++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อรรถกถา เตสกุณชาดก ว่าด้วย นกตอบปัญหาพระราชา

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ด้วยสามารถโอวาทแก่พระเจ้าโกศล มีคำเริ่มต้นว่า เวสฺสนฺตรํ ตํ ปุจฺฉามิ ดังนี้.
ความพิสดารว่า พระศาสดาตรัสเรียกพระราชานั้น ซึ่งเสด็จมาทรงสดับพระธรรม มารับสั่งว่า ดูก่อนมหาบพิตร ธรรมดาพระราชาควรครองราชย์โดยธรรม เพราะสมัยใดพระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ข้าราชการทั้งหลายก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ดังนี้แล้ว ทรงโอวาทโดยนัยแห่งพระสูตรที่มาในจตุกนิบาต และตรัสพรรณนาโทษและอานิสงส์ในการลุอำนาจอคติและไม่ลุอำนาจอคติ ทรงยังโทษในกามทั้งหลายให้พิสดาร โดยนัยเป็นต้นว่า กามทั้งหลายเปรียบได้กับความฝัน แล้วตรัสว่า
ดูก่อนมหาบพิตร ความผลัดเพี้ยนกับมฤตยูย่อมไม่มีแก่สัตว์เหล่านี้ การรับสินบนก็ไม่มี การยุทธ์ก็ไม่มี ชัยชนะก็ไม่มี สัตว์ทั้งมวลล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า เมื่อสัตว์เหล่านั้นไปสู่ปรโลก เว้นกัลยาณธรรมที่ตนกระทำไว้แล้ว ชื่อว่าที่พึ่งอย่างอื่นไม่มีเลย จำต้องละสิ่งที่ปรากฏเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ไปแน่นอน ไม่ควรที่จะอาศัยยศ ทำความประมาท ชอบที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท เสวยราชย์โดยธรรมอย่างเดียว แม้เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ได้เสด็จอุบัติ โบราณกษัตริย์ทั้งหลายตั้งอยู่ในโอวาทของบัณฑิต เสวยราชย์โดยธรรม เสด็จไปยังเทพนครให้เต็มบริบูรณ์
อันพระเจ้าโกศลทรงทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัส ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี ไม่มีพระราชโอรส ถึงทรงปรารถนาอยู่ก็ไม่ได้พระโอรสหรือพระธิดา วันหนึ่ง พระองค์เสด็จประพาสพระราชอุทยานกับข้าราชบริพารจำนวนมาก ทรงเล่นในพระราชอุทยานตลอดวัน ลาดพระที่บรรทม ณ โคนต้นมงคลสาลพฤกษ์ บรรทมหลับไปหน่อยหนึ่ง ตื่นบรรทมแล้วทรงแลดูต้นรัง ทอดพระเนตรเห็นรังนกอยู่บนต้นไม้นั้น พอทอดพระเนตรเห็นเท่านั้นก็เกิดพระเสน่หา จึงดำรัสเรียกมหาดเล็กคนหนึ่ง มาตรัสสั่งว่า เจ้าขึ้นต้นไม้นี้จงดูให้รู้ว่า ในรังนกนั้นมีอะไรอยู่หรือไม่มี. มหาดเล็กขึ้นไป เห็นฟองไข่อยู่ในรังนกนั้น ๓ ฟอง จึงกราบทูลให้ทรงทราบ
พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าอย่าปล่อยลมหายใจลงบนไข่เหล่านั้น จงแผ่สำลีลงในผอบ วางฟองนกเหล่านั้นไว้ในผอบแล้วค่อยๆ ลงมา ครั้นตรัสสั่งให้มหาดเล็กลงมาแล้ว ทรงรับผอบด้วยพระหัตถ์ ตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า นี่เป็นไข่นกจำพวกไหน? อำมาตย์ทั้งหลายพากันกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบ พวกนายพรานคงจักรู้ พระราชาจึงตรัสสั่งให้พวกนายพรานเข้าเฝ้าแล้วตรัสถาม พวกนายพรานกราบทูลว่า ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ฟองนกเหล่านี้ใบหนึ่งเป็นฟองนกฮูก ใบหนึ่งเป็นฟองนกสาลิกา ใบหนึ่งเป็นฟองนกแขกเต้า ตรัสถามว่า ฟองนกทั้งสามอยู่รวมรังเดียวกันได้หรือ? กราบทูลว่า ได้พระพุทธเจ้าข้า เมื่อไม่มีอันตราย ฟองนกที่แม่กกไว้ดีแล้วย่อมไม่ฉิบหาย
พระราชาทรงดีพระทัย ดำริว่า นกเหล่านี้จักเป็นลูกของเรา โปรดให้อำมาตย์สามคนรับฟองนกไว้คนละฟอง ตรัสสั่งว่า นกเหล่านี้จักเป็นลูกของเรา พวกท่านช่วยประคับประคองให้ดี เวลาลูกนกออกมาจากกระเปาะฟองจงบอกเรา. อำมาตย์ทั้งสามต่างรักษาฟองนกเหล่านั้นเป็นอันดี ในจำนวนฟองไข่เหล่านั้น ฟองนกฮูกแตกออกก่อน อำมาตย์จึงเรียกนายพรานคนหนึ่งมาถามว่า แกรู้ไหมว่าตัวเมียหรือตัวผู้? เมื่อนายพรานนั้นพิจารณาดูแน่แล้วบอกว่าตัวผู้ จึงเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ โอรสของพระองค์เกิดแล้ว พระพุทธเจ้าข้า. พระราชาทรงปลาบปลื้ม พระราชทานทรัพย์แก่อำมาตย์นั้นเป็นอันมาก ตรัสกำชับสั่งไปว่า เจ้าจงประคับประคองลูกเราให้ดี จงตั้งชื่อว่า "เวสสันดร" อำมาตย์นั้นได้กระทำตามพระบรมราชโองการ ล่วงมาอีกสองสามวัน ฟองนกสาลิกาก็แตกออก อำมาตย์คนนั้นจึงให้นายพรานพิสูจน์ดู รู้ว่าเป็นตัวเมีย จึงไปยังราชสำนักกราบทูลว่า ขอเดชะ ราชธิดาของพระองค์เกิดแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พระราชาทรงดีพระทัยพระราชทานทรัพย์แก่อำมาตย์แม้คนนั้นมากมาย แล้วตรัสกำชับส่งไปว่า เจ้าจงประคับประคองธิดาของเราให้ดี และจงตั้งชื่อว่า "กุณฑลินี" แม้อำมาตย์นั้นก็กระทำตามกระแสพระราชดำรัส ล่วงมาอีกสองสามวัน ฟองนกแขกเต้าก็แตก แม้อำมาตย์นั้นก็ให้นายพรานพิสูจน์ดู เมื่อเขาบอกว่าตัวผู้ จึงไปยังราชสำนัก กราบทูลว่า ขอเดชะ โอรสของพระองค์เกิดแล้วพระพุทธเจ้าข้า. พระราชาทรงดีพระทัย พระราชทานทรัพย์แก่อำมาตย์แม้นั้นเป็นอันมาก แล้วตรัสกำชับส่งไปว่า เจ้าจงจัดการทำมงคลแก่ลูกของเราด้วยบริวารเป็นอันมาก แล้วตั้งชื่อเขาว่า "ชัมพุกะ" อำมาตย์นั้นก็กระทำตามพระราชดำรัส แม้นกทั้งสามก็เจริญมาในเรือนของอำมาตย์ทั้งสามคน ด้วยการบริหารอย่างราชกุมาร.
