++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คุณค่าและประโยชน์ ของพระพุทธศาสนา

คุณค่าและประโยชน์
ของพระพุทธศาสนา
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๙

การฟังเทศน์ต้องเข้าใจหลัก ถ้าฟังไม่ถูกฟังไม่เป็นก็จะไม่ค่อยได้ความเข้าใจ ธรรมะเป็นของสงบ เป็นเรื่องสงบ ถ้าหากเป็นเรื่องยุ่งแล้วไม่ใช่เรื่องธรรมเป็นเรื่องโลกไป เหตุนั้นเมื่อท่านเทศนาธรรม เราก็จะต้องทำตัวของเราคือ กาย วาจา ใจของเราให้สงบเสียก่อน สำหรับรับธรรมะอันสงบนั้น มันจึงจะเข้ากันได้กับธรรมที่ท่านแสดงเพื่อความสงบ เช่นนี้เราจึงจะเข้าใจและได้รับรสชาติของธรรมทำอย่างไรเราจึงจะสงบ ปรกติกายเราก็ไม่สงบ มีการเคลื่อนไหวไปมา วาจาก็พูดนั่นพูดนี่ ใจเราก็วอกแวก วุ่นวายส่งส่ายไม่สงบสักอย่างเดียว บางทีกายสงบวาจาสงบแต่ใจไม่สงบ ดังนั้นจึงต้องทำความสงบพร้อมกันทั้งสามอย่างแล้วจึงค่อยฟังธรรมต่อไป
วันนี้จะอธิบายถึงเรื่อง คุณค่าและประโยชน์ของพุทธศาสนา ศาสนาเป็นของดีมีค่าแต่คนเราไม่ค่อยเข้าใจถึงเรื่องพุทธศาสนา ก็เลยเห็นว่าศาสนาเป็นของไร้ค่าหาประโยชน์มิได้ หรือได้ประโยชน์น้อยมีค่าน้อยอย่างนี้เป็นต้น คนเรามักเข้าใจผิด ๆ คิดผิดจากหลักตามเป็นจริง พุทธศาสนาสอนกว้างขวาง คือว่าสอนคนทุกระดับที่เกิดมา แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่พอจะอบรมสั่งสอนได้พระองค์ก็สอนเหมือนกัน พุทธศาสนาสอนอะไร หรือศาสนาทุกศาสนาสอนอะไรกัน ศาสนาสอนให้ละความชั่วคือไม่ให้ประพฤติความชั่ว แล้วก็ให้ประกอบคุณงามความดี พูดง่าย ๆ ว่าละชั่วทำดี หลักของศาสนาทุกศาสนามีอย่างนี้ ตามลำพังการที่จะละการทำชั่วทางกายทางวาจานั้นมันทำได้ยากเพราะมีเจ้านายอยู่คนหนึ่งคือ ใจ มันเป็นตัวบังคับบัญชาให้กายให้วาจากระทำธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พากันรักษาใจอีกทีหนึ่ง ควบคุมใจให้ได้อีกอย่างหนึ่งจึงจะครบพร้อมมูลบริบูรณ์ เราจะไปบังคับให้กาย วาจาละชั่วอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องบอกหรือสอนให้ใจบังคับใจให้อยู่เสียก่อนจึงจะบังคับกายวาจาให้อยู่ในอำนาจได้ อันนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา
ทีนี้มาพิจารณากันดูว่าหลักนี้จะเข้ากับสังคมของมนุษย์เราหรือไม่ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดมันจะเข้ากันได้หรือไม่ ลองคิดดูยุคใดก็ตามคนต้องการทำชั่วหรือทำดีหากพูดถึงเรื่องข้อเท็จจริงแล้ว ทุกยุคทุกสมัยทุกคนต่างก็ชอบทำดีกันทั้งนั้นไม่มีใครต้องการชั่วสักคนเดียว จึงนับว่าเข้ากันได้กับหลักพุทธศาสนา พุทธศาสนากับสังคมนิยมนั้นเข้ากันได้ดีที่สุดทุกกาลสมัย ทีนี้ทำไมคนจึงละชั่ว ทำดีไม่ได้ทั้งๆ ที่เห็นอยู่รู้อยู่ว่ามันชั่วไม่ดี ที่ทำไม่ได้ก็เนื่องจากว่าพวกเราไม่เอาหลักของพุทธศาสนาไปใช้ก็เลยละชั่วไม่ได้ทำดีไม่ได้ แล้วคราวนี้เราจะไปโทษว่าศาสนาไม่มีค่าและไม่คุ้มค่าในการถือศาสนาในการปฏิบัติบำรุงศาสนาไม่ได้เด็ดขาด เมื่อผู้ไม่ปฏิบัติไม่ทำตามคำสอนของศาสนานั้นๆ แล้ว