ชีวิตที่สมบูรณ์ของมนุษย์ ต้องประกอบไปด้วยการกระทำเหล่านี้ ต้องมีการละ ต้องมีการบำเพ็ญ ต้องมีการชำระ ฉะนั้นในการฉลองวันเกิด เราก็ฉลองในฐานะที่การเกิดครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เรามาพบกับพระพุทธศาสนา ได้มาสัมผัสกับหลักสัจธรรมความจริง และได้มีความคิดวิเคราะห์ชีวิตของตนว่า เราเกิดมาทำไม และสิ่งสูงสุดในชีวิตคืออะไรหรือควรจะเป็นอย่างไร
การพิจารณาในเรื่องความเป็นอยู่ของตัวเอง เรื่องคุณภาพชีวิตของตน คือจุดเริ่มต้นของการภาวนา การภาวนาคือการพัฒนาย่อมอาศัยจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ของเราทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้มีแนวทางปรับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ความทุกข์คือความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกนึกคิด การพูด และการกระทำของเรากับความจริงของธรรมชาติ ความทุกข์นี้จึงหายไปโดยสิ้นเชิงด้วยพลังของปัญญาเท่านั้น เราไม่สามารถกำจัดความทุกข์นี้ได้ด้วยวิธีการอย่างอื่น การอ้อนวอนพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ดี การกลบเกลื่อนความทุกข์ด้วยความมัวเมาเพลิดเพลินในความสุขทางเนื้อหนังก็ดี ล้วนเป็นแค่การบรรเทาชั่วคราว เพราะไม่ได้แก้ที่เหตุ
อะไรๆ ก็เหมือนกัน ไม่ดูก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่เข้าใจ เราไม่ยอมมองด้านในก็ไม่เห็นตัวเอง ไม่เห็นก็ไม่เข้าใจ คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบพูดว่า เขาไม่เห็นว่าศาสนามีความจำเป็นอะไรแก่ชีวิต เขามีความสุขพอสมควรแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรนักหนา และไม่เคยสร้างความเดือดร้อนแก่ใครๆ (พอกล่าวคำนี้ ผู้ใกล้ชิดมักจะต้องอมยิ้มหรือส่ายหัวนิดๆ) คนที่มองอย่างนี้ มักขอให้หาความสุขแบบชาวบ้านก่อน คือ เขามองธรรมะเป็นยาสมุนไพรขมๆ ที่ควรเอาไว้ในอนาคตโน้น ตอนจวนหมดบุญ รักษาทางอื่นไม่ได้ผล ไม่มีทางเลือกแล้วจึงค่อยลอง นี่คือความประมาท ทำไม เพราะมองไม่เห็นเนื้อร้ายที่เกิดที่หัวใจเสียแล้ว ซึ่งธรรมะเท่านั้นที่ขจัดได้ เป็นความคิดที่เกิดจากการไม่มองด้นใน ไม่ดูก็ไม่เห็นปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่แล้ว และคอยบั่นทอนคุณภาพชีวิตตลอดเวลา
โดย ชยสาโร ภิกขุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น