++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ก.พ.ร. : พัฒนานักบริหารเปลี่ยนแปลง : นปร.

โดย แสงแดด 12 ตุลาคม 2553 17:29 น.
สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่มุ่งเน้นไปที่ “นักบริหาร-ผู้นำ” กับ “การเปลี่ยนแปลง” ที่ นับวันจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งภายในประเทศและประชาคมโลก ในกรณีของปัจจัยแทบทุกปัจจัยกับสภาพแวดล้อม (บริบท) ที่ถึงเวลาแล้วที่ “ผู้บริหาร-ผู้นำ” ต้องเกาะติดสถานการณ์ พร้อมที่จะ “ปรับเปลี่ยน” สอดคล้องกันตลอดเวลา

“โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลง (นปร.)” เป็นโครงการฯ ที่ริเริ่มจาก “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)” เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตบุคลากรให้เข้ามาสู่ระบบราชการ หรือที่เรียกขานกันว่า “ข้าราชการพันธุ์ใหม่” กล่าวคือ การพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Change Agent-Change Manager”

กลุ่มบุคลากรรุ่นใหม่นี้ จะต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่มีสมรรถนะสูง มีขีดความสามารถที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ตลอดจนเป็น “นักคิดที่มีวิสัยทัศน์-นักพัฒนา และนักวางแผนที่มีความเชี่ยวชาญ-นักปฏิบัติ” แต่ที่สำคัญที่สุดของภารกิจในการเป็น นปร. คือ “ความสามารถในการแข่งขัน” กับสภาวการณ์และบริบทภายในประเทศและประชาคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

หลักการ “ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล” ยังคงเป็นหลักการที่คลาสสิกตั้งแต่การก่อตั้งแนวคิดและทฤษฎีการบริหารจัดการและองค์การ ที่เกี่ยวกับวิชา “รัฐประศาสนศาสตร์” และ/หรือ “บริหารรัฐกิจ” ซึ่งความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “กลไก (Mechanism)” สำคัญขององค์การ (องค์กร) คือ “กลุ่มบุคลากร” หรือ “มนุษย์” ที่ประกอบไปด้วยทรัพยากรหลากหลาย และแน่นอนมีระดับความรู้ ความคิด ความชำนาญ และความคล่องตัวที่แตกต่างกัน

แต่ถ้าทุกฝ่ายทุกคนต่างยึดมั่นใน “หลักการประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล” ผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมต่างๆ ในองค์กรก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ และถ้าการบริหารจัดการยึดมั่นในหลักการ “ประหยัด” อีกด้วย ก็จะทำให้องค์กรมีความสมบูรณ์แบบครบวงจร กล่าวคือ “ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล-ประหยัด”

ทั้งนี้ การบริหารจัดการภายในองค์กรนั้น มักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะ “กิจวัตร (Routine)” ที่ผู้บริหารทุกระดับ โดยเฉพาะระดับกลางและระดับล่าง เมื่อปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องยาวนานติดต่อกัน “ความเคยชิน” และ “ความเฉื่อย” จะเกิดขึ้น จนไม่สามารถ “พัฒนา” ได้ ซ้ำร้ายในยุคปัจจุบันที่สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความจำเป็นสำหรับนักบริหารกับการเปลี่ยนแปลง จำต้องเกิดขึ้นเพื่อให้องค์กรมีความตื่นตัว กระตือรือร้น ตลอดจน การขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็น “พลวัต (Dynamism)” ได้

ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย ครั้งแรก (พ.ศ. 2546-2550) ยุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดให้เร่งสร้างบุคลากรผู้มีความสามารถระดับสูงหรือระดับหัวกะทิ เข้าสู่ระบบราชการทั้งในระดับผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับสูง (อาวุโส)

ยุทธศาสตร์ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2551-2555) ที่มีทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่ 3 มุ่งสู่การเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูง บุคลากรมีความพร้อมและความสามารถในการเรียนรู้ คิดริเริ่ม เปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่างๆ

“นักคิดที่มีวิสัยทัศน์-นักพัฒนา และนักวางแผนที่มีความเชี่ยวชาญ-นักปฏิบัติ” เป็นหลักการและแนวคิดสำคัญของ “โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.)” นอกเหนือจากหลักการคลาสสิก “ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล-ประหยัด” แล้ว

“การสร้างคนเก่ง พัฒนาคนดี” ยังเป็นกรอบแนวทางที่สำคัญเพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ป้อนเข้าสู่ระบบราชการ ที่ต้อง “ทันสมัย” ด้วยการสรรหา และคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถสูง เป็นคนเก่ง คนดี และที่สำคัญ มีความรักในการเป็น “ข้าราชการ” ตลอดจน “ทันสมัย-ทันบริบทโลก”

“สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” เป็นองค์กรมหาชนภายใต้ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)” สำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสถาบันฯ โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Institute of Good Governance Promotion (IGP)” ซึ่งแปลตรงเลยหมายความถึง “หลักธรรมาภิบาล” ที่สังคมยุคใหม่ทั้งไทยและต่างประเทศต่างเรียกร้องหา “ความเป็นธรรม” ในทุกภาคส่วน ทุกกลไกของสังคม

“โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.)” เป็นโครงการที่ดำเนินมาได้ 5 ปีกว่าๆ โดยมีการเปิดรับสมัครและการสอบอย่างเป็นระบบ โดยมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก แต่โครงการฯ สามารถรับเข้าบรรจุจากการสอบผ่านการคัดเลือกสูงสุดไม่เกิน 50 คน

และเมื่อผ่านหลักเกณฑ์และกระบวนการต่างๆ แล้ว จะถูกบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการในสายงานนักพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.พ.กำหนด โดยถือว่าระยะเวลาในการเข้าร่วมโครงการ (ประมาณ 2 ปี) คือระยะเวลาในการทดลองการปฏิบัติราชการ

กระบวนทั้งหมดของโครงการฯ คือ การเรียนเป็นหลักสูตร ฝึกงานทั้งในภาคราชการและภาคเอกชน ด้วยการถูกส่งไปปฏิบัติราชการตามจังหวัดต่างๆ และฝึกราชการต่างประเทศแห่งละ 3 เดือน พร้อมทั้งต้องส่งเอกสารทำนองสารนิพนธ์ และนำเสนอผลงานประกอบกับการตอบคำถามเชิงสัมภาษณ์ จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจบหลักสูตรของโครงการฯ

การเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องเป็น “ข้าราชการยุคใหม่” ที่ปฏิบัติหน้าที่สร้าง “ประโยชน์สุขแก่ประชาชน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น