จะไปโทษศาสนาไม่ได้ ต้องโทษคนเราซิ แต่นี่คนเราไปโทษศาสนา ไม่ได้โทษบุคคลผู้กระทำกัน นี่พากันเข้าใจผิดอย่างนี้ คนเรายุคนี้สมัยนี้ส่วนใหญ่เข้าใจศาสนาผิดตรงนี้ หลักของศาสนาท่านสอนไว้อีกอันหนึ่งว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หลักอันนี้เดี๋ยวนี้ยิ่งเข้าใจผิดกันมาก เข้าใจผิดอย่างฟ้าเป็นดินทีเดียว ชอบพูดกันว่า ทำชั่วได้ดีมีถมไป ทำดีได้ดีมีที่ไหน ท่องจดจำกันคล่องปากที่สุด ของไม่ดีแล้วช๊อบชอบใครๆ ก็ชอบเพราะถูกกับใจของตน ในทางพุทธศาสนากล่าวว่ามันถูกกับกิเลสของตน ชอบเพราะตนชอบทำชั่ว ทำดีไม่ได้เพราะไม่สามารถบังคับตนเองให้ทำดีได้ เลยชอบทำชั่ว ความชั่วมันเป็นของไหลเป็นของต่ำ ๆ นี่อาตมาพูดตามภาษาของบ้านเราง่าย ๆ ที่เราเรียกกันว่าเหลวไหล ทำไมจึงต้องเหลวไหล เพราะมันเหลว เมื่อมันเหลวก็ต้องไหล ไหลก็ต้องลงสู่ที่ต่ำ ความชั่วคือมันเหลวไหล มันตกลงไปที่ต่ำจึงต้านทานและกีดกันไว้ได้ยาก อันนี้เป็นเหตุให้คนไม่ค่อยเชื่อพุทธศาสนาที่สอนให้ละชั่วแล้วทำดี โดยมากเข้าใจตื้น ๆ กันว่าทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป เพราะคนใดคอยปล้นสะดมเขา ขโมยของเขา หรือขี้เกียจประกอบภาระกิจทำการงาน มีแต่ฉ้อโกงลักขโมยของเขากลับเป็นคนมั่งมี หรือแม้แต่ทำราชการก็เหมือนกัน ใครซื่อสัตย์ตรงไปตรงมานายไม่ค่อยจะเลี้ยง ต้องประจบประแจงจึงค่อยเลี้ยง การงานไม่ค่อยเอาเรื่องคอยหาอัฐหาเงินทองมาบำรุงให้เจ้า ๆ นาย ๆ อันนั้นเขาชอบเขาเลี้ยงไว้กินเลี้ยงไว้บำรุงกระเป๋าของเขา คนเห็นแบบนี้ทั่วไปจึงว่าทำชั่วได้ดี ถ้าใครทำดีตรงไปตรงมาแล้วทำราชการไม่ค่อยจะได้อยู่ใกล้ผู้หลักผู้ใหญ่ มักจะถูกโยกย้ายไปอยู่ในที่กันดาร นี่เขาเห็นกันอย่างนี้ทั้งบ้านทั้งเมืองเต็มบ้านเต็มเมืองก็เลยเข้าใจว่าทำ ชั่วได้ดีมีถมไป
ในทางพุทธศาสนาไม่ได้สอนเพียงแค่นี้ ไม่ได้สอนแต่กาย ศาสนาพุทธสอนทั้งกาย ทั้งใจ สอนทั้งวัตถุธรรมและนามธรรม สอนทั้งสองอย่างเป็นคู่กันไป ตัวอย่างเช่น ท่านสอนให้ขยันหมั่นเพียรทำมาหาเลี้ยงชีพประกอบภาระกิจและให้ตั้งอยู่ใน สุจริตธรรม นี่แสดงว่าสอนทั้งวัตถุธรรมและนามธรรมไปพร้อมกัน ไม่ใช่สอนให้กอบได้โกยเอา มีอะไรเอาทั้งนั้นได้แล้วเอาเลยโดยไม่คำนึงถึงว่าสุจริตหรือทุจริต อย่างนั้นไม่ใช่ พระองค์ไม่ได้ทรงสอนอย่างนั้น ทรงสอนให้รู้จักพอดีพองาม ให้รู้จักสิ่งที่ผิดสิ่งที่ถูก คือมีใจเป็นคนรู้ พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ เหตุนั้นที่ว่าเข้าใจกันในสมัยนี้ว่าทำชั่วได้ดีมีถมไปเช่นพวกฉ้อโกง ปล้นสะดม ปล้นจี้เรียกค่าไถ่ โจรสลัด โจรอากาศพวกนี้ร่ำรวยที่สุด คราวนี้สมมติว่าตัวของเราเป็นผู้ทำอย่างนั้น เราจะคิดอย่างใดบ้าง ในใจของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องใจไปพร้อม ๆ กัน เรามาลองพิจารณาตามที่พระองค์ทรงสอนดู เมื่อเราคิดที่จะฉ้อโกงปล้นสะดมเขาอย่างที่ว่านี้แหละ ใจเราจะต้องคิดแต่ส่วนตัวเห็นแก่กระเป๋าของเรา ไม่ได้คิดถึงความเดือดร้อนของคนอื่น หากว่าเขามาทำเช่นนั้นกับเราจะเห็นเป็นอย่างไรล่ะ แน่นอนเราก็จะต้องเดือดร้อนเสียใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปทำกับเขา เขาก็เป็นทุกข์เดือดร้อน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เมื่อเราเชื่อฟังปฏิบัติตามเราก็ไม่ไปฉ้อโกงเขา และคนอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน ก็จะอยู่ด้วยกันอย่างสงบมีความสุขพระองค์ทรงสอนทางใจอย่างนี้
