++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ และการเมืองภาคประชาชน

โดย สุจิตรา 17 สิงหาคม 2553 17:37 น.
โดย...สุจิตรา

ในวงการสาธารณสุขขณะนี้คงไม่มีเรื่องใดที่เป็นที่กล่าวขานเท่า (ร่าง) “พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ผู้เขียนสนใจในเรื่องนี้จนอดรนทนไม่ได้ต้องเขียนบทความก็เพราะผู้เขียนมี ความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ ตัวแบบศึกษา (Case Study) ของกระบวนการในการออกกฎหมายเพื่อที่จะให้เกิดกฎหมายที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและสังคม

ประเด็นที่มักจะได้รับการหยิบยกมาเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านได้แก่

1. ประโยชน์ของกองทุน

กลุ่มผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า การที่มีกองทุนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้การฟ้องร้องต่อบุคลากรทางการแพทย์ลดน้อยลง โดยยกตัวอย่างประเทศสวีเดน เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ และ นอร์เวย์ หรือที่นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะให้ความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนแก่คนไข้ที่ได้รับความเสีย หายแล้ว ยังมีหลักการสำคัญเพื่อลดคดีการฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาลลงด้วย โดยปรากฏในเจตนารมณ์ของร่างฉบับดังกล่าว

ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านได้ให้เหตุผลว่าการที่มีกองทุนดังกล่าวแล้วก็ไม่มีอะไร ที่รับประกันว่าการฟ้องร้องจะลดน้อยลง

ประเด็นของผู้เขียน คือ บริบทของประเทศในสแกนดิเนเวียกับประเทศไทยนั้น ต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะในแง่ของจำนวนประชากร (นอร์เวย์ 4.6 ล้านคน สวีเดน 9 ล้านคน ไทย 66.4 ล้านคน) รายได้ต่อหัวประชากร (นอร์เวย์ 58,600 เหรียญต่อหัวประชากร สวีเดน 36,800 เหรียญต่อหัวประชากร ไทย 8,100 เหรียญต่อหัวประชากร) วัฒนธรรม ประเพณี ระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน สำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การรู้ผิดชอบชั่วดี (มิเช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในช่วงที่ผ่านมา) หรือแม้แต่สำนึกในการเรื่องที่ง่ายที่สุด เช่น ในเรื่องของการใช้รถใช้ถนนก็แตกต่างกัน

ดังนั้น การที่ระบบ No-fault Liability ประสบความสำเร็จในประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและนิวซีแลนด์ มิได้เป็นหลักประกันว่าระบบดังกล่าวจะต้องประสบความสำเร็จในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้เพราะระบบดังกล่าวต้องอาศัยสำนึกที่ดีของความต้องการในการอยู่ร่วม กันอย่างสันติ ระบบดังกล่าวจึงจะขับเคลื่อนอย่างดีและมีประโยชน์ได้

การให้เหตุผลว่า ความมุ่งหวังที่จะให้การฟ้องร้องทางการแพทย์ลดลงปรากฏชัดเจนในเจตนารมณ์ของ ร่างพ.ร.บ.นั้น ก็มิได้หมายความว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องบรรลุผลเสมอไป เจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับเป็นกรอบเพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นๆ พึงใช้ในการพิจารณาดำเนินการ แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ตัวอย่างเช่น กฎหมายในคดีอาญาต่างก็มีเจตนารมณ์เพื่อให้คดีความต่างๆ ลดน้อยลง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็มิได้เป็นเช่นนั้น

2. ที่มาของเงินกองทุน

ที่ประเทศสวีเดนนั้น เม็ดเงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายฯ นั้น มาจากภาษีท้องถิ่นของประชาชน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ท้องถิ่นก็ต้องสร้างมาตรการที่รัดกุมในการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยา และผู้เขียนก็เชื่อว่า คณะกรรมการผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวก็ต้องมาจากคนในท้องถิ่น ท้องถิ่นคงไม่ยอมที่จะให้บุคคลอื่นที่เป็นคนนอกท้องถิ่นมาพิจารณาตัดสินการ ใช้จ่ายเงินของตนให้กับผู้ร้องขอ เพราะคณะกรรมการที่มาจากคนนอกไม่มีความผูกพัน และไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ต่อเงินกองทุนดังกล่าวของท้องถิ่น รวมทั้งการใช้ภาษีของท้องถิ่นนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่องบประมาณ ของประเทศ