พระราชามักตรัสเรียกว่า บุตรของเรา ธิดาของเรา ดังนี้เนืองๆ ครั้งนั้น พวกอำมาตย์ของพระองค์พากันยิ้มเยาะกันว่า ท่านทั้งหลายจงดูการกระทำของพระราชา เที่ยวตรัสเรียกกระทั่งสัตว์เดียรัจฉานว่า บุตรของเรา ธิดาของเรา พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงทรงดำริว่า อำมาตย์พวกนี้ยังไม่รู้ปัญญาสัมปทาแห่งลูกทั้งสามของเรา จักต้องทำให้ปรากฏแก่เขา จึงตรัสใช้อำมาตย์คนหนึ่งไปหาเจ้าเวสสันดร ให้แจ้งว่าพระบิดาของท่านอยากจะตรัสถามปัญหา จะเสด็จมาถามได้เมื่อไร? อำมาตย์ไปไหว้เจ้าเวสสันดรแล้ว แจ้งพระกระแสรับสั่งให้ทราบ. เจ้าเวสสันดรจึงเชิญอำมาตย์ผู้เลี้ยงดูตนมาถามว่า เขาบอกว่า พระราชบิดาของฉันใคร่จะตรัสถามปัญหากะฉัน เมื่อพระองค์เสด็จมาที่นี่ ควรที่เราจะทำสักการะ จะให้พระองค์เสด็จมาเมื่อไรเล่าพ่อ? อำมาตย์ตอบว่า จากนี้ไปอีกเจ็ดวัน จึงเชิญเสด็จ. เจ้าเวสสันดรได้ฟังดังนั้นจึงส่งข่าวกราบทูลว่า พระราชบิดาของฉันเสด็จมาได้ในวันที่เจ็ดนับแต่นี้ไป. อำมาตย์นั้นกลับมาทูลแด่พระราชา. ถึงวันที่เจ็ด พระราชาตรัสสั่งให้เที่ยวตีกลองประกาศในพระนคร แล้วเสด็จไปยังที่อยู่ของบุตร เจ้าเวสสันดรสั่งให้ทำมหาสักการะแด่พระราชา โดยที่แม้ทาสและกรรมกรก็ให้ทำสักการะด้วย พระราชาเสวยในเรือนของนกเวสสันดร ทรงรับการต้อนรับสมพระเกียรติ แล้วเสด็จกลับไปพระราชนิเวศน์ ตรัสสั่งให้ทำมหามณฑปที่พระลานหลวง ให้เที่ยวตีกลองประกาศในพระนคร แล้วประทับนั่งในมณฑปอลงกต แวดล้อมไปด้วยมหาชน ทรงส่งพระราชสาสน์ไปยังสำนักของอำมาตย์ว่า จงนำเจ้าเวสสันดรมาเถิด. อำมาตย์ให้เจ้าเวสสันดรจับบนตั่งทองนำมาถวาย นกเวสสันดรจับบนพระเพลาพระราชบิดา เล่นหัวกับพระราชบิดา แล้วบินไปจับบนตั่งทองนั้นตามเดิม. ลำดับนั้น พระราชา เมื่อจะตรัสถามราชธรรมกะเจ้าเวสสันดรในท่ามกลางมหาชน จึงตรัสปฐมคาถาความว่า
เราขอถามเจ้าเวสสันดร นกเอ๋ยขอความเจริญจงมีแก่เจ้า กิจอะไรที่บุคคลผู้ประสงค์เสวยราชสมบัติ กระทำแล้วเป็นกิจประเสริฐ. พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นดังต่อไปนี้ พระราชาทรงทักทายเจ้าเวสสันดรนั้นว่า นกเอ๋ย. กิจอะไรที่ผู้ใคร่ครองราชย์กระทำแล้วเป็นของดี คือสูงสุด พ่อเอ๋ย เจ้าจงบอกราชธรรมทั้งมวลแก่ข้าเถิด. นัยว่า พระราชานั้นดำรัสถามเจ้าเวสสันดรนั้นอย่างนี้. นกเวสสันดรได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว ยังไม่ทูลแก้ปัญหา เมื่อจะทูลท้วงพระราชาด้วยความประมาท จึงกล่าวคาถาที่สอง ความว่า นานนักหนอ พระเจ้ากังสราชพระราชบิดาเราผู้ทรงสงเคราะห์ชาวเมืองพาราณสี เป็นผู้ประมาทได้ตรัสถามเราผู้บุตร ซึ่งหาความประมาทมิได้. ทรงประพฤติสงเคราะห์ชาวเมืองพาราณสีด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ. เสด็จอยู่ในสำนักแห่งบัณฑิตเห็นปานนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ประมาทแล้ว เพราะมิได้ตรัสถามปัญหา. พอกพูนเลี้ยงเราผู้ชื่อว่าไม่ประมาทแล้ว เพราะประกอบด้วยคุณความดีมีศีลเป็นต้น. นกเวสสันดรกล่าวว่า พระราชบิดาถูกพวกอำมาตย์ล้อเลียนว่า ตรัสเรียกสัตว์เดียรัจฉานว่าเป็นบุตร ทรงถึงความประมาทแล้ว เพิ่งโจทย์ คือตรัสถามปัญหาในวันนี้ สิ้นกาลนานนัก. เจ้าเวสสันดรทูลท้วงด้วยคาถาอย่างนี้แล้ว ทูลว่า ขอเดชะ พระชนกมหาราช ขึ้นชื่อว่าพระราชาควรดำรงอยู่ในธรรม ๓ ประการเสวยราชสมบัติโดยธรรม เมื่อจะแสดงราชธรรม จึงกล่าวคาถา ความว่า
ข้าแต่บรมกษัตริย์ ธรรมดาพระราชาควรห้ามมุสาวาท ความโกรธและความร่าเริงก่อนทีเดียว แต่นั้นพึงตรัสสั่งให้กระทำกิจทั้งหลาย คำที่ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวมานั้น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นกิจของพระราชา. ข้าแต่พระบิดา เมื่อก่อนพระองค์ทรงรักใคร่และเกลียดชังแล้วพึงทรงทำกรรมใด กรรมนั้นที่พระองค์ทรงทำแล้ว พึงยังพระองค์ให้เดือดร้อนโดยไม่ต้องสงสัย แต่นั้นพระองค์ไม่ควรทรงกระทำกรรมนั้นอีก. ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐ เมื่อกษัตริย์ประมาทแล้ว โภคสมบัติทุกอย่างในแว่นแคว้นย่อมพินาศ ข้อนั้นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็นความทุกข์ของพระราชา. ข้าแต่พระบิดา เทพธิดาชื่อสิริ และชื่อลักขี ถูกสุจิปริวารเศรษฐีถาม ได้ตอบว่า ข้าพเจ้าย่อมยินดีในบุรุษผู้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่มีความริษยา. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า กาลกรรณีผู้ทำลายจักร ย่อมยินดีในบุรุษผู้ริษยา ผู้มีใจชั่ว ผู้ประทุษร้ายการงาน ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์จงทรงเป็นผู้มีพระทัยดีต่อคนทั้งปวง จงทรงพิทักษ์รักษาคนทั้งปวง จงทรงบรรเทาเสียซึ่งคนไม่มีราศี จงมีคนมีราศีเป็นที่พำนักเถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชนชาวกาสี บุรุษผู้มีราศี สมบูรณ์ด้วยความเพียร มีอัธยาศัยใหญ่ย่อมตัดโคนและยอดของศัตรูทั้งหลายได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ของประชาชน ความจริง แม้ท้าวสักกะก็ไม่ทรงประมาทในความหมั่นเพียร ท้าวเธอทรงกระทำความเพียรในกัลยาณธรรม ตั้งพระทัยมั่นในความขยันหมั่นเพียร.คนธรรพ์ พรหม เทวดา เป็นผู้เป็นอยู่อาศัยพระราชาเช่นนั้น เมื่อพระราชาทรงอุตสาหะ ไม่ทรงประมาท เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครองป้องกัน. ข้าแต่พระบิดา พระองค์จงทรงเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ทรงพระพิโรธ แล้วตรัสสั่งให้ทำกิจทั้งหลาย จงทรงพยายามในกิจทั้งหลาย เพราะคนเกียจคร้าน ย่อมไม่พบความสุข. ข้อความที่ข้าพระองค์กล่าวแก้แล้ว ในปัญหาของพระองค์นั้น ข้อนี้เป็นอนุสาสนี สามารถยังผู้เป็นมิตรให้ถึงความสุข และยังคนผู้เป็นศัตรูให้ถึงความทุกข์ได้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฐเมเนว วิตถํ ความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ธรรมดาพระราชาควรห้ามมุสาวาทเสียแต่ตอนต้น. อธิบายว่า แว่นแคว้นของพระราชาผู้ตรัสมุสาย่อมไม่มีโอชา. สิ่งสักว่ารัตนะเจ็ด ย่อมเข้าไปภายใต้สถานที่กระทำโอชาในแผ่นดิน แต่นั้น ในอาหาร ในน้ำมัน น้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้น หรือในโอสถทั้งหลายย่อมหาโอชามิได้. ประชาชนบริโภคอาหารขาดโอชา ย่อมเกิดเจ็บป่วยไข้มาก. รายได้ทั้งทางบกทางน้ำ ย่อมไม่เกิดขึ้นในแว่นแคว้น เมื่อรายได้ไม่เกิด พระราชาก็ต้องถึงความยากลำบาก พระองค์ย่อมไม่ทรงสามารถสงเคราะห์เสวกามาตย์ได้ เหล่าเสวกามาตย์มิได้รับสงเคราะห์ ต่างก็จะไม่มองดูพระราชาด้วยจิตเคารพยำเกรง. ข้าแต่เสด็จพ่อ ขึ้นชื่อว่ามุสาวาทนี้ขาดโอชาอย่างนี้ ฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวมุสาวาทนั้น แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต แต่ควรกำหนดถือเอาสุภาษิตข้อที่ว่า ความสัตย์ดีกว่ารสทั้งหลาย ดังนี้เท่านั้น.