ใจของคนนั้นมันต่ำเหลวไหล มันไหลลงไปทางต่ำ พระองค์ทรงสอนให้พัฒนาทางด้านจิตใจให้มันสูงขึ้นมา มันเห็นแก่ตัวก็ทรงสอนให้กำจัดเสีย และให้รู้จักเฉลี่ยความสุขแก่กันและกันตามสมควรแก่อัธยาศัย หรือทำเต็มความสามารถที่จะทำให้ยิ่งเป็นการดี ทีนี้มาคิดดูอีกต่อไปถึงผลประโยชน์ หากเราทำได้อย่างที่อธิบายมานั้นจะดีหรือไม่ โลกเรานี้จะเป็นสุขไหม แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธ ถ้าเราต่างเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มันก็เป็นญาติมิตรสนิทสนมกันทั่วหมดทั้งโลกเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนเพียงพวกเราพุทธศาสนิกชนเท่านั้น ตามที่ว่ามานี้เป็นการทรงสอนมนุษย์ชาวโลกทั้งหมด ตัวอย่างคำสั่งสอนอีกอย่างหนึ่ง เช่น เขาโกรธเราแล้วเราไม่โต้ตอบเขา เราไม่มีปากมีเสียงนิ่งเฉย เขาก็หาว่าเราโง่ ไม่ดีไม่มีความรู้ความฉลาดความสามารถโต้ตอบเทียมทันเขา แต่เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเราได้ยินได้ฟังมา พระองค์ทรงสอนทุกคน แต่ว่าคนนั้นเขาไม่มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง ไม่มีโอกาสที่จะได้รู้เรื่องธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเขาจึงไม่ สามารถระงับจิตใจของเขาได้ เราเป็นผู้ได้ยินได้ฟังเราจึงต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อมาบวกลบกันแล้วจะเห็นว่าในระหว่างสองคน คนหนึ่งไม่มีธรรมอีกคนหนึ่งมีธรรมแบ่งครึ่งกันขึ้นก็ดีขึ้นมาเป็นครึ่งหนึ่ง แล้วในระหว่างสองคน คราวนี้ถ้าว่า ๒ พรรคหรือ ๒ ประเทศมันก็ดีขึ้นมาครึ่งหนึ่งแล้ว แล้วจะเอาอะไรกันอีก การคิดตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้คิดอย่างนี้จึงจะถูก จะเห็นว่าการที่พัฒนาจิตใจไปพร้อมกันกับทางด้าน วัตถุนั้น เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญอย่างแท้จริง และในเวลาเดียวกันพระพุทธศาสนาก็เจริญไปพร้อมกันด้วย เป็นการเจริญอย่างครบถ้วน พร้อมมูลบริบูรณ์ คุณค่าของพระพุทธศาสนาดีเด่นอย่างนี้มีประโยชน์มากอย่างนี้ถ้าปฏิบัติถูก เข้าใจถูกและปฏิบัติให้เป็นไปได้ตามคำสั่งสอนของพระองค์
