++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กรรมหมวดที่ 3 กรรมให้ผลตามกาลเวลา

ปัจจุบันคนในสังคมจำนวนไม่น้อยเริ่มไม่เชื่อว่า ''ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว'' บางคนคิดว่า ''ผลของ กรรมไม่มี ตายแล้วไม่มีการเกิดอีก'' เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ จึงมีความเห็นคล้อยตามคำกล่าวที่ว่า ''คนทำชั่วได้ชั่วมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป'' ''ผลของกรรมไม่มี ตายแล้วสูญ'' เมื่อมีความคิดและมีความเชื่อเช่นนี้ หลายคนจึงรู้สึกท้อแท้ที่จะทำความดี แต่จากการศึกษาเนื้อหาในบทเรียนที่ผ่านมา นักศึกษาจะพบว่าเรื่องของกรรมมีความซับซ้อนมาก เพราะกรรมก็มีหน้าที่และลำดับในการให้ผลอย่างชัดเจนที่จะคอยให้ผลแก่ทุกคน ที่กระทำ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมก็ตามทั้งในอดีตชาติและในปัจจุบันชาติ ไม่มีใครสามารถหลบหนีไปได้ เนื่องจากจิตเป็นสภาพที่สะสมกิเลสและกรรม และทำหน้าที่สืบทอดกรรมต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ากรรมนั้นจะให้ผลเสร็จสิ้น เช่น เมื่อเราแอบขโมยทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่มีใครรู้เห็น เราอาจจะคิดว่ารอดตัวไป เพราะไม่มีใครจับได้ แต่ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า จิตเป็นสภาพที่สืบทอดกิเลสและกรรม ดังนั้นกรรมที่เราได้กระทำไว้จึงไม่ได้สูญหายไปไหน แต่จะให้ผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน และเมื่อถึงเวลาที่กรรมให้ผลก็จะทำให้เราสูญเสียทรัพย์สินโดยที่ไม่น่าจะ เกิดขึ้น เช่น ลงทุนทำอะไรก็ขาดทุนอยู่เสมอ หรือถูกปล้น ถูกลักขโมยทรัพย์สิน เป็นต้น

การศึกษาเรื่องของกรรมจะทำให้เราแน่ใจได้ว่า ''กรรมนั้นจะให้ผลอย่างแน่นอน'' ถึงแม้กรรมนั้นอาจจะไม่ได้ให้ผลทันทีในชาติที่ทำอกุศลกรรม แต่อกุศลกรรมนั้นสามารถติดตามให้ผลข้ามภพชาติได้ เพียงแต่จะให้ผลเมื่อไรเท่านั้น เพราะชาตินี้เขายังมีปโยคสมบัติ ประกอบกับกุศลกรรมที่เคยกระทำมาในอดีตชาติยังมีกำลังให้ผลอยู่ อกุศลกรรมที่กระทำใหม่นั้นก็ยังต้องรอโอกาสที่จะให้ผลไปก่อน ต่อเมื่อการให้ผลของการกระทำกุศลกรรมของเขาหมดกำลังลง เขาย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นแน่นอน ดังคำกล่าวที่ว่า

''คนที่ทำกรรมชั่วมักจะไม่เชื่อเรื่องการให้ผลของกรรม ตราบใดที่กรรมชั่วนั้นไม่ให้ผล เนื่องจากผลของกุศลกรรมเก่ายังให้ผลไม่หมด ทำให้ลำพองใจคิดว่าผลของกรรมชั่วไม่มี ชาติหน้าก็ไม่มีทำชั่วอย่างไรก็ไม่มีผล เพราะไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ส่วนผู้ที่ทำกรรมดีก็ภาวนาให้กรรมดีที่ได้กระทำนั้นให้ผลไวๆ เมื่อกรรมดียังไม่ให้ผล ก็เกิดความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และคิดว่าผลของกรรมดีไม่มีอีกเช่นกัน'' ซึ่งคำกล่าวนี้เป็นไปตามพระพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

''ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ ยาว ปาปํ น ปจฺจติ

ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ อถ (ปาโป) ปาปานิ ปสฺสติ

ภทฺโรปิ ปสฺสตี ปาปํ ยาว ภทฺรํ น ปจฺจติ

ยทา จ ปจฺจตี ภทฺรํ อถ (ภทฺโร) ภทฺรานิ ปสฺสติ.