อนึ่ง ขึ้นชื่อว่ามุสาวาทเป็นเครื่องกำจัดคุณความดี มีความวิบัติเป็นที่สุด กระทำให้มีอเวจีเป็นเบื้องหน้าในวารจิตที่สอง
อนึ่ง ในเนื้อความนี้ควรแสดง เจติยชาดก มีอาทิว่าธรรมแลอันบุคคลกำจัดแล้วย่อมกำจัดเขา ดังนี้.
ข้าแต่เสด็จพ่อ ธรรมดาพระราชาควรห้าม แม้ความโกรธอันมีความขัดเคืองเป็นลักษณะก่อนเหมือนกัน ข้าแต่เสด็จพ่อ เพราะว่า ความโกรธของคนเหล่าอื่นย่อมไม่ถึงจุดเดือดรวดเร็ว แต่ของพระราชาย่อมถึง ธรรมดาพระราชาทั้งหลายมีวาจาเป็นอาวุธ กริ้วแล้วย่อมยังคนอื่นให้พินาศได้ แม้ด้วยอาการเพียงทรงชำเลืองดู เพราะฉะนั้น พระราชาอย่ามีความโกรธเกินกว่าคนอื่นๆ ควรเพรียบพร้อมด้วยขันติคุณ เมตตาคุณ และความเอื้อเอ็นดู แลดูพสกนิกรเหมือนโอรสที่รักของตน. ข้าแต่เสด็จพ่อ ก็พระราชาผู้ยิ่งด้วยความโกรธเป็นเจ้าเรือน ย่อมไม่สามารถรักษาพระเกียรติยศที่เกิดขึ้นได้
อนึ่ง เพื่อแสดงเนื้อความนี้ควรแสดง ขันติวาทีชาดก แลจุลลธัมมปาลชาดก. แท้จริง ในจุลลธัมมปาลชาดก พระเจ้ามหาปตาปนราชตรัสสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชโอรส เมื่อพระเทวีมีพระหทัยแตกสิ้นพระชนมชีพ เพราะเศร้าโศกถึงพระโอรสแล้ว แม้พระองค์เองก็เศร้าโศกถึงพระเทวี มีพระหทัยแตกสวรรคตไปเหมือนกัน. ครั้งนั้น อำมาตย์ทั้งหลายต้องถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศแห่งเดียวกันถึง ๓ พระศพ เพราะฉะนั้น พระราชาควรเว้นมุสาวาทเป็นอันดับแรก อันดับที่สองควรเว้นความโกรธ. อธิบายว่า พระราชาควรหักห้ามความเป็นคนขี้เล่น ในราชกิจต่างๆ ด้วยความมีพระหฤทัยฮึกเหิม คือห้ามความสนุกสนานเสีย. ข้าแต่พระราชบิดา ธรรมดาพระราชาไม่ควรจะเป็นคนขี้เล่น ไม่ควรจะเชื่อถือผู้อื่น ต้องจัดการราชกิจทุกอย่างโดยประจักษ์แจ้งแก่พระองค์เองเท่านั้น เพราะพระราชามีพระหฤทัยฮึกเหิมแล้ว เมื่อทรงกระทำราชกิจจะไม่พินิจพิจารณา ย่อมยังพระอิสริยยศที่ได้แล้วให้พินาศ. อนึ่ง เนื้อความในอธิการนี้ ควรแสดงความที่พระเจ้าทัณฑกีราชใน สรภังคชาดก ทรงเชื่อถ้อยคำของปุโรหิต แล้วผิดในท่านกีสวัจฉดาบส ขาดสูญพร้อมด้วยรัฐมณฑลบังเกิดในกุกกุลนรก ควรแสดงความที่พระเจ้าเมชฌราช ในมาตังคชาดก ทรงเชื่อถ้อยคำของพวกพราหมณ์ ผิดในท่านมาตังคดาบส แล้วขาดสูญไปพร้อมกับรัฐมณฑล บังเกิดในนรก และควรแสดงความที่ตระกูลวาสุเทพ เชื่อถือถ้อยคำของราชทารกพี่น้องสิบคนผู้หลงงมงาย แล้วผิดในท่านกัณหทีปายนดาบส ถึงความพินาศฉิบหายไปใน ฆฏปัณฑิตชาดก.
ข้าแต่พระราชบิดา พระราชาเว้นมุสาวาทเป็นอันดับแรก ความโกรธเป็นอันดับที่สอง ความสนุกสนานไม่เป็นธรรมเป็นอันดับที่สามแล้ว ต่อแต่นั้น จึงควรตรัสสั่งให้กระทำราชกิจที่ควรทำต่อชาวแว่นแคว้น ในภายหลัง. ข้าแต่พระขัตติยมหาราช คำใดที่ข้าพเจ้าทูลแล้ว โปราณกบัณฑิตกล่าวคำนั้นว่าเป็นวัตรสมาทานของพระราชา. ข้าแต่พระราชบิดา กรรมใดอันเป็นเครื่องทำความร้อนใจในภายหลัง ด้วยสามารถแห่งกิเลสมีราคะเป็นต้น ซึ่งเป็นของที่พระองค์ทรงกระทำไว้แล้วต่อกรรมที่ทำไว้ก่อนนั้นมา พระองค์ไม่ควรทำ คืออย่าทรงทำกรรมเช่นนั้นอีก. นั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา. โปราณกบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้. นกเวสสันดรนำเหตุการณ์ที่เป็นไปในเมืองพาราณสีเมื่อก่อน มากล่าวแสดงเช่นนี้. บรรดาบทเหล่านั้น สิริเทพยเจ้าถูกสุจิปริวารเศรษฐีถาม บอกแล้ว. สิริเทพยเจ้ากล่าวว่า คนใดตั้งมั่นอยู่ในความหมั่นขยัน และในความเพียร ทั้งเห็นสมบัติของผู้อื่นแล้วไม่ริษยา ข้าพเจ้ารื่นรมย์ในคนผู้นั้น. นกเวสสันดรกล่าวถึงสิริเทพยเจ้าก่อนอย่างนี้.ข้าแต่พระราชบิดา *ส่วนอลักขีเทพยเจ้าถูกถามแล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้ายินดีในคนที่ริษยาสมบัติของคนอื่น. คนมีจิตทราม. ได้แก่ คนที่ประทุษร้ายกัลยาณกรรม. อลักขีเทพยเจ้ากล่าวว่า คนใดประทุษร้าย ไม่รักใคร่ เกลียดชัง ไม่ทำกัลยาณกรรม ข้าพเจ้ายินดีในคนๆ นั้น.ข้าแต่มหาราชเจ้า กาลกรรณีผู้หักเสียซึ่งกุศลจักร มีการอยู่ในประเทศอันสมควรเป็นต้น ย่อมยินดีอย่างนี้. ขอพระองค์จงมีพระทัยงาม คือมีพระทัยคิดประโยชน์เกื้อกูล. จงถอดถอน. แต่จงเอาบุญญาธิการเป็นที่อยู่ที่พำนักเถิด.