พระพุทธเจ้าทรงสอนหลายเรื่องหลายอย่าง หลายปริยาย เช่นเรื่องคิหิปฏิบัติ คือคำสอนฆราวาส เริ่ม ต้นตั้งแต่เด็กขึ้นไป คือหน้าที่ของลูก ของบิดามารดา ของผู้ครองเรือนภรรยาสามี รู้จักให้สิทธิให้อำนาจแก่กันและกัน เห็นอกเห็นใจกัน รู้จักบุญคุณของกันและกัน สนองบุญคุณซึ่งกันและกัน ท่านสอนเบื้องต้นตั้งแต่ฆราวาสเรื่อยขึ้นไป มิใช่ท่านจะสอนให้เราออกบวชให้เราไปมรรคผลนิพพานด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ ไม่ได้ทรงสอนอย่างนั้น หลักใหญ่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวโลกมีธรรมะ ให้พวกเราปฏิบัติถูกต้องเท่านั้นเพราะเป็นการนำมาซึ่งความสุขความสบายแก่ตน การอยู่ด้วยกันนับตั้งแต่คนสองคนขึ้นไปต้องปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมจึงจะ อยู่อย่างมีความสุขความสบายตามกำลังความสามารถของตน ถ้าพิจารณาต่อไปจะเห็นว่าดีขึ้นมากกว่านั้นอีกคือ คนเราถ้าาหากว่าเกิดขึ้นมาเพื่อประกอบอาชีพหาใส่ปากใส่ท้องเพียงอย่างเดียว ด้านจิตใจไม่เจริญมันก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉานโดยทั่วไป ถึงแม้จะเจริญก้าวหน้ามากทางวัตถุด้วยประการต่าง ๆ ก็ตามเถิด ถ้าหากด้านจิตใจเสื่อมเสียแล้วเรื่องวัตถุที่เจริญนั้นไม่มีประโยชน์เลย มีแต่จะให้โทษทำลายซึ่งกันและกัน อาตมาจึงพูดเปรียบให้ฟัง การทำมาหากินที่แย่งกันแข่งขันกัน มีแค่นี้แล้วไม่พอทะเยอทะยานหาให้มากขึ้นอีก รวยไม่มีวันพอ จะมีความสุขจากเงินทองที่หามาไหม อีกพวกหนึ่งเขาทำมาหาเลี้ยงปากท้องพอกินพอใช้อยู่ไปวันหนึ่ง ๆ ไม่ต้องหาความร่ำรวยละ ขอให้มีอันอยู่อันกิน ต่างก็จงรักภักดีปรองดองซึ่งกันและกัน ลองคิดดูอะไรจะเป็นสุขกว่ากัน ทางพุทธศาสนาท่านสอนการพัฒนาทางด้านจิตใจไปพร้อม ๆ กันกับทางด้านวัตถุนั้นถูกไหมดีหรือไม่ เอาละถึงแม้สมัยนี้จะเจริญทางด้านวัตถุไปแล้วก็ตาม ถ้าหากว่าด้านจิตใจจะเจริญไปด้วยพร้อม ๆ กันพวกเราจะยิ่งได้ความสุขยิ่งกว่าปัจจุบันนี้อย่างนับไม่ถ้วนทีเดียว ถ้าหากพวกเราเข้าใจหลักของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแท้จริงแล้ว จะเห็นประโยชน์และคุณค่าของพระศาสนาจะมากมายหาที่เปรียบมิได้ ความสุขอะไรจะมาเท่าความสุขที่เกิดจากความสงสารเมตตาปรานีและโอบอ้อมอารี ซึ่งกันและกันไม่มี การมีเงินมีทองถ้าหากปราศจากคุณธรรมทั้งหลายนี้แล้วก็ไม่คุ้มค่ามีแต่จะนำมา ซึ่งความเดือดร้อนถ่ายเดียว นี่แหละถึงพูดว่าอยากอวดคุณค่าของศาสนา ศาสนามีประโยชน์อย่างนี้ แต่ว่าอาตมาเป็นผู้อวดถ้าพวกคุณทั้งหลายฟังไม่เข้าใจตามที่อธิบายมานี้มันก็ อย่างว่านั่นแหละ คุณทั้งหลายอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้
ที่ว่าศาสนาสอนถึงเรื่องนรกสวรรค์ชั้นฟ้านั้นอย่าเพิ่งไปพูดถึง เรื่องนั้นเลย อันนั้นของมองไม่เห็น มาเอาคำสอนของที่เห็นที่เป็นประโยชน์ในปัจจุบันนี่ดีกว่า ท่านสอนให้ทุกคนค่อยดีขึ้นมีการพัฒนาทั้งกายและใจทั้งทางด้านวัตถุและ นามธรรมให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน คนยิ่งจะได้รับความสุขความสบาย ส่วนผู้ที่จะเจริญไปขั้นสูงนั้นมันไปเองหรอก เบื้องต้นขอให้ตั้งรากฐานของธรรมนี้เอาไว้ให้มั่นคงเสียก่อน เมื่อเห็นคุณค่าด้วยตนเองแล้วมีศรัทธาที่จะรักษาศีลห้าเป็นนิจหรือศีลแปด ตลอดชีวิต หรือจะบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพระเป็นเณรอะไรก็ตาม อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก