++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เภสัชฯศิลปากรนำร่องตำรับอิมัลชันแห้งน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

น้ำมัน มะพร้าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ใครหลายคนขาดไม่ได้ ด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายแง่มุม และน้ำมันมะพร้าวยังมีองค์ความรู้ใหม่อีกมากมายที่รอให้ค้นหาคำตอบ เช่นเดียวกับอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ที่ได้พัฒนาน้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการสกัดเย็นให้อยู่ในรูปแบบของอิมัลชัน แห้ง

เภสัชกร รศ.ดร.สมลักษณ์ คงเมือง อาจารย์ ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เริ่มต้นงานวิจัยชิ้นนี้ด้วยข้อตกลงความร่วมมือในการผลิต วิจัย และพัฒนา น้ำมันและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวระหว่างคณะฯ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ทรอปิคานา ออยล์ ทั้งนี้สามารถพัฒนาได้ทั้งด้านเภสัชกรรมและทางด้านเครื่องสำอาง รวมถึงอาหารเสริม สำหรับงานวิจัยที่ได้รับมอบหมายนั้นจะเป็นการนำน้ำมันมะพร้าวที่สกัดโดยไม่ ใช้ความร้อนมาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของอิมัลชันแห้ง

ดร.สมลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจะทำให้คุณภาพออกมาดีรวมถึงยังคงรักษากลิ่นไว้ได้ คณะวิจัยจึงใช้ความร้อนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำมันมะพร้าวให้คงอยู่โดยเลือกใช้การอบแห้งที่อุณหภูมิ ต่ำไม่เกินกำหนด ซึ่งเหมาะสำหรับการปรับใช้ในอุตสาหกรรมขนาดกลาง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ทำให้แห้งอื่นที่มีราคาสูง จึงเป็นส่วนที่ท้าทายและคิดว่าเป็นกรณีศึกษาที่นักศึกษาเภสัชศาสตร์ของเรา แก้ไขได้ จึงให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 5 ร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ IRPUS สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ผลที่ได้ออกมาได้อิมัลชันแห้งที่มีความคงตัว และสามารถผสมกับน้ำให้กลับเป็นอิมัลชันได้เหมือนเดิม จากนั้นได้ทำการต่อยอดการศึกษาโดยนำมาพัฒนาใช้ในทางเภสัชกรรม ด้านการนำส่งยา ผลปรากฏว่าสามารถพัฒนาได้จริง โดยสามารถควบคุมการปลดปล่อยยาให้มีอัตราการละลายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการออกฤทธิ์ของยานั้นๆ

“มะพร้าว ในเมืองไทยมีเป็นจำนวนมาก หากเราประยุกต์ใช้น้ำมันมะพร้าวในเภสัชกรรม หรือทางเครื่องสำอาง รวมถึงด้านอาหารให้มากขึ้น จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและเศรษฐกิจในทางอ้อมเช่นกัน" ดร. สมลักษณ์กล่าว

ทั้งนี้นอกเหนือจากเรื่องราวของลักษณะงานวิจัยทางวิชาการแล้ว ยังมีการต่อยอดไปสู่กิจการทางพาณิชย์ ทางด้านบริษัท ทรอปิคานาจำกัด ได้เปิดเผยว่า "งาน ชิ้นนี้เป็นงานที่ดีทางบริษัทอยากพัฒนาให้ถึงขั้นอุตสาหกกรมได้จริง ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อพัฒนางานวิจัยขยายไปให้ถึงระดับอุตสาหกรรมใน อนาคตอันใกล้" อย่างไรก็ตามหากใครสนใจผลงานวิจัย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากวารสารวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ไทย ฉบับที่ 2 ปีที่ 1 ประจำเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น