ข้าแต่มหาราชจอมชาวกาสี บุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาและความเพียรนั้น. นกเวสสันดรกล่าวว่า บุรุษผู้มีอัธยาศัยใหญ่ เมื่อจับโจรผู้เป็นปัจจัยแห่งโจร ชื่อว่าจับโจรที่เป็นรากเหง้าของอมิตร ย่อมตัดยอดของปวงอมิตรได้. ท้าวเทวราชนั้นเอาพระทัยใส่ในความหมั่นขยัน และความพากเพียร ไม่กระทำบาปกรรม ทำความเพียรในกัลยาณกรรม คือบุญกรรมอย่างเดียวไม่ประมาท ใส่ใจในความหมั่นขยัน อนึ่ง เพื่อแสดงภาวะแห่งการกระทำความเพียรของท้าวสักกะนั้น ควรแสดงเรื่องเป็นต้นว่า ความที่ท้าวสักกะนั้นมาสู่กปิฏฐาราม พร้อมกับเทวดาในเทวโลกทั้งสอง แล้วถามปัญหาสดับธรรมใน สรภังคชาดก และความที่คำสั่งสอนเสื่อมถอยอันท้าวสักกะยังมหาชนให้ยินดีแล้ว บันดาลให้เป็นไปด้วยอานุภาพของตน ใน มหากัณหชาดก. ได้ยินว่า เทวดาผู้มีกำเนิด ๔ เกิดภายใต้ท้าวจาตุมมหาราช ชื่อว่าคนธรรพ์. ท้าวมหาพรหม. เทวดาชั้นฉกามาพจรด้วยสามารถแห่งอุปัตติเทพ. ท่านเหล่านั้นต่างมีชีพ มีชีวิตสม่ำเสมอหล่อเลี้ยงชีวิตไว้ เพื่อพระราชาผู้ทรงยินดีในกุศลอย่างนั้น เพราะพระราชาเช่นนั้น เมื่อทรงกระทำบุญทานเป็นต้น ย่อมทรงอุทิศส่วนบุญแก่เทวดาทั้งหลาย เทวดาเหล่านั้นรับอนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว ย่อมเจริญด้วยทิพยยศ. เมื่อพระราชาเช่นนั้นทรงทำความเพียร ถึงความไม่ประมาทอยู่ เทวดาทั้งหลายย่อมพากันพิทักษ์รักษา ตามไปจัดแจงอารักขาอันชอบธรรม. เมื่อพระองค์จะทรงกระทำรัฐกิจนั้น โปรดกระทำความเพียรในรัฐกิจนั้นๆ ด้วยอำนาจการเทียบเคียง การหยั่งดู การกระทำอันประจักษ์เถิด.
ข้าแต่พระราชบิดา พระองค์ตรัสถามปัญหาใดกะข้าพระพุทธเจ้าว่า ควรจะทำกิจอะไรดี ในปัญหาของพระองค์นั่นเอง ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลคำเป็นต้นว่าควรห้ามมุสาวาทก่อนดังนี้แล้ว ข้อความเหล่านั้นเป็นวัตรบท เป็นวัตรโกฏฐาส พระองค์โปรดทรงประพฤติในวัตรบทนั้น อย่างข้อความที่ข้าพระองค์ทูลแล้ว. ข้อความที่ข้าพระองค์ทูลแล้ว นี้แหละเป็นอนุสาสนีสำหรับพระองค์. เพราะว่า เมื่อพระราชาประพฤติอยู่อย่างนี้ย่อมองอาจ สามารถเพื่อยังมวลมิตรให้มีความสุข และก่อทุกข์แก่มวลอมิตรได้.
เมื่อนกเวสสันดรท้วงถึงความประมาทของพระราชาด้วยคาถาบทหนึ่ง แล้วกล่าวธรรมด้วยคาถาสิบเจ็ดคาถาอย่างนี้ มหาชนบังเกิดความคิดเป็นอัศจรรย์ขึ้นว่า นกเวสสันดรแก้ปัญหาด้วยลีลาแห่งพระพุทธเจ้า ดังนี้แล ยังสาธุการร้อยหนึ่งให้เป็นไป
พระราชาทรงโสมนัส ตรัสเรียกเหล่าอำมาตย์มาตรัสสั่งว่า ดูก่อนอำมาตย์ผู้เจริญทั้งหลาย เพราะเจ้าเวสสันดร บุตรของเรากล่าวแก้ปัญหาทำกิจเสร็จแล้วอย่างนี้ เราควรจะจัดการอย่างไร? พวกอำมาตย์ทูลว่า ควรจัดการโดยมอบตำแหน่งผู้บัญชาการมหาเสนาให้ พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เราจะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการมหาเสนาแก่เจ้าเวสสันดรนั้น แล้วทรงสถาปนาเจ้าเวสสันดรไว้ในฐานันดรศักดิ์ นับแต่นั้นมา นกเวสสันดรนั้นก็ดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการมหาเสนา สนองราชกิจพระราชบิดาด้วยประการฉะนี้.
จบเวสสันดรปัญหา

ล่วงไปอีกสอง-สามวัน พระราชาส่งทูตไปยังสำนักของเจ้านกกุณฑลินีโดยทำนองเดิมนั่นเอง แล้วเสด็จไป ณ ที่นั้นในวันที่เจ็ด เสด็จกลับมาประทับ ณ ท่ามกลางมณฑปนั้น ตรัสสั่งให้นำเจ้านกกุณฑลินีมา เมื่อจะตรัสถามราชธรรมกะนางนกตัวจับอยู่บนตั่งทอง จึงตรัสคาถาความว่า ดูก่อนนางนกกุณฑลินีตัวเป็นเผ่าพันธุ์ของนกมีบรรดาศักดิ์ เจ้าสามารถละหรือ เจ้าจะเข้าใจได้หรือ กิจอะไรเล่าที่ผู้มุ่งจะครอบครองสมบัติ กระทำแล้วเป็นกิจประเสริฐ. พระราชาตรัสถามว่าเจ้าจักสามารถแก้ปัญหาที่พ่อถามได้หรือ? พระราชาทรงทักทายโดยชื่อที่มา โดยเพศของนางนกนั้นว่า แน่ะนางกุณฑลินี ได้ยินว่า ที่หลังหูทั้งสองของนางนกนั้น มีรอยสองแห่งสัณฐานคล้ายต่างหู ด้วยเหตุนั้นพระราชาจึงโปรดให้ตั้งชื่อว่า "กุณฑลินี".พระราชาตรัสถามว่าเจ้าจักแก้เนื้อความแห่งปัญหาที่พ่อถามได้หรือ? พระราชาทรงทักทายนางนกนั้นอย่างนี้ว่า "แน่ะเจ้าตัวมีเผ่าพันธุ์แห่งนกมีบรรดาศักดิ์" ดังนี้ เพราะเป็นน้องสาวของผู้บัญชาการมหาเสนา ผู้มีบรรดาศักดิ์. เหตุไร พระราชาจึงไม่ตรัสถามนกเวสสันดรอย่างนี้ ตรัสถามแต่เจ้ากุณฑลินี นี้แต่ตัวเดียว? เพราะนางนกนี้เป็นอิตถีเพศ. พระราชาทรงพระดำริว่า ธรรมดาสตรีมีปัญญานิดหน่อย ถ้านางนกนี้สามารถก็จักถาม ถ้าไม่สามารถก็จักไม่ถาม ดังนี้ จึงได้ตรัสถามอย่างนี้ด้วยจะทดลองดู แล้วตรัสถามปัญหาเช่นนั้นเหมือนกัน. เมื่อพระราชาตรัสถามราชธรรมอย่างนี้แล้ว นางนกกุณฑลินีจึงทูลว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ชะรอยพระบิดาจะทดลองหม่อมฉัน ด้วยเข้าพระทัยว่า ขึ้นชื่อว่าสตรีแล้วจะแก้อย่างไรได้ หม่อมฉันจักกล่าวราชธรรมทั้งสิ้นแด่พระบิดา รวมไว้ในสองบททีเดียวดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถา ความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ประโยชน์ตั้งมั่นอยู่ในเหตุ ๒ ประการเท่านั้น คือความได้ลาภที่ยังไม่ได้ ๑ การตามรักษาลาภที่ได้แล้ว ๑.