แม้คนผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่

เผล็ดผล แต่เมื่อใด บาปเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาป

ว่าชั่ว ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่

กรรมดียังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใด กรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้น

เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี''
ดังนั้น จึงควรเชื่อมั่นในเรื่องการให้ผลของกรรมว่าจะให้ผลแก่ผู้กระทำอย่างแน่นอน อย่าไปคิดเปรียบเทียบคนอื่นที่เขามีฐานะดีหรือมีความสุขกว่าเรา ทั้งๆ ที่เราก็ทำบุญมามากมาย ซึ่งบางคนที่เราคิดว่าเขาดีกว่าเราอาจจะไม่ค่อยได้ทำบุญก็ได้ ความคิดเช่นนี้จะทำให้ชีวิตของเราประสบแต่ทุกข์ ยากที่จะมีความสุขในชีวิตได้และอาจทำให้คิดประชดประชันชีวิตด้วยการกระทำ อกุศลกรรม ซึ่งก็จะทำให้เราต้องได้รับทุกข์โทษต่อไปอีกอย่างยาวนาน แต่ถ้าเราเปลี่ยนความคิดมาคิดในทางที่ดี มุ่งมั่นทำดีสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน เปรียบเหมือนต้นกล้าที่บุคคลปลูกขึ้นมา ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าต้นกล้าที่ปลูกไว้จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา แก่คนทั้งหลายได้ อกุศลกรรมหรือกุศลกรรมที่บุคคลกระทำไว้ก็ต้องมีระยะเวลาในการให้ผลเช่นกัน

ในบทที่ 5 นี้ นักศึกษาจะได้ศึกษาหมวดของกรรมให้ผลตามกาลเวลา ซึ่งเป็นหมวดสุดท้ายที่จะทำให้เห็นว่า อกุศลกรรมหรือกุศลกรรมที่บุคคลกระทำไว้จะมีระยะเวลาของการให้ผลอย่างไร เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาและเข้าใจถึงความซับซ้อนของการให้ผล ซึ่งมีเนื้อหาต่อจากบทที่ 3 และบทที่ 4 ที่ได้ศึกษาผ่านมาแล้ว

การให้ผลของกรรมในหมวดนี้ภาษาบาลีเรียกว่า ปากกาลจตุกกะ เป็นกรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา ซึ่งเป็นกรรมในหมวดที่ 3 มีเนื้อหาที่ต่อจากกิจจจตุกกะที่กล่าวถึงหมวดของกรรมให้ผลตามหน้าที่ และปากทานปริยายจตุกกะที่กล่าวถึงหมวดของกรรมให้ผลตามลำดับ ซึ่งกรรมให้ผลตามกาลเวลานี้ มีอยู่ 4 ประเภท คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมที่ให้ผลในชาตินี้) อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า) อปรปริยายเวทนียกรรม (กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป) อโหสิกรรม (กรรมที่เลิกให้ผล) ในเรื่องของกรรมให้ผลตามกาลเวลา เมื่อได้ศึกษาแล้วจะทำให้ทราบถึงความสลับซับซ้อนในการให้ผลของกรรมดังใน เนื้อหาของปากกาลจตุกกะที่จะได้กล่าวต่อไปนี้


5.1 ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม


5.1.1 ความหมายของทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือให้ผลในชาตินี้ เป็นกรรมที่ให้ผลรวดเร็วเป็นปัจจุบันทันด่วน เมื่อบุคคลกระทำแล้วย่อมจะได้รับผลแห่งกรรมที่กระทำในชาติปัจจุบันนี้ ไม่ต้องรอรับผลในชาติหน้าหรือชาติไหน เป็นกรรมที่ให้ผลทันตาเห็น

5.1.2 ลักษณะของทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
จากความหมายข้างต้นอาจเปรียบทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเหมือนนายพรานเนื้อที่ยิง เนื้อด้วย ลูกศร ถ้าลูกศรถูกเนื้อก็จะทำให้เนื้อตัวนั้นล้มลงในที่นั้น นายพรานเนื้อก็จะถลกหนังของเนื้อตัวนั้นออก เฉือนเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ถือเอาเนื้อนั้นไปเลี้ยงครอบครัว แต่ถ้าลูกศรที่ยิงไปไม่ถูก เนื้อตัวนั้นก็จะหนีไปโดยไม่หันกลับมาดูอีก ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมก็เช่นกันที่มีอำนาจให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือ กุศลกรรมในปัจจุบันชาติ เพราะไม่มีอำนาจให้ผลในภพชาติหน้า ถ้าทิฏฐธรรมเวทนียกรรมไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไปทันที

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเกิดจากเจตนาที่ประกอบอยู่ในปฐมชวนจิตดวงที่ 1 เนื่องจากการกระทำต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมจะมีชวนจิตเกิดขึ้น 7 ครั้งเสมอ ซึ่งมีมากมายนับไม่ถ้วนในการกระทำอย่างหนึ่ง ในหนังสือกรรมทีปนีได้อ้างถึงอรรถกถาอรรถสาลินีว่า

ทิฏฺฺฐธมฺมเวทนียํ ปฐมํ ชวนํ ภเว

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้น ได้แก่ เจตนาที่ประกอบอยู่ในชวนจิตดวงที่ 1

จากคำกล่าวของอรรถกถาจารย์นั้นทำให้ทราบถึงลักษณะของทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่ ให้ผลเพียงแค่ในชาติปัจจุบันนี้เท่า นั้น เพราะกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ซึ่งประกอบอยู่ในชวนจิตดวงที่ 1 นี้มีกำลังน้อย ไม่มีกำลังมากเหมือนชวนะดวงที่ 2-3-4-5-6-7 เพราะเป็นชวนะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมในชาติ หน้าหรือชาติต่อๆ ไปได้ ซึ่งทิฏฐธรรมเวทนียกรรมมี 2 ประเภท ได้แก่

1) ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่บันดาลให้ได้รับผลในปัจจุบันชาตินี้ทันที เพราะกรรมประเภทนี้มีกำลังในการให้ผลมาก จึงสามารถที่จะบันดาลให้บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมได้รับผลภายใน 7 วันอย่างแน่นอน แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

- ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรม

ผลแห่งกรรมจะบันดาลให้บุคคลที่กระทำกรรมได้รับความทุกข์เดือดร้อนภายใน 7 วัน ดังเช่นกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่องพระเจ้าสุปปพุทธศากยะ

พระเจ้าสุปปพุทธศากยะเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองเมืองเทวทหะ เป็นพระบิดาของพระเทวทัตและพระนางยโสธรา พระองค์ได้ผูกอาฆาตพยาบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเหตุ 2 ประการ คือ พระพุทธองค์ทิ้งพระนางยโสธราออกบวชและยังผูกเวรกับพระเทวทัต วันหนึ่งจึงเสด็จเข้าไปปิดทางเสด็จบิณฑบาตของพระพุทธองค์ ด้วยการนั่งเสวยน้ำจัณฑ์ในระหว่างทาง ถึงแม้จะมีคนกราบทูลห้าม แต่พระองค์ก็ยังคงนั่งอยู่อย่างนั้น พระพุทธองค์จึงเสด็จกลับไป

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ''พระเจ้าสุปปพุทธะได้ทำกรรมหนัก ในวันที่ 7 จะถูกธรณีสูบที่ใกล้เชิงบันไดในปราสาท''เมื่อพระเจ้าสุปปพุทธะทรงทราบคำตรัส ของพระพุทธองค์จากจารบุรุษ จึงเสด็จหนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทชั้นที่ 7 และรับสั่งให้พวกมหาดเล็กเฝ้าที่เชิงบันได เพื่อห้ามไม่ให้พระองค์ลงไปข้างล่างตลอด 7 วัน โดยมุ่งหมายเพื่อให้พระดำรัสของพระพุทธองค์เป็นเท็จ