หากจะมีคำแย้งขึ้นมาว่าถ้าบวชเป็นพระมาก ๆ ก็เอาเปรียบผู้อื่นน่ะซิ ไม่ทำมาหากินพึ่งพาคนอื่นเขา กินแล้วก็ขี้เกียจขี้คร้านเลยไม่คิดที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเมือง อันนั้นขอให้คิดทั่วถึงใหม่อีกที พวกลูก ๆ หลาน ๆ ของเราเกิดขึ้นมามันทำประโยชน์อะไรให้แก่เราบ้าง เรียนหนังสือจนกระทั่งจบก็เป็นเวลา ๒๐ ปีแล้ว เราหรือพ่อแม่ทั้งหลายต้องเลี้ยงดูมาหมดไปเท่าไรแล้ว มันทำประโยชน์อะไรให้แก่เราบ้าง บางคนผลาญทิ้งสิ้นไปตั้งเยอะแยะ เรียนสำเร็จแล้วทำอะไรให้แก่เราบ้าง และทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมีกี่คนคิด ๆ ดูซิ คนพวกที่มาบวชในพุทธศาสนานั้นน่ะอย่างน้อยที่สุดก็ทรงไว้ซึ่งเพศสมณะ เป็นที่สำหรับให้พวกที่ยังไม่ได้บวชหรือพวกที่ยังไม่ได้คบค้าสมาคมได้เห็น ผู้ปฏิบัติดีมีศีลธรรม เป็นเครื่องวัดความดีของพวกชาวบ้านและญาติโยม ถึงพระจะเลวสักเท่าไรก็เรียกว่ายังพออดทนอยู่ได้ในพุทธศาสนา อย่างน้อยที่สุดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็ยังมีถึงแม้จะไม่ครบ ๒๒๗ แต่ฆราวาสพวกเราบางคนตั้งแต่วันเกิดจนวันตายศีล ๕ สักตัวเดียวก็ไม่เคยรักษา เห็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพระภิกษุสามเณรก็อย่าเพิ่งถือว่าเลวทั้งหมด การเหมาเอาว่าพระภิกษุเหมือนกันทั้งหมดก็ยังไม่ถูก พุทธศาสนาไม่ได้หมายเอาที่พระหมายเอาการปฏิบัติต่างหาก พระนั้นอยู่ที่บุคคลแต่ศาสนาไม่ได้อยู่ที่บุคคล ศาสนาเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าบุคคลปฏิบัติผิด ก็เป็นเรื่องบุคคลผิด ไม่ใช่ศาสนาผิด ศาสนาก็ยังสอนตรงไปตรงมาอยู่ตามเดิม สอนให้ละชั่วทำดีอยู่ตามเดิมแต่คนไม่ปฏิบัติตาม เมื่อเราปฏิบัติตามคำสอนไม่ได้จะหาว่า ศาสนาไม่ดีไม่ได้ นี่ให้พิจารณาอย่างนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ใครจะทำผิดทำเลวทรามอย่างไรเป็นเรื่องศาสนาเสื่อมหมด ยกให้ศาสนาไม่ดีทั้งนั้น บางทีแม้แต่คนเข้าวัดเข้าวามาฟังเทศน์ฟังธรรมรักษาศีลอบรมภาวนาทำกัมมัฏฐานแสดงกิริยาโกรธกริ้วขึ้นสักทีหนึ่งก็ โอโฮ ! กล่าวโทษว่าศาสนานี้ไม่ดีเลย เข้าวัดเข้าวาจนแก่จนเฒ่าแล้วยังละโลภโมโทสันไม่ได้ พูดอย่างนี้มันก็ผิดไป อย่าพูดอย่างนั้น นั่นเรื่องของบุคคล ศาสนาสอนให้ละ แต่บุคคลไม่ละ ไม่ทราบจะทำอย่างไร ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้แล้วก็สบาย
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร ขอตอบว่า เมื่อเขาไม่ทำ เราทำ พากันคิดมานะขึ้นสักคนหรือทุกคนคิดมานะขึ้นมา ลองดูซิ เขาไม่ทำเราทำ กระทำเป็นตัวอย่างเขา ทีนี้มันไม่เป็นเช่นนั้นน่ะซี ส่วนมากพอเห็นเขาไม่ทำเราก็เลยไม่ทำ เลยพลอยไม่ดีไปตามเขา เมื่อเราไม่ดีก็คอยกล่าวโทษคนอื่น ต่างคนต่างโทษซึ่งกันและกันเป็นเรื่องเดือดร้อนวุ่นวาย แล้วมันจะดีได้อย่างไร จึงว่าอย่าไปโทษศาสนา ศาสนาสอนดี สอนให้ทุกคนพัฒนาตนเองทั้งกายและใจ ไม่ได้สอนพัฒนาแต่กาย ชาวโลกเดี๋ยวนี้เขาสอนพัฒนากันแต่ส่วนทางกาย