ในกรณีของไทยนั้น เงินของกองทุนที่จะตั้งขึ้นตาม (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เรียกว่า “กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข” นำมาจาก (มาตรา 22) 1) เงินที่โอนมาจากเงินตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (ที่เหลืออยู่ ประมาณสี่พันหกร้อยล้านบาท) 2) เงินที่สถานพยาบาลจ่ายสมทบ (ตามมาตรา 21 ซึ่งระบุแต่เพียงว่า จะเรียกเก็บตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้คำนึงถึงขนาดของสถานพยาบาล จำนวนผู้รับบริการ ความถี่หรือความรุนแรงของความเสียหาย ฯลฯ ) 3) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 4) เงินเพิ่มตามมาตรา 21 วรรคสอง 5) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้กองทุน 6) ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ประเด็นของผู้เขียน คือ ความไม่ชัดเจนของที่จำนวนเงินที่สถานพยาบาลต้องจ่ายสมทบ ซึ่งตาม (ร่าง) พ.ร.บ.นี้สถานพยาบาลประกอบด้วยสถานพยาบาลของเอกชน สถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย และสถานบริการสาธารณสุขที่คณะกรรมการจะประกาศกำหนด ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลทั้งต่อผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน แพทย์เจ้าของคลินิกแพทย์ และผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐ ว่าตนเองจะต้องเสียเงินมากน้อยเพียงใด

อีกประเด็นหนึ่งคือ จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการที่พิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาจะพิจารณาโดยคำนึงอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และคำนึงถึงกำลังของกองทุน จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เงินที่จ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยานั้นจะไม่บานปลายออกไปในแต่ละปีจนกลายเป็น ภาระแก่เงินงบประมาณตามวงเล็บ 3 (เงินอุดหนุนรัฐบาล) และเป็นภาระแก่สถานพยาบาลที่อาจต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นทุกปีตามที่คณะ กรรมการกำหนดในภายหลัง

3. ความเคลือบแคลงในผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่างก็ถูกหยิบยกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุผลเบื้องลึกที่ สนับสนุนและที่คัดค้าน

ในส่วนผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ นายแพทย์อำพล จินดา หรือ นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดม ก็ถูกตั้งประเด็นว่ามีความต้องการลึกๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการเพื่อบริหารกองทุนที่มูลค่าหลายพันล้านหรือ หลายหมื่นล้านบาทในโควตาของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนทั้งสิ้น 5 คนในอนาคตหรือไม่ หรือความพยายามที่จะส่งคนของตนเข้ามามีบทบาทแทนในกรณีที่ตนเองไม่สามารถจะ เข้ามาได้ กลุ่ม NGO ซึ่งก็มีเก้าอี้ที่ชัดเจนในกรรมการถึงสามคน รวมทั้งตัวแทนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการและผู้ ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ

นอกจากนี้แล้วสำนักงาน ก.พ.ก็ติงว่า พ.ร.บ.นี้อาจซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สำนักงาน ก.พ.ร. ก็มีความเห็นว่า สธ.ควรมอบให้ สปสช.ดำเนินการขยายความครอบคลุม โดยไม่ต้องตั้งกองทุนและสำนักงานขึ้นใหม่ กระทรวงการคลังเห็นว่าใช้เงินตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้ ทำไมกลุ่มผู้ที่สนับสนุนทั้งหลายจึงไม่นำข้อท้วงติงหรือความเห็นของหน่วยงาน ดังกล่าวมาหาทางออกที่เหมาะสมกว่าการตั้งกองทุนใหม่

ในกลุ่มผู้คัดค้านซึ่งหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการแพทยสภาบาง ท่านก็ถูกตั้งประเด็นว่า ที่ออกมาคัดค้านเพราะอีกด้านหนึ่งนั้นก็มีสถานะเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งต้องเสียเงินสมทบกองทุนดังกล่าวด้วย

ประเด็นปัญหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.