เมื่อถึงวันที่ 7 ม้ามงคลของพระเจ้าสุปปพุทธะเกิดคึกคะนองขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่พอม้ามงคลเห็นพระเจ้าสุปปพุทธะที่หน้าต่างก็เงียบสงบลง พระองค์จึงมีความประสงค์ที่จะลงไปจับม้ามงคล เมื่อพระองค์กำลังจะลง ประตูปราสาทได้เปิดออกเอง พวกคนแข็งแรงที่อยู่ตรงประตูเห็นเช่นนั้นก็ช่วยกันจับพระองค์ไว้ แต่ด้วยอำนาจของกรรม ทำให้พระองค์คะมำหน้าลงพร้อมทั้งแผ่นดินได้แยกออกแล้วสูบพระองค์ลงไปสู่ อเวจีมหานรกทันที พระเจ้าสุปปพุทธะได้ทำกรรมหนัก คือ การผูกโกรธอาฆาตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ต้องไปเกิดในอเวจีมหานรก เพราะกรรมนั้นเป็นปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่มีกำลังมาก จึงทำให้ผู้ที่กระทำกรรมได้รับผลในปัจจุบันชาตินี้ทันที

- ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรม

ผลแห่งกรรมจะบันดาลให้บุคคลที่กระทำกรรม ให้ได้รับความสุขความเจริญอย่างรวดเร็วภายใน 7 วัน ดังเช่นกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่องกาฬวฬิยเศรษฐี

ในสมัยพุทธกาล มีชายยากจนคนหนึ่งชื่อ กาฬวฬิยะ ทำงานหาเงินด้วยความยากลำบากวันหนึ่งภรรยาของเขาได้เตรียมข้าวยาคูและผักดอง เพื่อเป็นอาหารให้กับเขา ในวันนั้นพระมหากัสสปเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ และปรารถนาจะสงเคราะห์คนยาก พระเถระเห็นภรรยาของนายกาฬวฬิยะ จึงไปยืนที่ประตูบ้าน แต่วันนั้นนายกาฬวฬิยะออกไปทำงานนอกบ้าน ภรรยาของเขาเห็นพระเถระมายืนอยู่หน้าประตูบ้าน เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงถวายอาหารทั้งหมด แล้วไปบอกสามีด้วยความดีใจ

เมื่อนายกาฬวฬิยะทราบความที่ภรรยาของตนได้ถวายอาหารแก่พระมหากัสลัปะแล้ว เขาก็มีจิตอนุโมทนา พระมหากัสสปะรับภัตตาหารแล้วก็นำไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก พระพุทธองค์ทรงแบ่งให้ภิกษุทั้งหลายได้ขบฉันด้วย นายกาฬวฬิยะตามไปที่พระวิหารในขณะที่พระภิกษุฉันเสร็จพอดี จึงมีโอกาสได้รับประทานอาหารในส่วนที่เหลือ พระมหากัสสปะกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงอานิสงส์ที่นายกาฬวฬิยะจะได้ รับต่อหน้าเขาในเวลานั้น พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า อีก 7 วัน เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐี เมื่อเขาได้ยินดังนั้นก็ปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นจริง เพราะภรรยาของนายกาฬวฬิยะได้อาสาพระราชาเพื่อนำอาหารของพระองค์ไปให้นักโทษ ที่ถูกเสียบอยู่บนหลาวในป่าช้าที่เต็มไปด้วยอมนุษย์

ในระหว่างทางมียักษ์ตนหนึ่งฝากให้นางช่วยประกาศว่า ภรรยาของเขาซึ่งเป็นบุตรสาวของสุมนเทพได้คลอดบุตรเป็นชายแล้ว ด้วยความที่สุมนเทพมีความปีติยินดีที่ได้หลานชาย จึงยกขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ต้นไทรให้แก่นางที่นำข่าวอันเป็นมงคลมาให้ หลังจากที่นางให้อาหารแก่นักโทษที่นั่งอยู่บนหลาวแล้ว ก็ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร และเมื่อขุดทรัพย์สมบัติมากมายขึ้นมา ทั้งสองสามีภรรยาจึงได้รับฉัตรเศรษฐีจากพระองค์ให้เป็นเศรษฐีประจำเมือง มีชื่อว่า ธนเศรษฐี นับแต่นั้นมานายกาฬวฬิยะและภรรยาก็ได้รับความสุขสบายตลอดชีวิต ด้วยปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรมที่กระทำไว้ จึงทำให้ได้รับผลแห่งกุศลกรรมนั้นเป็นเศรษฐีในปัจจุบันชาตินี้

ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นกรรมที่มีกำลังมาก สามารถที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมไว้ภายในกำหนดเวลา 7 วันเท่านั้น

2) อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่บันดาลให้ได้รับผลหลังจากที่กระทำไว้แล้วเกิน 7 วัน ภายในปัจจุบันชาตินี้ เพราะกรรมประเภทนี้มีกำลังน้อยกว่ากรรมประเภทแรก จึงให้ผลแก่ผู้กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมหลังจากวันที่ 7 ไปแล้ว โดยมีกำหนดการให้ผล ดังนี้

1. อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมทั้งฝ่ายอกุศลกรรมและฝ่ายกุศลกรรม ที่บุคคลกระทำแล้วในปฐมวัย บางชนิดอาจบันดาลให้บุคคลที่กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมให้ได้รับผลในปฐมวัย บางชนิดก็ให้ได้รับผลในมัชฌิมวัย บางชนิดก็ให้ได้รับผลในปัจฉิมวัย

2. อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมทั้งฝ่ายอกุศลกรรมและฝ่ายกุศลกรรม ที่บุคคลกระทำแล้วในมัชฌิมวัย บางชนิดก็อาจบันดาลให้บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมนั้นให้ได้รับผลใน ตอนมัชฌิมวัย บางชนิดก็ให้ได้รับผลในตอนปัจฉิมวัย

3. อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมทั้งฝ่ายอกุศลกรรมและฝ่ายกุศลกรรม ที่บุคคลกระทำแล้วในปัจฉิมวัย บางชนิดย่อมสามารถดลบันดาลให้บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมให้ได้รับ ผลในปัจฉิมวัย

จากระยะเวลาการให้ผลของกรรมดังกล่าว เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นจะขอยกกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกในเรื่อง กรรมทันตาเห็นของคนชอบกินเนื้อ

ในสมัยพุทธกาล ชายคนหนึ่งมีอาชีพฆ่าสัตว์ขาย ตัวเขาเองทำหน้าที่เพชฌฆาต ทุกวันหลังจาก ฆ่าสัตว์ เมื่อแล่เนื้อแยกส่วนต่างๆ ขายเสร็จแล้ว เขาจะเลือกเนื้อสันเก็บไว้ให้ภรรยาประกอบอาหารสำหรับรับประทานในครอบครัว เขาประกอบอาชีพนี้เป็นเวลานานถึง 45 ปี โดยที่ตลอดชีวิตเขาไม่เคยมีความคิดที่จะทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่พระพุทธองค์ก็ประทับอยู่ในพระมหาวิหารเวฬุวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลไปจากบ้านของเขา และตัวเขาเองก็เคยเห็นพระพุทธองค์และเหล่าพระภิกษุอยู่ เนืองๆ แต่เขาก็ไม่เคยแม้แต่จะฟังธรรมหรือยกมือไหว้

ชายผู้นี้บริโภคอาหารโดยเฉพาะเนื้อที่เขาลงมือฆ่าด้วยตัวเองเท่านั้น จะไม่บริโภคอาหารอย่างอื่นเลย วันหนึ่งเขาขายเนื้อหมดแล้ว ได้เลือกเนื้อก้อนหนึ่งมอบให้ภรรยาสำหรับประกอบอาหาร แล้วจึงไปอาบน้ำชำระร่างกาย หมายใจว่าเมื่ออาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็จะได้บริโภคอาหารที่ภรรยาทำไว้เสร็จพอดี แต่ในระหว่างที่เขาอาบน้ำอยู่ เพื่อนสนิทของเขามาที่บ้านและเอ่ยปากขอซื้อเนื้อต่อภรรยาเขา ซึ่งภรรยาเขาได้บอกไปว่า ไม่มีเนื้อที่จะขายคงเหลือแต่เนื้อสำหรับประกอบอาหารให้ผู้เป็นสามี เพื่อนของเขาไม่ฟังอะไรวางเงินไว้แล้วหยิบเนื้อนั้นไป