ข้าแต่เสด็จพ่อ พระองค์จงทรงทราบ อำมาตย์ทั้งหลายผู้เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในประโยชน์ ไม่แพร่งพรายความลับ ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่ทำให้เสื่อมเสีย. ข้าแต่เสด็จพ่อ ก็อำมาตย์คนใดพึงรักษาพระราชทรัพย์ของพระองค์ ให้มีคงที่อยู่ได้ ดุจนายสารถียึดรถไว้ พระองค์ควรทรงใช้อำมาตย์ผู้นั้น ให้กระทำกิจทั้งหลายของพระองค์. พระราชาพึงโปรดสงเคราะห์ชนฝ่ายในด้วยดี ตรวจตราพระราชทรัพย์ด้วยพระองค์เอง ไม่ควรจัดการทรัพย์และการกู้หนี้โดยทรงไว้วางพระทัย ในคนอื่น. พระราชาควรทราบรายได้-รายจ่ายด้วยพระองค์เอง ควรทรงทราบกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำด้วยพระองค์เอง ควรข่มคนที่ควรข่ม ควรยกย่องคนที่ควรยกย่อง. ข้าแต่พระองค์ผู้จอมพลรถ พระองค์จงทรงพร่ำสอนเหตุผลแก่ชาวชนบทเอง เจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษีอากรผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม อย่ายังพระราชทรัพย์และรัฐสีมาของพระองค์ให้พินาศ. อนึ่ง พระองค์อย่าทรงทำเอง หรืออย่าทรงใช้คนอื่นให้ทำกิจทั้งหลายโดยฉับพลัน เพราะว่าการงานที่ทำลงไปโดยฉับพลัน ไม่ดีเลย คนเขลาย่อมเดือดร้อนในภายหลัง. พระองค์อย่าทรงล่วงเลยกุศล อย่าทรงปล่อยพระทัยให้เกรี้ยวกราดนัก เพราะว่า สกุลที่มั่นคงเป็นอันมาก ได้ถึงความไม่เป็นสกุล เพราะความโกรธ. ข้าแต่เสด็จพ่อ พระองค์อย่าทรงนึกว่าเราเป็นใหญ่ แล้วยังมหาชนให้หยั่งลงเพื่อความฉิบหาย กำไรคือความทุกข์ อย่าได้มีแก่สตรีและบุรุษของพระองค์เลย. โภคสมบัติทั้งปวงของพระราชาผู้ปราศจากความหวาดเสียว แส่หากามารมณ์ย่อมพินาศหมด ข้อนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา. ข้อความที่หม่อมฉันกราบทูลในปัญหาของพระองค์นั้น เป็นวัตรบท นี่แหละเป็นอนุสาสนี ข้าแต่พระมหาราชา บัดนี้ พระองค์โปรดทรงบำเพ็ญบุญ อย่าเป็นนักเลง อย่าทรงราชทรัพย์ให้พินาศ จงทรงศีล เพราะว่าคนทุศีลย่อมตกต่ำ. ความได้ลาภที่ยังไม่ได้แล้วในก่อน ๑ การตามรักษาลาภที่ได้แล้ว ๑. อธิบายว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ขึ้นชื่อว่าการยังลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นก็เป็นภาระ ส่วนการตามรักษาลาภที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นภาระเหมือนกัน เพราะว่า คนบางคนแม้ยังยศให้เกิดขึ้นแล้ว มัวเมาในยศ เกิดความประมาท ทำความชั่ว มีปาณาติบาตเป็นต้น เป็นมหาโจรเที่ยวปล้นแว่นแคว้นอยู่ ถ้าพระราชาตรัสสั่งให้จับมาได้ ต้องลงพระอาชญาให้ถึงมหาพินาศ. อีกอย่างหนึ่ง คนบางคนมัวเมาในกามคุณ มีรูปที่เกิดแล้วเป็นต้น ผลาญทรัพย์สินโดยไม่แยบคาย เมื่อสิ้นเนื้อประดาตัว ก็ต้องเป็นคนกำพร้า นุ่งผ้าเปลือกไม้ ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน หรืออีกนัยหนึ่ง บรรพชิตยังลาภสักการะให้เกิดด้วยอำนาจคันถธุระเป็นต้น แล้วมัวเมาเวียนมาเพื่อหินเพศ บางรูปแม้เจริญปฐมฌานเป็นต้นให้เกิดแล้ว ติดอยู่ในอารมณ์เช่นนั้น เพราะความเป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน ย่อมเสื่อมจากฌาน การรักษายศหรือรักษาความได้ฌานเป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเป็นของยากอย่างยิ่ง
อนึ่ง เพื่อจะแสดงความข้อนั้น ควรแสดงเรื่องของพระเทวทัต และควรแสดงเรื่องมุทุลักขณชาดก โลมกัสสปชาดก หาริตชาดก และสังกัปปชาดก.
ส่วนคนบางคนยังลาภสักการะให้เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท กระทำกรรมอันงาม ยศของบุคคลนั้นย่อมเจริญ เหมือนพระจันทร์ในศุกลปักษ์ฉะนั้น ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะฉะนั้น พระองค์อย่าประมาท ดำรงอยู่ในปโยคสมบัติ ดำรงราชย์โดยธรรม ตามรักษาพระเกียรติยศของพระองค์ที่บังเกิดขึ้นแล้วเถิด. เพื่อกระทำการงานมีหน้าที่ขุนคลังเป็นต้น พระองค์จงทรงใคร่ครวญ. โปรดตรวจดูหมู่อำมาตย์ที่ไม่ใช่คนเล่นเบี้ย ไม่ใช่คนโกง คือไม่ใช่นักเลงการพนัน และไม่เป็นคนหลอกลวง. เป็นคนเว้นจากความเป็นนักเลงเหล้า และนักเลงทางของหอมและระเบียบ. มิใช่ผู้ที่จะยังธนสารและธัญญาหารเป็นต้น อันเป็นราชทรัพย์ให้ฉิบหาย. ดุจสารถีขับรถ อธิบายว่า นายสารถี เมื่อยึดม้าไว้เพื่อห้ามทางที่ไม่เรียบ พึงยึดรถไว้ฉันใด อำมาตย์ใดเป็นฉันนั้น สามารถเพื่อจะรักษาพระองค์ พร้อมด้วยโภคสมบัติได้ อำมาตย์นั้นชื่อว่าเป็นอำมาตย์ของพระองค์ พระองค์ควรยึดอำมาตย์เช่นนั้นไว้ ตรัสสั่งให้กระทำราชกิจเช่นหน้าที่ขุนคลังเป็นต้น. ข้าแต่เสด็จพ่อ เพราะว่าอันโตชนและปริชนที่ใช้สอย ในราชสำนักส่วนพระองค์ของพระราชาใด มิได้รับความสงเคราะห์ด้วยทานเป็นต้น พระราชทรัพย์เช่นเงินทองเป็นต้น ภายในพระราชฐานของพระราชานั้น ย่อมจะพินาศลง ด้วยอำนาจแห่งมนุษย์ที่ไม่ได้รับการสงเคราะห์เหล่านั้น ต่างก็จะพากันไปเสียภายนอก เพราะเหตุนั้น พระองค์โปรดทรงสงเคราะห์อันโตชนด้วยดี ควรตรวจตราพระราชทรัพย์ของพระองค์เองให้รู้ว่า ทรัพย์ของเรามีจำนวนเท่านี้แล้ว ไม่ควรจัดการแม้กิจทั้งสองอย่างว่า เราจะฝังขุมทรัพย์ไว้ในที่โน้น เราจะใช้หนี้แก่คนโน้น. นางนกกุณฑลินีกล่าวว่า พระองค์อย่าได้ทรงทำแม้ด้วยความไว้วางใจผู้อื่น ควรจัดการราชกิจทั้งหมดที่ประจักษ์แก่พระองค์เท่านั้น. พระองค์ควรจะทราบรายได้ที่เกิดจากทางนั้นๆ และควรทราบรายจ่ายที่ควรพระราชทานแก่คนต่างๆ ด้วยพระองค์เองทีเดียว.ในสงคราม ในนวกรรม หรือในราชกิจอื่นๆ พระองค์ควรจะทราบแม้ข้อราชการนี้ ด้วยพระองค์เองทีเดียวว่า กิจนี้เราต้องทำด้วยราชทรัพย์ส่วนนี้ กิจนี้ไม่ต้องทำด้วยราชทรัพย์ โปรดอย่าได้ไว้วางใจผู้อื่น. ข้าแต่เสด็จพ่อ ธรรมดาพระราชาต้องทรงพิจารณา ชำระซึ่งคนผู้ทำการตัดที่ต่อเป็นต้นอันเป็นผู้ควรข่มที่เขานำมาแสดง ควรตรวจสอบดูตัวบทกฏหมายที่พระราชาก่อนๆ ตราไว้ แล้วจึงทรงลงพระราชอาชญาตามสมควรแก่โทษ.