พัฒนาจนถึงขนาดนี้แล้วแทนที่โลกจะได้รับความสุขเยือกเย็นแต่โลกกลับเดือด ร้อนยิ่งกว่าเก่า นี่ก็แสดงว่าพัฒนายังไม่ถูกต้อง ถ้าหากพัฒนาตามทางพุทธศาสนาคือพัฒนาไปพร้อมกันทั้งกายและใจแล้ว ชาวโลกจะได้รับความเยือกเย็นสักขนาดไหน อันนี้ยังไม่มีใครทำ อย่างไรก็ตามเท่าที่อธิบายมานี้ก็พอให้เห็นคุณประโยชน์ของการพัฒนาพร้อม ๆ กันไปแล้วว่าคงจะมีความสุขแน่ ศาสนาสอนให้ได้รับความสงบไม่ใช่สอนให้เดือดร้อนวุ่นวาย เมื่อเราสงบแล้วคนอื่นยังไม่สงบก็ปล่อยไปเสียก่อน ถ้าทุกคนต่างพากันทำความสงบแล้วจะได้รับความสุขความเยือกเย็นขนาดไหน ลองหลับตาคิดดูก็แล้วกัน
ที่พากันมาอบรมทางศาสนามาฟังธรรมเทศนาในวันนี้จึงอยากอธิบายให้ เข้าใจ หลักสำคัญที่ท่านวางไว้ว่า ละชั่วทำดี หรือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ใช่ทำชั่วได้ดี คำว่า ดี ในที่นี้อย่าไปเข้าใจถึงเรื่องภายนอก ท่านหมายเอาภายใน เราทำชั่วแล้วใจไม่สบายนั่นแหละเรียกว่าไม่ดี สมมุติว่าเราขโมยสตางค์ของพ่อแม่มาสักห้าบาทสิบบาท ลองคิดดูสิพ่อแม่ของเราท่านก็คงไม่ว่าอะไรหรอก แต่จิตใจของเราจะรู้สึกอย่างไรบ้างในขณะที่ขโมยเอาของท่านไปนั้น หรือเราไปทำผิดในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม คบค้าเพื่อนชั่ว ๆ เลว ๆ หรือไปทำความชั่วด้วยตนเองก็ตามภายในใจจะรู้สึกอย่างไรบ้าง คงมีความรู้สึกนึกคิดในสิ่งที่มันไม่ดี เรียกว่าเศร้าหมองในใจ ท่านเรียกว่า กิเลส ตรงนี้ต่างหากที่เรียกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว การทำชั่วต้องทำลี้ลับไม่มีใครเปิดเผยแสดงว่ามันไม่ดีจึงต้องทำลี้ลับเปิด เผยไม่ได้ เปรียบเหมือนกับแผล สมมติว่าเป็นแผลที่หน้าแข้งเหวอะหวะเหม็นหึ่ง ใครจะไปเปิดให้คนเห็น เราต้องเอาผ้าพันไว้เพราะมันสกปรกไม่ดีไม่อยากให้ใครเห็น แต่ถ้าสิ่งที่ดี ๆ ละคราวนี้เราไม่ปิดบังเลยมีแต่อยากจะอวดให้พ่อแม่ ให้ผู้ที่เราเคารพนับถือได้รู้ได้เห็นด้วยซ้ำ ถึงจะไม่อวดก็ตามแต่ใจของเราอิ่มเอิบอยู่คนเดียว ยิ้มแย้มแจ่มใสทั้งกายและใจเปิดเผยได้เต็มที่ นั่นคือความดีทำดีได้ดี ถ้าเข้าใจว่าต้องมีคนเขาสรรเสริญเยินยอจึงจะเรียกว่าทำดีอันนั้นเข้าใจยัง ไม่ทันถูกยังไม่ถึงหลักพระพุทธศาสนา หลักของพระพุทธศาสนาต้องเข้าถึงใจของผู้ที่ทำ นี่ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นอย่างที่อธิบายมานี้ อย่าไปอาศัยคนอื่น คนเราทำดีทุกคนนั้นแหละ โดยส่วนมากทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างเข้าใจว่าเป็นของดีจึงทำ อันที่เห็นว่าเป็นของชั่วมักตัดสินเอาจากการที่สิ่งนั้นเป็นการฝ่าฝืนความคิดเห็นของตน การที่จะทราบว่าสิ่งใดเป็นของดีสิ่งใดเป็นของชั่วก็ขอให้วัดดูอย่างนี้ก็แล้วกัน คือถ้าว่าต้องปกปิดแล้วอย่าไปเข้าใจว่าของดี ถ้าทำโดยเปิดเผยแล้วเอาเถิดถึงจะไม่ดีเด่นอย่างไรเสีย มันก็ยังพอใช้ได้ ความดีขอให้วัดดูตรงนี้