ประเด็นปัญหาสำคัญที่กลุ่มผู้ออกมาคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือเป็นประเด็นที่ไม่ได้มีการระบุชัดเจนใน (ร่าง) พ.ร.บ. มีเพียงข้อความที่เขียนว่า “ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นได้” (มาตรา 6) หรือ “วิธีการและอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” ในเรื่องของการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนของโรงพยาบาลต่างๆ (มาตรา 21) ทั้งที่สองมาตราดังกล่าวเป็นมาตราที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความไม่วางใจ ความหวาดกลัวว่าเมื่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ผ่านสภาแล้ว การกำหนดรายละเอียดในภายหลังตามที่ระบุใน พ.ร.บ. จะถูกเล่นแร่แปรธาตุและจะยากในการแก้ไขดังที่มีบทเรียนมาแล้วในกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทย

ส่วนหนึ่งเหตุผลของผู้คัดค้านคือความห่วงใยในผลกระทบวงกว้างต่อสังคม ทั้งในแง่ภาระค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลที่ต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะแพทย์ทุกคนก็ต้องสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยมากขึ้น เพื่อปกป้องตนเอง ความห่วงใยในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย และความห่วงใยว่าต่อแต่นี้ไปทุกหน่วยราชการก็จะพยายามเขียนกฎหมายเพื่อตั้ง กองทุนเพื่อที่ตนจะได้เข้าไปบริหาร โดยมีกฎหมายบังคับให้สังคมต้องเอาเงินมาลงไว้ที่กองทุนที่ตั้งขึ้น

สังคมไทยเราได้เคยมีบทเรียนมามากมายแล้วกับความพยายามที่จะสร้างผล งานในประชานิยมในด้านสาธารณสุขและผลงานเหล่านั้นก็สร้างบาดแผลให้กับสังคม และภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติ เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) นัยว่าเพื่อให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง (ทั้งที่ในระบบก่อนหน้านี้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เข้าถึงได้อยู่ แล้ว แม้จะไม่มีเงินสักบาทโรงพยาบาลของรัฐก็ยังรักษาให้ฟรี)

แต่ภาระที่เกิดขึ้นคือค่าใช้จ่ายในโครงการที่นับวันมีแต่จะมากขึ้นๆ หรือ โครงการระบบการจ่ายตรงด้านค่ารักษาของข้าราชการ ที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ข้าราชการ แต่กลับสร้างภาระแก่สังคมและประเทศชาติอย่างมากในปัจจุบัน รวมทั้งสร้างช่องทางในการทุจริตและคดโกงให้เกิดขึ้นดังที่กรมบัญชีกลาง ตระหนักดี หรือ กองทุนประกันสังคม (ด้านการรักษา) ที่ให้ผู้ทำงานต้องจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าในกองทุนประกันสังคม แทนที่จะเก็บล่วงหน้าจากบริษัทห้างร้านและรัฐบาล และจะเก็บจากผู้ทำงานก็ต่อเมื่อไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ในโรคหรือการเจ็บป่วยที่ง่ายๆ ที่ผู้ทำงานน่าที่จะดูแลตนเองได้ เช่น หวัด อุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง (ยกเว้นโรคที่ต้องต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูงหรือกรณีเข้ารับการรักษาแบบ ผู้ป่วยใน (IPD)