อนึ่ง บุคคลใดเป็นคนควรยกย่อง จะเป็นคนทำลายกำลังของปรปักษ์ที่ใครๆ ทำลายไม่ได้ก็ตาม จะเป็นคนที่ปลุกปลอบกำลังฝ่ายตนที่แตกแล้วก็ตาม จะเป็นคนที่นำราชสมบัติที่ยังไม่ได้มาถวายก็ตาม คนที่ทำราชสมบัติอันได้มาแล้วให้ถาวรก็ตาม หรือว่าผู้ใดช่วยพระชนมชีพไว้ได้ พระราชาทรงยกย่องบุคคลเช่นนี้ ซึ่งเป็นคนควรยกย่องแล้ว ควรตรัสสั่งให้กระทำสักการะ สัมมานะอย่างใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้คนอื่นๆ ก็จักถวายชีวิตกระทำซึ่งกิจที่ควรทำในราชกิจของพระราชานั้น. พระองค์จงทรงอนุศาสน์พร่ำสอนอรรถธรรมแก่ชาวชนบทด้วยพระองค์เอง โดยเงื่อนไขอันประจักษ์แก่พระองค์นั่นเอง. พนักงานข้าราชการผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รับสินบนในที่นั้นๆ แล้วกลับคำพิพากษา อย่ายังพระราชทรัพย์และแว่นแคว้นของพระองค์ให้พินาศไปเลย ด้วยเหตุนี้ พระองค์อย่าประมาท จงอนุศาสน์พร่ำสอนด้วยพระองค์เองทีเดียว. พระองค์ยังไม่ได้ทรงสอบสวน ยังไม่ได้ทรงพิจารณา อย่าทรงกระทำหรือรับสั่งให้ทำโดยผลุนผลัน. เพราะกรรมที่มิได้พิจารณา ทำไปโดยผลุนผลัน ด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้น ไม่ดีไม่งามเลย. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า คนโง่ทำกรรมเช่นนั้น ภายหลังย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ด้วยอำนาจความวิปฏิสารและเมื่อเสวยทุกข์ในอบายย่อมเดือดร้อนในโลกเบื้อง หน้า. ก็ความข้อนี้ บัณฑิตพึงแสดงด้วยกุรุชาดก ซึ่งมีใจความมีอาทิว่า เราได้ยินว่า พระเจ้ากุรุราชทรงทำความผิดต่อพระฤาษีทั้งหลายดังนี้. ข้าแต่เสด็จพ่อ พระองค์อย่าทรงปล่อยพระหฤทัยให้ขุ่นเคืองโกรธกริ้วเกินไป ในเพราะอกุศลกรรมของผู้อื่น อันล่วงเลยกุศลเป็นไป คืออย่าให้ดำรงอยู่ได้. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ เมื่อใด พวกราชบุรุษกราบทูลแสดงโจรต่อพระองค์ผู้สถิตอยู่ ณ ที่วินิจฉัยว่า เจ้านี่ฆ่าคน หรือว่าเจ้านี่ตัดที่ต่อ เมื่อนั้นโปรดอย่าปล่อยพระทัย แม้ที่ทรงขุ่นเคืองเต็มที่ ด้วยถ้อยคำของผู้อื่นด้วยอำนาจทรงพระพิโรธ ยังมิได้ทรงสอบสวน แล้วอย่าได้ทรงลงพระอาญา. เพราะเหตุไร? เพราะว่า เขาจับคนที่มิใช่โจร หาว่าเป็นโจรนำมาก็ได้ ฉะนั้น อย่าทรงพิโรธโปรดสดับถ้อยคำของผู้ที่เป็นโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่าย ทรงชำระด้วยดี รู้ว่าเขาเป็นโจรโดยประจักษ์ด้วยพระองค์แล้ว จึงโปรดกระทำสิ่งที่ควรกระทำ ด้วยสามารถแห่งอาชญาที่ตราไว้ตามพระราชประเพณี ก็ถึงแม้เมื่อเกิดความโกรธขึ้นแล้ว พระราชายังมิได้กระทำพระทัยให้เย็นก่อน ไม่ควรทำการวินิจฉัย ต่อเมื่อใดพระหฤทัยเยือกเย็น ดับร้อน อ่อนโยน เมื่อนั้นจึงควรทำการวินิจฉัย เพราะเมื่อจิตหยาบคาย เหตุผลย่อมไม่ปรากฏ เหมือนเมื่อน้ำเดือดพล่าน เงาหน้าก็ไม่ปรากฏฉะนั้น. ข้าแต่เสด็จพ่อ ราชตระกูลทั้งหลายที่มั่งคั่งมากมาย ถึงความไม่เป็นตระกูล คือถึงความมหาพินาศทีเดียว ก็เพราะความโกรธ เพราะเหตุนั้น ก็เพื่อจะแสดงเนื้อความนี้ ควรกล่าวถึงขันติวาทีชาดก เรื่องพระเจ้านาฬิกีรราช และเรื่องท้าวอรชุนผู้มีกรพันหนึ่งเป็นต้น. ข้าแต่เสด็จพ่อ พระองค์อย่าทรงยังมหาชนให้หมกมุ่น หยั่งลงสู่กายทุจริตเป็นต้น เพื่อความฉิบหาย โดยทรงนึกว่า เราเป็นใหญ่ในแผ่นดิน บุคคลถือเอาทุจริตอันเป็นความฉิบหาย ประพฤติฉันใด พระองค์อย่าได้ทรงกระทำฉันนั้น. ข้าแต่เสด็จพ่อ ในแว่นแคว้นของพระองค์ ขอการได้รับทุกข์ คือความถึงซึ่งทุกข์อย่าได้มีแก่หญิงชายเลย ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตามที. อธิบายว่า ประชาชนในแว่นแคว้นของพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม พากันกระทำกายทุจริตเป็นต้น ย่อมเกิดในนรกฉันใด สำหรับชาวแว่นแคว้นของพระองค์อย่าได้มีฉันนั้นเลย คือความทุกข์เช่นนั้น จะไม่มีแก่ชาวแว่นแคว้นของพระองค์โดยวิธีใด โปรดทรงกระทำโดยวิธีนั้นเถิด. ผู้ปราศจากภัย เพราะภัยมีการติเตียนตนเป็นต้น. ด้วยบทนี้ นางนกกุณฑลินีแสดงความว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ พระราชาใดทรงทำความหวังในอารมณ์อะไรแล้ว ทรงระลึกถึงแต่ความใคร่ของพระองค์อย่างเดียว ทรงปรารถนาสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้นด้วยอำนาจฉันทะความพอใจ เป็นเหมือนคนตาบอดทิ้งไม้เท้า และเหมือนช้างดุไม่มีขอสับ โภคสมบัติทั้งปวงของพระราชานั้นผู้ปราศจากภัยเช่นการติเตียนเป็นต้น ย่อมฉิบหายไป ความฉิบหายของโภคะนั้น ท่านกล่าวว่าเป็นทุกข์ของพระราชาพระองค์นั้น. คำว่า ในปัญหานั้น เนื้อความที่กราบทูลมานั้นเป็นวัตรบทดังนี้ ควรประกอบโดยนัยก่อนนั้นเถิด. ข้าแต่เสด็จพ่อ พระองค์ทรงสดับอนุสาสนีนี้แล้ว บัดนี้พึงเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน ทรงสร้างบุญกุศล เหตุบำเพ็ญบุญกุศล อย่าเป็นนักเลงสุรา เหตุบริหารด้วยสุราเป็นต้น อย่ายังพระองค์ให้พินาศ เหตุยังประโยชน์ปัจจุบันและสัมปรายิกภพให้ฉิบหาย. พระองค์จงเป็นผู้ทรงศีลสมบูรณ์ด้วยอาจารมรรยาท ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมเสวยราชสมบัติ.ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะคนทุศีล เมื่อยังตนให้ตกไปในนรก ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าทำตนให้ตกไปในที่ชั่ว.
