ทุกชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตายทั้งสิ้น เพราะทุกชีวิตต่างต้องย่างก้าวไปพร้อมกับกาลเวลา ที่นำความชราและความเสื่อมมาเยือนทุกขณะจิต พวกเรานักสร้างบารมีต้องให้ชีวิตก้าวไปพร้อมกับการสร้างความดี เราจะต้องใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้สร้างบารมีให้เต็มที่ เพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้เกิดขึ้นทั้งต่อตัวเราและต่อชาวโลก ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม อีกทั้งต้องหมั่นฝึกฝนอบรมตนเองด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง เพราะเวลาที่ใจหยุดนิ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเราทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมสาราณียสูตร ความว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แบ่งปันลาภทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม แม้โดยที่สุดบิณฑบาต ย่อมบริโภคร่วมกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้มีศีล ภิกษุเป็นผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาทิฏฐิไม่ยึดถือ เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ(Meditation) เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง อนึ่ง ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นของประเสริฐ เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ ย่อมนำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำทิฏฐิอันนั้น มีอยู่ ภิกษุเป็นผู้ถึงความเสมอกันด้วยทิฏฐิในทิฏฐิเห็นปานนั้นกับเพื่อนสหพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ธรรม ๖ ประการเหล่านี้แล เป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่รัก เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความไม่วิวาท เพื่อความสามัคคี เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”
การบำเพ็ญสาราณียธรรม คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึงกัน จะเป็นเหตุให้สังคม ประเทศชาติ และคนทั้งโลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ หากบุคคลใดที่หมั่นบำเพ็ญ บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักของคนรอบข้าง จะเดินทางใกล้หรือไกล ก็สะดวกปลอดภัยเพราะเทวดาคุ้มครองรักษา อยู่ที่ไหนใครก็รัก เมื่อจากไปเขาก็คิดถึง
* ก่อนที่จะกล่าวถึงความสำคัญของสาราณียธรรมทั้ง ๖ ข้อนี้ หลวงพ่อขอยกตัวอย่างผู้ที่บำเพ็ญสาราณียธรรมจนครบบริบูรณ์ แล้วได้ประสบผลดี ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมาเล่าเป็นตัวอย่างก่อน เรื่องมีอยู่ว่า พระติสสเถระ เมื่อออกบวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา และได้รับฟังโอวาทจากพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดตลอดมา เป็นพระที่สมบูรณ์ด้วยสิกขา ๓ คือ มีศีล สมาธิ ปัญญาที่บริสุทธิ์บริบูรณ์มาก ครั้นครบ ๕ พรรษาแล้ว ท่านขอโอกาสปลีกตัวไปบำเพ็ญกัมมัฏฐานตามลำพัง ณ ถ้ำแห่งหนึ่ง แม้จะอยู่รูปเดียว แต่ท่านก็มีจิตประกอบด้วยเมตตา หมั่นเจริญสาราณียธรรมอยู่เนืองๆ ไม่เคยขาดเลย
วันหนึ่ง พระมหาเถระ ๕๐ รูป เดินทางมาเยี่ยมเยียนท่านถึงที่พัก ท่านได้ต้อนรับด้วยความยินดี และบำเพ็ญอาคันตุกวัตรซึ่งเป็นวัตรสำหรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างดีเยี่ยม คอยจัดแจงน้ำดื่มน้ำใช้มาเตรียมไว้ ทั้งยังกุลีกุจอจัดหาสถานที่พักตามถ้ำต่างๆ ท่านได้อำนวยความสะดวกทุกอย่างให้พระอาคันตุกะได้อาศัยอยู่อย่างสะดวกสบายทุกรูป
รุ่งขึ้น พระเถระทั้ง ๕๐ รูป ได้ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน แต่ไม่ได้รับบิณฑบาตจากญาติโยมเลย เมื่อเห็นว่าสายแล้ว ต่างพากันอุ้มบาตรเปล่ากลับที่พัก เมื่อกลับมาถึง พระติสสเถระก็ออกมารับบาตรจากพระสังฆเถระ ท่านสังเกตเห็นว่าแต่ละรูปไม่ได้รับอาหารแม้แต่ทัพพีเดียว จึงกราบเรียนว่า “ขอให้พระเถระทุกรูปได้นั่งรอในถ้ำนี้ก่อน กระผมขอโอกาสออกไปบิณฑบาตมาถวายเอง”