อีกนัยหนึ่งอันความดีที่ว่านี้ถ้าทำอะไรลงไปแล้วคนชั่วสรรเสริญ อย่าไปเข้าใจว่าเป็นของดี คนดีสรรเสริญเราจึงค่อยเข้าใจว่าเป็นของดี คนดีเป็นคนชนิดใด คนดี ก็คือคนที่มีเหตุมีผลที่เรียกว่าความดี ดีอย่างไร ความดีที่เราทำนั้นไม่เบียดเบียนตนไม่ทำให้เสียผลประโยชน์ทั้งของตนและคนอื่น คือไม่เป็นเครื่องกระทบกระเทือนทั้งตนและคนอื่นจึงจะเรียกว่าดี ทำอะไรแม้จะดีแสนดีก็ตามแต่มันเป็นเครื่องกระทบกระเทือนคนอื่นแล้ว ความดีอันนั้นใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ของดี นี่เป็นเครื่องวัดของดีของชั่ว เมื่อเข้าใจแล้วรู้แล้วก็มาวัดตัวของเราใจของเราดู แล้วมาวัดผลที่ทำนั่นอีก คือว่าไม่กระทบกระเทือนตนเอง ไม่ทำให้ตนและคนอื่นเดือดร้อนด้วยจึงจะเรียกว่าดี
ถ้าเราเข้าใจหลักของศาสนาโดยนัยที่อธิบายมานี้แล้ว จะสบายใจขึ้น และเรามีความพอใจที่จะเทอดทูนศาสนาให้สืบอยู่ถาวรต่อไป ถ้าเราเทอดทูนรักษาไว้มันจะเป็นการปฏิบัติอันดีงามชักนำคนอื่นให้ทำดีตามเรา อย่าเข้าใจว่าคนอื่นทำดีเสียก่อนแล้วเราถึงจะทำ อันนั้นใช้ไม่ได้ ที่ถูกนั้นถ้าเขาไม่ทำเราต้องทำก่อนเขา ให้เป็นตัวอย่างเขา ได้ชื่อว่าเราเป็นคนนำหรือเราเป็นคนรู้ ถ้าต่างคนต่างคอยให้คนอื่นทำเสียก่อนแล้วเราจึงค่อยทำ ตกลงเลยไม่มีใครทำสักคนเดียว สังคมหมู่นั้นจะเลอะหมดเหลวไหลเหมือนของเก่า คำว่าเลอะ-เหลวไหลแสดงว่ามันกลับคืนไม่ได้ ที่โบราณท่านแสดงไว้ว่านรกอยู่ต่ำใต้แผ่นดิน สวรรค์อยู่บนชั้นฟ้า มันก็อย่างนี้เอง นโยบายแยบคายของคนโบราณลึกซึ้งนักเราคิดไม่ถึงหรอก ของที่ชั่วไม่ดีต้องปกปิดอยู่ที่ต่ำเป็นนรกอยู่ใต้ดิน ของดีเป็นของเปิดเผยจิตใจแจ่มใส ของเบาเมื่อเปิดเผยมันก็ยกสูงขึ้นลอยขึ้นไปบนฟ้าน่ะซี เราไม่เข้าใจไปโทษนักปราชญ์โบราณว่าเขาสอนไม่มีเหตุผลหลอกลวงว่านรกอยู่ใต้ พื้นแผ่นดิน สวรรค์อยู่บนชั้นฟ้า สมัยนี้วิทยาศาสตร์เจริญมากเขาขึ้นไปเหยียบโลกพระจันทร์แล้วไม่เห็นมีสวรรค์ ชั้นฟ้าที่ไหน นี่แหละความเห็นของคนเรากับความเห็นตามหลักพุทธศาสนา มันไกลกันลิบลับอย่างฟ้ากับดิน ถ้าหากเราไม่ศึกษาตามนัยที่อธิบายมานี้แล้วเราจะไม่เข้าใจ
วันนี้อธิบายเพียงเท่านี้ เอวํ



นั่งภาวนา ๓๐ นาที
ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน

ทำไมจึงต้องภาวนากัน ภาวนาทำไมจึงต้องหลับตา ทำไมจึงต้องนั่งขัดสมาธิ นี่แหละมันมีหลายเรื่อง คำว่า ภาวนา นั้นไม่ใช่แต่ว่าจะนั่งสมาธิหลับตาเท่านั้นจะอยู่ในท่าใดอิริยาบถใดได้ทั้งนั้น ภาวนา ไม่ใช่การได้ เป็นการทิ้ง ทิ้งของไม่ดี ชำระของไม่ดีที่มันติดอยู่ที่ใจของเราแต่เราไม่ทราบ ถ้าไม่ค้นหาก็ไม่ทราบและไม่ทราบจะเอาไปทิ้งที่ไหนด้วย เพราะเหตุนั้นจึงมาหัดภาวนาให้มันเห็นของไม่ดีที่อยู่ในใจของเรา แล้วทิ้งของอันไม่ดีนั้นเสีย นี่คือ การ ภาวนา ทีนี้เรายังไม่เคยเห็นใจ เราจึงมาฝึกหัดทำใจให้มันสงบให้มันนิ่งจึงจะเห็น คนเราวุ่นวายเดือดร้อนเพราะใจไม่สงบ ถ้าสงบแล้วไม่วุ่นวายไม่เป็นทุกข์ คนเป็นทุกข์กลุ้มใจเพราะคิดมาก ยึดโน่น ยึดนี่ ถือโน่น ถือนี่ นั่นเป็นของไม่ดี เรามาสำรวมใจ จับเอาตัวใจให้มันได้ ใจเป็นของไม่มีตัวเป็นนามธรรม เราจะเอาสติ คือผู้ระลึกได้เป็นตัวระลึก