แม้เจ้านกกุณฑลินีแสดงธรรมด้วยคาถา ๑๑ คาถาด้วยประการอย่างนี้ พระราชาทรงดีพระทัย ตรัสเรียกอำมาตย์มารับสั่งถามว่า ดูก่อนท่านอำมาตย์ผู้เจริญทั้งหลาย เราควรทำกิจอันใดแก่เจ้ากุณฑลินี ธิดาของเราผู้กล่าวธรรมอยู่อย่างนี้?
พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ควรกระทำโดยการมอบตำแหน่งขุนคลังให้พระเจ้าข้า.
ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะให้หน้าที่การงานตำแหน่งขุนคลังแก่ธิดาของเรา แล้วทรงแต่งตั้งนางนกกุณฑลินีไว้ในฐานันดรศักดิ์. นับแต่นั้นมา นางนกกุณฑลินีก็ดำรงอยู่ในตำแหน่งขุนคลัง ได้ทำการสนองราชกิจของพระราชบิดา.
จบกุณฑลินีปัญหา

ล่วงมาอีกสองสามวัน พระราชาส่งทูตไปยังสำนักของเจ้าชัมพุกบัณฑิตโดยนัยก่อนนั้นเอง แล้วเสด็จไปในสำนักของนกชัมพุกบัณฑิตนั้นในวันที่เจ็ด ทรงเสวยสมบัติแล้วเสด็จกลับมาประทับ ณ ที่ท่ามกลางมณฑปนั้นเอง. ครั้งนั้น อำมาตย์เชิญเจ้าชัมพุกบัณฑิตจับบนตั่งทอง แล้วเอาศีรษะทูลตั่งทองมาเฝ้าพระราชา. เจ้าชัมพุกบัณฑิตจับบนพระเพลาของพระราชบิดา เล่นหัวแล้วจับที่ตั่งทองดังเดิม. ลำดับนั้น เมื่อพระราชาจะตรัสถามปัญหากะเจ้าชัมพุกบัณฑิต จึงตรัสพระคาถาความว่า
พ่อชัมพุกะ พ่อได้ถามปัญหากะเจ้าโกสิยโคตร และเจ้ากุณฑลินีมาเช่นเดียวกันแล้ว ชัมพุกลูกรัก คราวนี้ เจ้าจงบอกกำลังอันสูงสุดกว่ากำลังทั้งหลายบ้างเถิด. พระคาถานั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ แน่ะพ่อชัมพุกะ พ่อได้ถามราชธรรมกะเจ้าเวสสันดรโกสิยโคตรผู้พี่ชายของเจ้า และนางกุณฑลินีผู้พี่สาวของเจ้าแล้ว ทั้งสองต่างก็ตอบตามกำลังปัญญาของตนๆ อนึ่ง พ่อถามพี่ชายและพี่สาวของเจ้าอย่างใด ชัมพุกะลูกรัก บัดนี้ พ่อจะถามเจ้าอย่างนั้นเหมือนกัน เจ้าจงบอกราชธรรมนั้นกับกำลังอันสูงสุดกว่ากำลังทั้งหลายด้วยเถิด.
พระราชา เมื่อตรัสถามปัญหากะพระมหาสัตว์อย่างนี้ หาได้ตรัสถามโดยทำนองที่ตรัสถามนกอื่นๆ ไม่ ดำรัสถามให้พิเศษขึ้นไป. ลำดับนั้น นกชัมพุกบัณฑิตทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้ากระนั้น ขอพระองค์จงเงี่ยพระโสตลงสดับ ข้าพระพุทธเจ้าจักกล่าวปัญหาทั้งปวงถวายแด่พระองค์ ดังนี้ แล้วเป็นประดุจว่าบอกถุงทรัพย์พันหนึ่งกะฝูงชนที่เหยียดมือออกรับฉะนั้น เริ่มแสดงธรรมเป็นคาถา ความว่า กำลังในบุรุษผู้มีอัธยาศัยใหญ่ในโลกนี้มี ๕ ประการ ในกำลัง ๕ ประการนั้น กำลังแขน บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังต่ำทราม ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเจริญพระชนม์ กำลังโภคทรัพย์ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังที่สอง.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญชนม์ กำลังอำมาตย์บัณฑิต กล่าวว่าเป็นกำลังที่สาม กำลังคือมีชาติยิ่งใหญ่เป็นกำลังที่สี่ โดยแท้ บัณฑิตย่อมยึดเอากำลังทั้งหมดนี้ไว้ได้. กำลังปัญญา บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังประเสริฐยอดเยี่ยมกว่ากำลังทั้งหลาย เพราะว่าบัณฑิตอันกำลังปัญญาสนับสนุนแล้ว ย่อมได้ซึ่งประโยชน์. ถ้าบุคคลมีปัญญาทราม แม้ได้แผ่นดินอันสมบูรณ์ เมื่อไม่ประสงค์ คนอื่นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาก็ข่มขี่แย่งเอาแผ่นดินนั้นเสีย. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชนชาวกาสี ถ้าบุคคลแม้เป็นผู้มีชาติสูง ได้ราชสมบัติแล้วเป็นกษัตริย์ แต่มีปัญญาทราม หาเป็นอยู่ด้วยราชสมบัติทุกอย่างได้ไม่. ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยเรื่องที่ได้สดับ ปัญญาเป็นเครื่องยังเกียรติยศ และลาภสักการะให้เจริญ คนในโลกนี้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว แม้เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ย่อมได้รับความสุข.ก็คนบางคนไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่อาศัยผู้เป็นพหูสูตซึ่งตั้งอยู่ในธรรม ไม่พิจารณาเหตุผล ย่อมไม่ได้บรรลุปัญญา. อนึ่ง ผู้ใดรู้จักจำแนกธรรม ลุกขึ้นในเวลาเช้า ไม่เกียจคร้าน ย่อมบากบั่นตามกาล ผลแห่งการงานของบุคคลนั้น ย่อมสำเร็จ. ประโยชน์แห่งการงานของบุคคลผู้มีศีลมิใช่บ่อเกิด ผู้คบหาบุคคลที่มิใช่บ่อเกิด ผู้มีปกติเบื่อหน่ายทำการงาน ย่อมไม่เผล็ดผลโดยชอบ. ส่วนประโยชน์แห่งการงานของบุคคลผู้ประกอบธรรมอันเป็นภายใน คบหาบุคคลที่เป็นบ่อเกิดอย่างนั้น ไม่มีปกติเบื่อหน่ายทำการงาน ย่อมเผล็ดผลโดยชอบ. ข้าแต่เสด็จพ่อ ขอพระองค์จงทรงเสวนปัญญาอันเป็นส่วนแห่งการประกอบความเพียร เป็นเครื่องตามรักษาทรัพย์ที่รวบรวมไว้ และเหตุสองประการข้างต้นที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลแล้วนั้นเถิด อย่าได้ทรงทำลายทรัพย์สินเสีย ด้วยการงานอันไม่สมควร เพราะคนมีปัญญาทราม ย่อมล่มจมด้วยการงานอันไม่สมควร ดังเรือนไม้อ้อฉะนั้น. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า กำลังในบุรุษผู้มีอัธยาศัยใหญ่ ในสัตวโลกนี้มี ๕ อย่าง. ได้แก่ กำลังกาย. กำลังกายนั้น แม้เป็นของยิ่งใหญ่ก็เป็นของเลวทรามอยู่นั่นเอง. เพราะเหตุไร? เพราะเป็นกำลังของอันธพาล.