++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คุณเป็นอย่างที่คุณกิน : สมการความปลอดภัยที่ท้าทายผู้บริโภคไทย โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ใต้ลมโลกาภิวัตน์ ‘คุณเป็นอย่างที่คุณกิน’ (you are what you eat) มิใช่แค่สำนวนเรียกร้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วยการหลี่กเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟูดหรืออาหารขยะ (junk food) ด้วยการกลับมาบริโภคอาหารที่มีโภชนาการ สะอาด ปลอดภัย และเสริมสร้างความสวยงามตามค่านิยมเท่านั้น ทว่าต้องยึดโยงกับการตระหนักเท่าทันสถานการณ์การแย่งชิงฐานทรัพยากรอาหาร (food resources) ที่ทำลายคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย สุขภาวะผู้บริโภค และความมั่นคงทางอาหารของประเทศกำลังพัฒนาโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและบรรษัทเกษตรและอาหารข้ามชาติด้วย

ด้วยกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนานอกจากถูกคุกคามจากการขยายฐานความมั่นคงทางอาหารผ่านกลไกกฎหมายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศโดยประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายแล้ว กลุ่มทุนข้ามชาติที่มีอำนาจเหนือรัฐชาติทั้งด้านนโยบายและกฎหมายยังสยายปีกปกคลุมผืนแผ่นดินและกลืนกินเกษตรกรรายย่อยอย่างตะกรุมตะกลามตามหลักกำไรสูงสุดด้วย

ดังสถานการณ์เมืองไทยที่ความปลอดภัย ความมั่นคง ขีดความสามารถการแข่งขัน และศักยภาพการพึ่งพิงตนเองด้านอาหารไม่ได้ดีขึ้นหลังสิ้นสุดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 (ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2551) ในวันที่ 22 สิงหาคม 2554 เพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด ทั้งคาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และอีพีเอ็น (EPN) ที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้วเพราะตระหนักถึงพิษภัยก็ยังคงสามารถจะขึ้นทะเบียนได้ในเมืองไทยต่อไปตามแรงล็อบบี้กดดันของบรรษัทสารเคมีการเกษตรข้ามชาติ และระดับชาติที่ต้องการขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรงแต่ทำกำไรดีที่ได้แรงบวกจากความไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายของไทยหนุนเสริม

สุขภาวะเกษตรกรและผู้บริโภคจึงเสี่ยงอันตรายต่อไปในท่ามกลางการต่อสู้ของภาคประชาสังคมที่กอปรด้วยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ThaiPAN) ที่คัดง้างการสมประโยชน์ระหว่างการเมืองกับทุนด้วยการเสนอชุดข้อมูลความสูญเสียระดับพื้นที่ ผลทางการแพทย์ที่พบว่าผู้บริโภคมีสารเคมีปนเปื้อนในกระแสเลือดเหมือนเกษตรกร และข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าสารเคมีเหล่านี้นำไปสู่โรคร้ายแรง โดยเฉพาะมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยสูงสุด

สมการความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คาร์โบฟูราน + แตงโม = อสุจิตายหรือผิดปกติ’ ‘เมโทมิล + คะน้า = DNA ถูกทำลาย’ ‘ไดโครโตฟอส + กวางตุ้ง = ยีนผิดปกติและกลายพันธุ์’ และ ‘อีพีเอ็น + ถั่วฝักยาว = ไขสันหลังผิดปกติหรืออัมพาต’ พิสูจน์ชัดถึงความจำเป็นเร่งด่วนของสังคมไทยในการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรงเหล่านี้เพื่อคุ้มครองสุขภาวะเกษตรกรจากการใช้สารเคมีนี้ในการเพาะปลูกตามแรงโฆษณาชวนเชื่อ และผู้บริโภคที่บริโภคผักผลไม้ปนเปื้อนที่วางขายในตลาดสดและโมเดิร์นเทรด ที่สำคัญเป็นการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และการรักษาตลาดสินค้าเกษตรส่งออก

ทั้งนี้จะแก้สมการนี้เพื่อปลดเปลื้องพันธนาการหนี้สินและโรคร้ายแรงได้ก็ต่อเมื่อยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิดนี้โดยอาศัยพลังผู้บริโภครวมตัวกันต่อต้านการขึ้นทะเบียนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ (stakeholders) อย่างน้อยสุดก็แง่มุมของการปกป้องสุขภาพตนเอง เพราะกระบวนการกดดันเคลื่อนไหวของผู้บริโภคจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระบบเกษตรและอาหารจากการขยายตัวของความปลอดภัยจากการขยายตัวของเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เกษตรลดต้นทุน

