก่ายกันไปมาอย่างไม่เป็นระเบียบ ทั้งแมลงก็ยังพากันมารุมกิน จนในที่สุดสวนส้มเกือบ ๒ เอเคอร์ (๕ ไร่)ก็เหี่ยวเฉา และล้มตายไปหมด จากเวลานั้นเป็นต้นมาคำถามเกิดขึ้นในใจผมตลอดว่า "อะไรคือแบบแผนของธรรมชาติ"
กว่าที่จะได้คำตอบ ผมได้ทำให้ต้นไม้ต้องเหี่ยวตายไปอีกราว ๔๐๐ ต้น ในที่สุดผมคิดว่าผมสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า "นี่คือแบบแผนของธรรมชาติ" เมื่อพืชพันธุ์ไม้ถูกทำให้ผิดจากธรรมชาติดั้งเดิมของมันไปแล้ว การตัดแต่งกิ่งใบ และการกำจัดแมลงศัตรูพืชก็กลายเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกันสังคมมนุษย์ที่ชีวิตแยกขาดออกจากธรรมชาติ การศึกษาในโรงเรียนก็กลายเป็นสิ่งจำเป็น ในธรรมชาติการศึกษาด้วยระบบโรงเรียนเป็นสิ่งที่ไม่อาจใช้งานได้จริง
ในการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่จำนวนมากได้กระทำความผิดพลาด เช่นเดียวกับที่ผมได้ทำต่อสวนส้มในครั้งแรกนั้น ยกตัวอย่างเช่น การสอนดนตรีให้กับเด็กเป็นสิ่งไม่จำเป็นดุจเดียวกับการตัดแต่งกิ่งใบของพันธุ์ไม้ หูของเด็กสามารถรับรู้เสียงดนตรีอยู่แล้ว เสียงพึมพำของสายน้ำ เสียงกบเขียดระงมอยู่ริมส่งน้ำ เสียงใบไม้แผ่วพลิ้วอยู่ในป่า เสียงของธรรมชาติเหล่านี้คือเสียงดนตรี เป็นดนตรีที่แท้ แต่เมื่อมีเสียงรบกวนมากมายที่เข้ามาก่อกวนโสตประสาท เด็ก ๆ จะสูญเสียความสามารถในการรับรู้ดนตรีที่ตรงและบริสุทธิ์เช่นนี้ไป ถ้าหากเราปล่อยไปเรื่อย ๆ เด็ก ๆ จะไม่สามารถได้ยินเสียงร้องของนกหรือเสียงลมพัดเป็นเสียงเพลงได้เลย และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการศึกษาเกี่ยวกับดนตรี จึงถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็ก
เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้โสตประสาทบริสุทธิ์ และใสกระจ่าง แม้ว่าเขาอาจจะไม่สามารถเล่นไวโอลินหรือเปียโนด้วยทำนองที่ทันสมัยได้ แต่ผมก็ไม่คิดว่ามีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปอบรมให้เด็กมีความสามารถในการฟังดนตรี หรือร้องเพลง ต่อเมื่อหัวใจเต็มเปี่ยมด้วยเสียงเพลงเท่านั้น จึงจะกล่าวได้ว่าเด็กคนนั้นมีพรสวรรค์ในทางดนตรี
เกือบทุกคนล้วนคิดว่า "ธรรมชาติ" เป็นสิ่งที่ดี แต่มีน้อยคนที่สามารถรับรู้ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นธรรมชาติและไม่เป็นธรรมชาติ หากว่าตาอ่อนของไม้ผลสักตาหนึ่งถูกตัดออกด้วยกรรไกร นั่นอาจเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากที่ไม่อาจปล่อยทิ้งไว้โดยไม่แก้ไขได้ เมื่อปลูกพันธุ์ไม้ในรูปแบบเดิมตามธรรมชาติ กิ่งก้านของต้นไม้จะงอกสลับกันอย่างเป็นระเบียบออกมาจากลำต้น ทำให้ใบสามารถได้รับแสงอาทิตย์อย่างทั่วถึง หากว่าระเบียบของธรรมชาตินี้ถูกทำลายไป กิ่งก้านจะงอกออกมาอย่างสบสน และจะซ้อนก่ายกันไปมายุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ และใบที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์ก็จะเหี่ยวเฉาหลุดร่วงไป แมลงศัตรูพืชก็จะแพร่ระบาด และถ้าในปีต่อไปต้นไม้ไม่ได้ถูกตัดแต่งกิ่งใบอีกกิ่งก้านของต้นไม้ก็จะยิ่งเหี่ยวเฉาเพิ่มมากขึ้น
การเข้าไปแทรกแซงของมนุษย์ก่อให้เกิดสิ่งที่ผิดพลาดขึ้น และถ้าความเสียหายดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่แก้ไข จนผลร้ายนั้นสะสมมากเข้า คนเราก็จะต้องทุ่มเทความพยายามทั้งมวลเพื่อเข้าไปแก้ไขมัน หากการแก้ไขลุล่วงไปด้วยดี พวกเขาก็จะคิดว่าวิธีการเหล่านี้เป็นความสำเร็จอันงดงาม คนเรามักทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็เหมือนกับคนโง่ที่ปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านแล้วทำกระเบื้องบนหลังคาแตก พอฝนตกลงมา เพดานก็เริ่มเปื่อยและปล่อยน้ำฝนรั่วลงมา เขาก็จะรีบปีนขึ้นไปซ่อมหลังคา จากนั้นก็ดีอกดีใจที่เขาได้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาที่วิเศษมหัศจรรย์
นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เขาคร่ำเคร่งกับการอ่านตำรับตำราทั้งวันทั้งคืน ซึ่งเป็นการบั่นทอนสายตาของตนและในที่สุดก็สายตาสั้น หากคุณนึกกังขาว่า อะไรหน้าที่ทำให้เขาถึงกับคร่ำเคร่งศึกษาอย่างจริงจังตลอดเวลาเช่นนั้น คำตอบก็คือเขาเป็นนักประดิษฐ์แว่นตาสำหรับคนสายตาสั้น
* ทำการเกษตรด้วยวิธีเรียบง่ายที่สุด ด้วยการร่วมมือกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ยิ่งกว่าที่จะเอาอย่างวิธีการแบบใหม่ที่มุ่งเพิ่มขยายเทคนิคที่ซับซ้อน ในการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง เพื่อผลได้ของตัวมนุษย์เอง
ที่มา https://www.facebook.com/KhayKhawKlxngHxmMaliXinthriy100SinkhaHomMed
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น