เมื่อระลึกอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น เช่นระลึกพุทโธไว้ที่กลางทรวงอกของเราก็ตาม หรือจะระลึกพุทโธเอาไว้ตามลมหายใจเข้า - ออกก็ตาม ทำความรู้สึกไว้ตรงนั้นแหละอย่าให้ไปรู้สึกที่ตรงอื่น ทำความรู้สึกเอาไว้เฉพาะตรงจุดที่เราตั้งเอาไว้ตรงนั้น คอยระวังรักษาให้อยู่ในที่เดียว นี่เรียกว่าการฝึกอบรมใจให้มาอยู่ในที่เดียวเสียก่อนเป็นเบื้องต้น การจะให้ใจอยู่มันยากเหมือนกัน ใจมันวิ่งว่อน วุ่นวายสารพัด เลยขี้เกียจรำคาญว่ามันยุ่งมากเหลือเกิน แท้ที่จริงมันไม่มาก เราไม่เคยรวมเข้ามาเลยไม่เห็น ปล่อยให้ของกระจายทั่วบ้านทั่วเมืองจะไปเห็นอะไร คราวนี้ดึงมารวมเข้าอยู่ที่เดียวเลยเห็นเป็นของมาก ความจริงมันมากยิ่งกว่าที่เห็นขณะนั่งภาวนานั้นอีกแต่เราไม่ได้อบรมใจเลยไม่ ทราบ นี่แหละประโยชน์ของการอบรมใจ หรือการนั่งภาวนา หัดรวมใจให้เห็นของไม่ดี คือ ใจมันวุ่นวาย จิตส่งสายไปแล้วไม่ได้รับความสุข เราวุ่นมานานแสนนานแล้วมันก็ไม่เป็นความสุขอะไรเลย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำใจให้สงบจะเกิดความสุข คราวนี้เราจะมาลองหัดสำรวมดูมันจะได้รับความสุขอย่างที่ท่านว่าไหม มันจะเป็นความสุขอย่างไร จะสุขขนาดไหน เอามาเทียบกันดูทีหลัง ตอนนี้ขอให้ทำให้มันจริงลงไปเสียก่อน ทำใจให้อยู่ในจุดเดียวอย่างที่อธิบายนี้ อย่าไปคิดนึกอะไรให้มันมากมาย การคิดจะให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นแล้วจะเป็น อย่างนี้ ปรุงแต่งต่าง ๆ ใจก็ไม่อยู่นิ่งอีกแล้ว มันมีอาการไปอีกแล้ว เพ่งมองในอารมณ์อันเดียวนั่นแหละ อะไรเป็นใจ อะไรเป็นสติ สติ คือผู้ระลึกได้อยู่เสมอ ว่าตรงนี้ ๆ ทำความรู้สึกตรงนี้ให้จดจ่ออยู่ตรงนั้นให้ได้ ผู้ที่รู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ ๆ ความรู้สึกนั้นแหละเป็นใจ รู้สึกอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น จับสติกับตัวใจให้มันได้เสียก่อน ให้รู้จักใจเสียก่อน เมื่อแรกหัดมันก็ดิ้นรนแส่สาย ถ้าเราไม่เอากันจริง ๆ จัง ๆ ให้ชนะมันก็ไม่นิ่งเหมือนกัน ปราบมันให้อยู่สักทีหนึ่งจึงจะเป็นวีรบุรุษได้ การภาวนาเป็นการผจญต่อสู้ ชนะตนได้สักทีนั่นแหละเป็นของดียิ่งกว่าการชนะผู้อื่น พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้อย่างนี้
นั่งขัดสมาธิหรือจะนั่งแบบใดที่สบายก็ตามใจ เบื้องต้นมันจะต้องเมื่อย ปวดนั่นปวดนี่ ต่อไปก็จิตใจไม่สงบไม่อยู่มันส่งสาย นี่แหละคือสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้กัน ใจเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งปวงหมด ถ้าเราคุมใจให้สงบไม่วุ่นวายส่งสายได้แล้ว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าปวดนั่นปวดนี่จะหายไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าใจไม่ไปยึดไม่ไปคำนึงถึงสิ่งใด เราจะเห็นประโยชน์ว่าความสุขเกิดขึ้นจากความสงบเห็นชัดขึ้นมาทันทีทีเดียว

http://www.thewayofdhamma.org/topic/top_39.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น