หรือกระทั่งการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทดแทน เช่น สปินโนแซด ไดอะเฟน ไธยูรอน ในฐานะ ‘ทางเลือกทางนโยบายที่หยุดยั้งความตายของผู้บริโภคและการล้มละลายของเกษตรกรรายย่อย’ อันเนื่องมาจากภาครัฐต้องรับฟังผู้บริโภคในฐานะเสียงที่ทรงพลัง และภาคธุรกิจต้องตระหนักถึงความสำคัญในฐานะลูกค้า

กระบวนการขึ้นทะเบียนโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์บรรษัทสารเคมีบนความสูญเสียของสังคม ตลอดจนกำหนดกฎหมายหรือนโยบายเกษตรและอาหารที่คำนึงถึงสุขภาวะจึงเรียกร้องพลังผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมกำกับการบริหารจัดการบ้านเมืองของรัฐบาลให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ (national interest) มากกว่าบรรษัทข้ามชาติโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรและผู้บริโภคเป็นตัวชี้วัดสำคัญ อันจะต้องก้าวหน้ากว่าอเมริกาที่ตลกร้ายห้ามผลิตคาร์โบฟูรานเพื่อใช้ในประเทศตามคำพิพากษาศาล แต่กลับส่งมาขายในไทยโดยบรรษัทเคมียักษ์ใหญ่เป็นกลจักร ดังปี 2553 ที่ไทยนำเข้าคาร์โบฟูรานถึง 5,301,161กิโลกรัม มูลค่า 148,870,091 บาท และทะยานขึ้นอีกเกือบเท่าตัวภายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554

สภาวะจำนนสยบยอมของสังคมไทยใต้ปีกโลกาภิวัตน์ทุนนิยมเสรีสร้างวิกฤตตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะเกษตรกร ผู้บริโภค ความมั่นคงทางอาหาร จนถึงสิทธิทางอาหาร (Right to food) ที่เป็นหลักการคุ้มครองมนุษย์ทุกคนให้เข้าถึงอาหารได้เพียงพอและปลอดภัย ไม่เท่านั้นยังละเมิดหลักการสำคัญของรัฐที่ต้องปกป้องประชากรตนเองอันเป็นไปในทิศทางเดียวกับอเมริกาที่ปกป้องพลเมืองตนเองจากการห้ามใช้คาร์โบฟูรานในประเทศ ทว่าไทยต้อง ‘ก้าวหน้า’ กว่าเพราะปวารณาตัวเป็นครัวโลกซึ่งความปลอดภัยของผลผลิตเป็นสิ่งสำคัญ แต่แม้จิตไม่สากลพอจะมองประโยชน์ผู้บริโภคนอกประเทศก็ต้องมองถึงความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคไทยเป็นสำคัญด้วยการเลิกขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ชนิดนี้

หรือกรณีนี้ไทยจะ ‘ล้าหลัง’ กว่าเพื่อนบ้านพม่าที่ห้ามผลิต/ใช้อีพีเอ็นแล้ว? หรือนี่คือการสมาทานแนวคิดทุนนิยมเสรีที่ไทยภาคภูมิใจว่าจะขายสารพิษอะไรก็ได้ตราบใดกฎหมายเปิดช่อง?

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าข้อเสนอให้ระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรง 4 ชนิดนี้จะได้รับการขานรับจากคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และสมัชชาปฏิรูประดับชาติถึงความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมและอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร แต่ทว่าการขาดไร้ซึ่งพลังของผู้บริโภคในการร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อทานอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) และพรรคการเมืองซึ่งล้วนแล้วแต่มีบรรษัทการเกษตรและอาหารหนุนหลังก็พังทลายความหวังในการปฏิรูประบบสารเคมีเกษตรประเทศไทย

ดังนั้นในการหนุนเคลื่อนนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบาย (policy advocacy for policy change) ด้านเกษตรและอาหารจึงเรียกร้องพลังผู้บริโภคที่มากกว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยการปรับกระบวนทัศน์ว่าด้วย ‘คุณเป็นอย่างที่คุณกิน’ (you are what you eat) ให้ครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อปลดล็อกสมการความไม่ปลอดภัย เพราะการเลือกบริโภคอาหารมังสวิรัติหรือการซื้อหาอาหารในโมเดิร์นเทรดต่างๆ ใช่จะปราศจากสารพิษตกค้างเพราะปัจจุบันยังมีการใช้สารพิษ 4 ชนิดนี้ในผักผลไม้ยอดนิยมจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น