สามีเมื่ออาบน้ำแต่งตัวเสร็จกลับมา หวังจะบริโภคอาหารเห็นสำรับอาหารแต่ไม่มีเนื้อจึงถามภรรยา เมื่อภรรยาบอกว่าเพื่อนของเขาเอาไปเสียแล้ว โดยไม่ฟังคำอธิบายอะไร เขามีอารมณ์ขุ่นมัวและฉุนเฉียวด้วยความหิว ลุกขึ้นคว้ามีดเดินลงจากเรือน อ้อมไปยังหลังบ้านที่มีโคผูกไว้ เมื่อไปถึงโคตัวนั้นเขาเอามือล้วงเข้าไปในปากโค ดึงลิ้นมันออกมา เฉือนด้วยมีดจนลิ้นนั้นขาด แล้วนำไปส่งให้ภรรยาเพื่อประกอบอาหาร ส่วนโคเมื่อถูกตัดลิ้นมันถึงกับอ้าปากร้องอย่างทรมานด้วยความเจ็บปวด เลือดไหลไม่หยุด และในที่สุดมันไม่สามารถทนพิษความเจ็บปวดได้จึงขาดใจตาย

เมื่อภรรยาของเขาประกอบอาหารเสร็จแล้ว เขาจึงนั่งบริโภคด้วยความหิวโหย แต่เขาบริโภคอาหารเข้าไปได้่เพียงแค่สามคำเท่านั้น ทันใดนั้นเองลิ้นของเขาได้ขาดร่วงออกมาจากปากลงสู่จานข้าว เลือดพุ่งกระฉูด เขาอ้าปากร้องลั่น คลานรอบบ้าน มีเลือดและน้ำตาไหลนองพื้น ได้รับความทุกข์ทรมานเจ็บปวดยิ่งนัก และในที่สุดเขาได้ล้มลงสิ้นใจตายไปต่อหน้าภรรยาและลูกๆ

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมจะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือ กุศลกรรมให้ได้รับผลในชาตินี้ แต่ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมจะสามารถให้ผลได้นั้น จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 4 ประการ ดังนี้

1. เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่ไม่ได้ถูกเบียดเบียนจากกรรมที่ตรงข้ามกัน หมายความว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่เป็นกุศลกรรม จะไม่ถูกเบียดเบียนจากทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่เป็นอกุศลกรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมที่จะมีโอกาสให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมให้ได้รับผล ที่ตนกระทำไว้ในปัจจุบันชาตินี้ แต่ถ้าถูกเบียดเบียนแล้วก็จะไม่สามารถให้ผลได้ และกลายเป็นอโหสิกรรมไป

2. เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่มีกำลังเป็นพิเศษ เพราะได้รับความสนับสนุนส่งเสริมจากวิบัติ 4 ประการ และสมบัติ 4 ประการ ซึ่งถ้าเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรม ก็ต้องประกอบด้วยสมบัติ 4 ประการ จึงจะสามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกุศลกรรมได้ แต่ถ้าเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรมที่ประกอบด้วยสมบัติ 4 ประการอย่างนี้แล้ว ย่อมจะไม่สามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมได้

3. เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่มีกำลังแรงมากด้วยอำนาจแห่งปุญญาภิสังขาร หมายความว่า บุคคลที่มีความตั้งใจเพียรพยายามที่จะทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรม จิตของเขาในขณะนั้นย่อมมีกำลังแรงมากที่สามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำ อกุศลกรรมหรือกุศลกรรมในปัจจุบันชาตินี้ได้ แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยปุญญาภิสังขารแล้ว ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมย่อมไม่มีกำลังมากพอที่จะให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไป

4. เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่สำเร็จลงด้วยอำนาจแห่งการกระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมต่อบุคคลที่ประกอบด้วยคุณวิเศษทั้งหลาย หมายความว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรม ก็ต้องสำเร็จลงด้วยการประกอบกรรมชั่วอย่างร้ายแรงต่อบุคคลที่ประกอบด้วย คุณวิเศษ เช่น นันทยักษ์ที่ตีศีรษะพระสารีบุตรผู้กำลังเข้านิโรธสมาบัติ จึงทำให้ถูกธรณีสูบ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรม ก็ต้องเป็นกรรมที่สำเร็จลงด้วยการประกอบความดีอย่างหนักต่อบุคคลที่ประกอบ ด้วยคุณวิเศษ เช่น มหาทุคคตะมีความตั้งใจอย่างมากที่จะถวายทาน และได้ถวายทานแด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้กลายเป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมจะสามารถให้ผล ในปัจจุบันชาตินี้ได้ ก็ต่อเมื่อประกอบด้วยลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมย่อมไม่สามารถที่จะให้ผลเกิดขึ้นได้ในปัจจุบันชาตินี้ ซึ่งถ้าให้ผลไม่ได้ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น