พระสังฆเถระสงสัยว่า ภิกษุรูปเดียวจะสามารถบิณฑบาตเลี้ยงพระถึง ๕๐ รูปได้อย่างไร จึงถามพระติสสเถระว่า “พวกเรามีกันถึง ๕๐ รูป อุตส่าห์แยกย้ายกันออกไปคนละทาง ยังไม่เห็นใครมีจิตศรัทธามาใส่บาตรแม้แต่คนเดียว แล้วท่านไปรูปเดียว จะมีญาติโยมที่ไหนมาตักบาตร อีกทั้งถึงแม้ได้อาหารมาเต็มบาตร ก็ไม่สามารถที่จะเลี้ยงพระได้ทั้งหมด”
พระติสสเถระตอบด้วยความถ่อมตนว่า “ท่านขอรับ กระผมเป็นภิกษุประจำถิ่น พอที่จะบิณฑบาตมาได้โดยไม่ลำบากจนเกินไป และด้วยบุญของพระเถรานุเถระทั้งหลาย จะทำให้ผมสามารถหาภัตตาหารมาถวายได้ในวันนี้” จากนั้นท่านก็ครองจีวรเดินถือบาตรมุ่งหน้าเข้าไปในหมู่บ้าน พร้อมกับตั้งกัลยาณจิตไปในเบื้องหน้า ให้ผู้มีบุญได้มาทำบุญกับภิกษุสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ
ด้วยอานิสงส์ที่ท่านบำเพ็ญสาราณียธรรมมานาน ทำให้มหาอุบาสิกาผู้ใจบุญท่านหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านที่พระเถระเข้าไปบิณฑบาต เกิดกุศลจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า อยากทำบุญเป็นสังฆทาน นางได้จัดเตรียมน้ำนมและอาหารคอยพระเถระ ทันทีที่พระเถระมาถึงประตูบ้าน นางได้ถวายอาหารจนเต็มบาตร พระเถระรับแล้วก็นำอาหารกลับไปถวายพระอีก ๕๐ รูปที่กำลังรอคอยอยู่ในถ้ำ
พระติสสเถระนำบิณฑบาตพร้อมด้วยข้าวปลาอาหารที่มหาอุบาสิกาจัดเตรียมไว้นั้น เข้าไปถวายพระเถระทั้ง ๕๐ รูป กล่าวเชื้อเชิญให้ท่านฉันตามสบาย จากนั้นได้ถวายอาหารจนพอเพียงแก่ความต้องการของพระเถระทุกรูป ส่วนตัวท่านเองนั้นก็ฉันพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้เท่านั้น
หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว พระสังฆเถระถามพระติสสะว่า “ท่านได้บรรลุโลกุตรธรรมหรือยัง” พระติสสเถระตอบว่า โลกุตรธรรมของท่านนั้นไม่มีหรอก ครั้นถูกถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านคงได้ฌานกระมัง” ท่านก็ตอบปฏิเสธอีก คำตอบของท่านยิ่งทำให้พระมหาเถระทั้ง ๕๐ รูป เกิดความกังขาขึ้นมาในใจ ทั้งอัศจรรย์ใจในคุณธรรมของพระติสสเถระ จึงไต่ถามต่อไปว่า “เมื่อไม่มีคุณวิเศษภายในอะไรเลย ทำไมท่านจึงไม่ลำบากในอาหารบิณฑบาต อีกทั้งเป็นที่รักยิ่งนัก”
พระเถระตอบว่า ท่านได้บำเพ็ญสาราณียธรรมมาตั้งแต่ออกบวช เมื่อท่านบำเพ็ญได้ครบบริบูรณ์แล้ว แม้มีภิกษุแสนรูปต้องการภัต ของที่อยู่ในบาตรก็ไม่มีวันหมด นี่เป็นเพราะอานิสงส์การบำเพ็ญสาราณียธรรมให้บริบูรณ์ เมื่อพระเถระทั้ง ๕๐ รูปฟังแล้วต่างพากันอนุโมทนาสาธุการในคุณธรรมภายในอันยอดเยี่ยมของท่าน ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสมมติสงฆ์ ยังไม่ได้บรรลุโลกุตรธรรมขั้นสูง แต่กลับเป็นผู้มีจิตใจงดงามสูงส่ง มีข้อวัตรปฏิบัติที่น่าเคารพเลื่อมใสยิ่งนัก เมื่อเหล่ามหาเถระพักอาศัยอยู่ ๓ ราตรี ก็ลาจากไปด้วยความประทับใจ
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า อานิสงส์การบำเพ็ญสาราณียธรรม หากทำได้บริบูรณ์แล้ว จะเป็นผู้ที่มีโภคทรัพย์สมบัติตักไม่พร่องกันเลยทีเดียว เพราะด้วยอานุภาพของใจที่แผ่ขยายกว้างออกไปไม่มีประมาณนั้น จะส่งผลให้เราสำเร็จสมปรารถนาในทุกสิ่งอย่างเป็นอัศจรรย์ เพราะฉะนั้น ให้พวกเราตั้งใจมั่นว่า เราจะเข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
เราจะไม่หวงแหนสมบัติที่มีอยู่ จะขจัดความตระหนี่ออกจากใจ ด้วยการแบ่งปันสิ่งของที่ตนเองมีให้แก่ผู้อื่น ให้ตั้งใจมั่นว่าจะหมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ให้ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่ให้พร้อย และประการสุดท้าย คือสัมมาทิฏฐิ หรือสัมมาปฏิบัติใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เราต้องหมั่นปฏิบัติเพื่อให้บรรลุธรรมนั้น หากทำได้เช่นนี้ จะทำให้เราเป็นที่รักที่เคารพของทั้งมนุษย์และเทวา จะได้รับการสงเคราะห์สนับสนุนในทุกเรื่อง จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากการทะเลาะวิวาท มีแต่ความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อเห็นอานิสงส์ใหญ่เช่นนี้แล้ว ขอให้ตั้งใจนำไปปฏิบัติให้ได้กันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* มก. เล่ม ๓๖ หน้า ๕๔๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น