วิธีการดังกล่าวจะกระตุ้นให้ประชาชนผู้ทำงานจะได้ใส่ใจในการดูแล สุขภาพของตน เป็นการมุ่งไปที่การป้องกันมากกว่าการรักษา ผู้ทำงานที่ดูแลสุขภาพได้ดีก็จะได้รางวัลคือไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในแต่ละปี อีกทั้งความหวาดระแวงของผู้ป่วยในระบบประกันสังคมต่อโรงพยาบาลหรือต่อแพทย์ ว่าจะได้ยาที่ไม่ดีจะได้ไม่เกิดดังเช่นทุกวันนี้ เหล่านี้คือตัวอย่างของการออกกฎหมาย กฎระเบียบที่อาจส่งผลดีต่อผู้รับบริการ แต่ส่งผลกระทบและผลข้างเคียงในระยะยาวและยากที่จะแก้ไข

คำถามมีอยู่ว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ นี้ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างหรือไม่

ถ้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างนั่นคือต่อระบบสาธารณสุข รัฐบาลและรัฐสภามีเหตุจำเป็นต้องรีบเร่งเพื่อออก พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

บทเรียนในแง่การเมืองภาคประชาชน

ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จำเป็นต้องรีบเร่งออกกฎหมายมาบังคับใช้ รัฐบาล รัฐสภา และสังคมน่าที่จะใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือหรือหนทางในการสร้างเวทีทางปัญญาเพื่อให้ ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดร่วมแสดงความเห็น ความเห็นหลากหลายมุมมอง ความเห็นที่มีหลายขนาดของการมอง ความเห็นที่มีความลึก (Perspective) ในการมองไปถึงอนาคตข้างหน้า เป็นการปูพื้นฐานการเมืองภาคประชาชนเพื่อประชาชนได้มีโอกาสและให้มีส่วนร่วม รับผิดชอบในการออกกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและผูกพันกับลูกหลาน ของเราในอนาคต มิใช่ปล่อยให้นักการเมืองในสภาบังคับวิถีชีวิตของเราจนเกิดความเสียหายอย่าง ร้ายแรงต่อสังคมและประเทศชาติดังที่เป็นมา

เวทีที่ผู้เขียนพูดถึงนี้อาจไม่ใช่เวทีทางทีวีหรือวิทยุ อาจเป็นเวทีบนโลกไซเบอร์ที่คนที่สนใจเข้าถึงโดยสะดวกทุกเวลา ไม่ใช่เวทีเพื่อให้คนทั่วไปฟังแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เวทีเพื่อทำลายฝั่งตรงข้ามและประกาศก้องว่า “ข้าคือผู้ชนะ” แต่เป็นเวทีเพื่อสร้างเวทีการเมืองภาคประชาชนให้ประชาชน บนพื้นฐานความคิดที่ต้องการให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นในสังคมในระยะยาว มิใช่คิดเพียงง่ายๆ แล้วต้องมาตามแก้ในภายหลัง

ผู้เขียนได้เคยลองเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า ถ้าทุกฝ่ายจริงใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงที่เกี่ยวข้องกับตน ทำไมไม่ทดลองนำระบบนี้มาใช้ในพื้นที่บางจังหวัดและติดตามดูผลว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปดังเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ ติดตามดูว่า การฟ้องร้องทางการแพทย์ลดลงหรือไม่ ติดตามดูว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่เราต้องการให้ดีขึ้นและเป็นเหมือนใน ประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้นดีขึ้นจริงตามเขาหรือไม่ ติดตามดูว่า ประเด็นที่กลุ่มผู้คัดค้านห่วงใย ไม่ว่าจะในเรื่องของเงินกองทุนที่บานปลาย การร้องเพื่อขอเงินชดเชยที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อติดตามและได้ผลดีแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายผู้ให้บริการแล้ว ก็สามารถที่จะขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดที่มีบริบทเหมือนกัน สุดท้ายเมื่อแนวทางดังกล่าวเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายจริง ทุกฝ่ายก็จะมาร่วมด้วยความสมัครใจ

ประเทศ ไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ประเทศไทยยังคงต้องอยู่อีกนาน เรายังมีเวลาอีกมากมาย ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่ต้องเร่งรีบออกกฎหมายหรือสร้างระบบที่อาจเกิดผลกระทบในแง่ลบทั้งในระยะ สั้นและระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น