อธิบายว่า ถ้าหากกำลังกายจะชื่อว่าเป็นใหญ่จริง กำลังของนางนกไส้ก็ย่อมเยากว่ากำลังของช้าง แต่กำลังของช้างเป็นปัจจัยแห่งความตาย เพราะเป็นกำลังอันธพาล นางนกไส้ยังช้างให้ถึงความสิ้นชีวิตได้ เพราะมันเป็นสัตว์ฉลาดในความรู้. แต่ในความข้อนี้ กิจด้วยกำลังในที่ทุกสถานไม่มีเลย. ควรนำพระสูตรที่ว่า พลํ หิ พาลสฺส วธาย โหติ แปลว่า แท้จริงกำลังย่อมมีไว้เพื่อฆ่าคนโง่ ดังนี้เป็นต้นมาแสดง. กำลังอันเกิดแต่เครื่องอุปโภคเช่นเงินทองเป็นต้นทั้งหมด ชื่อว่ากำลังคือโภคสมบัติ กำลังโภคสมบัตินั้นใหญ่กว่ากำลังกาย ด้วยอำนาจเป็นเครื่องค้ำจุน. ความมีชมรมอำมาตย์อันมีมนต์ไม่ทำลาย มีความแกล้วกล้า มีหทัยดี ชื่อว่ากำลังคืออำมาตย์. กำลังคืออำมาตย์นั้นเป็นกำลังใหญ่กว่ากำลังสองอย่างข้างต้น เพราะความที่อำมาตย์เป็นผู้แกล้วกล้าในสงคราม. ความถึงพร้อมแห่งชาติด้วยสามารถแห่งตระกูลกษัตริย์ ก้าวล่วงเสียซึ่งตระกูลทั้งสาม ชื่อว่ากำลังคือความเป็นผู้มีชาติสูง. กำลังคือความเป็นผู้มีชาติสูงนั้นใหญ่กว่ากำลังนอกนี้ เพราะว่า ชนผู้ถึงพร้อมด้วยชาติเท่านั้น ย่อมบริสุทธิ์ ชนนอกนี้หาบริสุทธิ์ไม่. บัณฑิตย่อมยึดคือย่อมครอบงำกำลังแม้ทั้ง ๔ อย่างเหล่านี้ได้ด้วยอานุภาพแห่งกำลังใด กำลังนั้นได้แก่กำลังปัญญา ท่านกล่าวว่าเป็นของประเสริฐว่าเป็นยอดแห่งกำลังทั้งปวง. เพราะเหตุไร? เพราะบัณฑิตอันกำลังชนิดนั้นค้ำจุน ย่อมได้ซึ่งประโยชน์ คือย่อมถึงซึ่งความเจริญ. เพื่อจะยังเนื้อความนั้นให้สว่างแจ่มแจ้ง ควรแสดงปุณณนทีชาดก ที่ว่า ปุณฺณนทึ เยน จ เปยฺยมาหุ แปลว่า ก็ชนทั้งหลายกล่าวถึงแม่น้ำที่เต็มฝั่งว่า อันสัตว์ใดพึงดื่มได้ดังนี้เป็นต้น และพึงแสดงสิริกาฬกัณณปัญหา ปัญจบัณฑิตปัญหา สัตตุภัสตชาดก สัมภวชาดก และสรภังคชาดกเป็นต้น. คนมีปัญญาทรามคือคนโง่. ข้าแต่เสด็จพ่อ บุคคลผู้มีปัญญาทราม แม้หากได้ธรณีอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยรัตนะ ๗ ไซร้ เมื่อไม่ปรารถนาเลยทีเดียว บุคคลอื่นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญากระทำการข่มขู่แล้วครอบครองธรณีนั้นได้ เพราะคนมีปัญญาทรามย่อมไม่สามารถเพื่อจะรักษายศที่ได้แล้ว หรือว่าไม่สามารถเพื่อจะได้ราชสมบัติอันเป็นมรดกของตระกูล หรือที่มาถึงแล้วโดยประเพณี อันมั่งคั่งสมบูรณ์. เพื่อจะขยายความนั้นให้แจ่มแจ้ง บัณฑิตควรแสดงปาทัญชลิชาดก ที่ว่า อทฺธา ปาทญฺชลี สพฺเพ ปญฺญาย อติโรจติ แปลว่า ปาทัญชลีราชกุมารย่อมไพโรจน์ล่วงเราทั้งปวง ด้วยปัญญาแน่นอน ดังนี้เป็นต้น. บุคคลอาศัยชาติสมบัติแล้ว แม้จะได้ราชสมบัติอันเป็นของตระกูล.คนมีปัญญาทรามย่อมเป็นอยู่ด้วยราชสมบัติทั้งสิ้นไม่ได้ คือย่อมเป็นผู้ถึงความลำบาก เพราะความเป็นผู้ไม่ฉลาดในอุบาย. พระมหาสัตว์กล่าวโทษของชนผู้มิใช่บัณฑิตโดยฐานะเท่านี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะสรรเสริญปัญญา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปญฺญา ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น ได้แก่ สุตปริยัติ การเล่าเรียนด้วยการฟัง แท้จริงปัญญานั่นเอง ย่อมวินิจฉัยสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้น. เป็นเครื่องเจริญแห่งเกียรติยศชื่อเสียง และลาภสักการะ. บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญา แม้เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ย่อมเป็นผู้ปลอดภัยกลับได้ความสุข เพราะเป็นผู้ฉลาดในอุบาย. เพื่อจะแสดงความนั้นควรแสดงชาดก ซึ่งเป็นคาถามีใจความมีอาทิว่า ดูก่อนพญาวานร ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ของบุคคลใดเหมือนของท่านเพียงพอ ด้วยมะม่วง ชมพู่ และขนุนเหล่านี้. ไม่เข้าไปใกล้ ไม่ฟังบุคคลผู้เป็นบัณฑิต ไม่เชื่อถ้อยคำของเขา. ตั้งอยู่ในสภาพเหตุผล.ข้าแต่เสด็จพ่อ ใครๆ ไม่หยั่งดู คือไม่พิจารณาดูว่า เป็นประโยชน์หรือไม่เป็น มีเหตุผลหรือไม่มี ย่อมไม่ได้ซึ่งปัญญา. เป็นผู้ฉลาดในกุศลกรรมบถ ๑๐. กระทำความเพียรในกาลอันควรกระทำความเพียร.ความว่า ย่อมกระทำซึ่งกิจนั้นๆ ในกาลนั้นๆ. ผลแห่งกรรมของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จ คือย่อมเผล็ดผล. กรรมคือความเป็นผู้ทุศีล มิใช่บ่อเกิดแห่งลาภยศและความสุข ท่านเรียกว่ากรรมมิใช่บ่อเกิด เมื่อบุคคลผู้มีปกติอย่างนั้น คือบุคคลผู้ประกอบด้วยกรรม คือความเป็นผู้ทุศีลนั้น คบหาอยู่ซึ่งบุคคลผู้ทุศีล ซึ่งเป็นผู้มิใช่บ่อเกิดอย่างเดียว ในกาลเป็นที่กระทำกุศลกรรม ผู้เบื่อหน่ายเอือมระอาใจกระทำการ. อธิบายว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ประโยชน์แห่งการงานของบุคคลเห็นปานนี้ ย่อมไม่เผล็ดผล คือไม่สำเร็จโดยชอบ ได้แก่ไม่นำไปสู่ฉกามาพจรสวรรค์ อันเป็นยอดแห่งสกุลทั้งสาม. เมื่อบุคคลประกอบซึ่งนิยกัชฌตธรรมของตน ด้วยสามารถแห่งความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น. คบหาบุคคลผู้มีปกติเช่นนั้นอย่างเดียว. ประโยชน์ของเขาย่อมสำเร็จโดยชอบ คือย่อมให้ซึ่งยศอันยิ่งใหญ่. ปัญญาอันเป็นส่วนแห่งการประกอบในเหตุการณ์ อันสมควรประกอบ ในเพราะความเพียร.จงเสพการตามรักษาทรัพย์ ที่ทำการรวบรวมไว้.ข้าแต่เสด็จพ่อ ขอพระองค์จงเสพการตามรักษาทรัพย์ที่ทำการรวบรวมไว้ โปรดเสพคำสอนสองข้อข้างต้นนี้และเหตุผลทั้งหมด ดังที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลแล้ว จงกระทำโอวาทที่ทูลมาแล้วไว้ในพระหฤทัย แล้วทรงรักษาพระราชทรัพย์ในพระคลังของ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น