โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์ 26 สิงหาคม 2553 18:21 น.
การที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมา ‘รบเร้า’ เป็นรอบที่สองให้เร่งดำเนินการสรรหา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่โดยเร็ว ด้วยการให้สัมภาษณ์ในทำนองอ้างความเห็นของกฤษฎีกาที่ระบุว่า
“..เรื่องการสรรหาจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมายใหม่ (ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ...) ตน เลยส่งความเห็นนี้ไปให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาด้วย ซึ่งขั้นตอนจากนี้ในส่วนของการสรรหา ก็ขึ้นอยู่กับประธานสภาจะใช้ดุลพินิจอย่างไร.. ถ้าสรรหาได้เร็ว และมีการดำเนินการจนมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็คิดว่าคงจะจบ” (คมชัดลึก, 26 ส.ค. 2553)
ท่าทีของนายอภิสิทธิ์เช่นนี้ สุ่มเสี่ยงจะเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกรอบไม่ได้ว่า ฝ่ายบริหารกำลังจะทำทุกวิถีทางเพื่อแทรกแซงองค์กรอิสระซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐ ธรรมนูญ หลังจากก่อนหน้านี้ ก็มีกรณีของการนำคำปรึกษาของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 1 ออกมาเผยแพร่กดดันให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าฯ สตง. ปฏิบัติหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ สตง. ทิ้งเก้าอี้บริหารองค์กรแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกกลุ่ม 40 ส.ว. นั้นทานเอาไว้ เพราะยังขาดความชัดเจน เรื่องการตีความการพ้นจากตำแหน่ง ผู้ว่าฯ สตง.
การรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. ของคุณหญิงจารุวรรณ เป็นเรื่องความซับซ้อนมากกว่าจะสรุปง่ายๆ แบบฉาบฉวยว่า เป็นเรื่องความยึดติดของตัวบุคคล แล้วชงให้รองฯ ซี 9 -ซี 10 ภายในองค์กรที่ไม่ได้ผ่านการสรรหาสักคนขึ้นมารักษาการตำแหน่งไปพรางๆ ได้ เพราะตำแหน่ง ผู้ว่าฯ สตง. เป็นตำแหน่งที่สืบเนื่องกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน และต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็น โดยมีวุฒิสภาเป็นผู้ให้คำปรึกษา หรือเสนอชื่อ (อ้างจากบทความเรื่อง “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ : คำถามที่ต้องมีคำตอบ”, ปรีชา เฉลิมวณิชย์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, สยามรัฐ 11 พ.ย. 2547) กอปรกับการพิจารณาเรื่องคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งแล้วหรือไม่ก็ยังเป็น เรื่องที่ซับซ้อนจากตัวบทกฎหมาย มีที่หลายตัวประกอบกัน
เดิมที่มาของเก้าอี้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯ สตง.) และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา มาจากประกาศคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งคราวนั้นคุณหญิงท่านพ่วงอีกเก้าอี้ เป็นคณะกรรมการของ คตส.ด้วย เรียกว่า ทำงานแบบทรีอินวัน แต่รับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งงานเดียว
เมื่อถึงวันที่ท่านจะพ้นไป เนื้อหาในประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 ก็กำหนดให้ผู้ว่าการ สตง. ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 (เมื่อ 4 ปีก่อน) และให้มีการสรรหาใหม่หลังจากนั้นภายใน 90 วัน ในกรณีที่ยังสรรหาไม่ได้ ให้รักษาการไปก่อน โดยการสรรหาใหม่นี้ ก็จะเป็นไปตามร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะออกมาล้อกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างจาก พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดินปี 2542
ผลคือ จนถึงวันนี้ผ่านมา 4 ปีแล้ว กฎหมายลูก หรือร่าง พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน ยังไม่คลอด ไม่ใช่เพราะแม่เป็นหมัน แต่เพราะมีความพยายามจะสกัดให้กฎหมายใหม่ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินเป็นหมัน เสีย เนื่องจากว่าร่าง พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน ที่ปัจจุบันยังไม่ผ่านสภาฯ นั้น มีฤทธิ์เยอะกว่าเก่า กล่าวคือ มาตรา 99 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้อำนาจ คตง.ฟ้องอาญาศาลที่เกี่ยวข้องเอง กรณีที่คณะกรรมการร่วมกันระหว่าง คตง.และอัยการสูงสุด ไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องร้อง และให้สำนวนการสืบสวนของ คตง.เป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพูดง่ายๆ ว่า ทั้งนักการเมือง และอัยการ (ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่) กำลังจะมีคู่ปรับเพิ่มอีก 1 องค์กรนอกจาก ป.ป.ช. นั่นจึงเป็นที่มาของมหกรรมสกัดร่างกฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน
อันที่จริงแล้ว ในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน แม้จะมีการลงมติโดย สนช.ให้ประกาศใช้ร่างกฎหมายที่สำคัญไป 2 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินที่ว่านี้ แต่สุดท้าย ร่างกฎหมายดังกล่าว ก็ถูกตีตกโดยศาลรัฐธรรมนูญ สาเหตุมาจากองค์ประชุมไม่ครบ (อ้างจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2551, 3/2551 และ 4/2551) โดยที่สังคมจนบัดนี้ ก็หาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้ ทั้งที่เรื่องดังกล่าวมีผลให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายสำคัญ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 สะดุดและติดขัดมากพอสมควร
กระทั่งล่าสุด เมื่อมาถึงมือนักการเมือง ร่างกฎหมายตัวเดียวกันนี้ จึงถูกนำเข้าสภาแบบน่าเป็นห่วงในชะตากรรม แม้จะผ่านสภาผู้แทนฯ แต่ก็เป็นจังหวะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโหวตลงมติ ในวันที่ฝ่ายค้านเล่นกลวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมสภา หวังให้สภาล่ม ก็ดูเอาเถิดใครหนอ คือ ผู้ก่อวิกฤตที่ว่านี้กันแน่
จนกระทั่งเมื่อส่งร่างดังกล่าวไปยังสภาสูง ผลเป็นไปตามความคาดหมาย ส.ว.สายอำนาจเก่า โหวตคว่ำกฎหมายฉบับนี้ด้วยอ้างว่า ให้อำนาจฝ่ายตรวจสอบ ครอบจักรวาล ทำให้เสียงในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงต้องส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แทนคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าฯ สตง.ที่พ้นจากตำแหน่งหลังมีอายุครบ 65 ปี ซึ่งมี นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ มีการหารือ โดยที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการสรรหาได้เลยหรือ ไม่ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ยังไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากวุฒิสภาลงคะแนนให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
ที่ประชุมเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของบุคคล ที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ สตง.ซึ่ง คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าในเมื่อยังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา บังคับใช้ ทำให้คณะกรรมการสรรหาฯ ไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการสรรหาได้ สอดคล้องกับ ความเห็นของประธานวุฒิสภาที่ต้องการให้มีการผ่านร่างกฎหมายสำคัญฉบับนี้ก่อน ค่อยมีการสรรหา ผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่
คำถามก็คือ รออีกหน่อยให้กระบวนการดำเนินไปโดยถูกต้องตามกฎหมายได้ไหมท่านนายกฯ แล้วค่อยสรรหา ผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่ ระหว่างนี้ก็ให้คุณหญิงจารุวรรณท่านรักษาการแทนตามอำนาจในประกาศ คปค. ถามว่า มันจะไปขัดอารมณ์ใครไม่ทราบ ...ในเมื่อ คปค.ที่อ้างถึง ก็ชุดเดียวกับที่เลขาธิการพรรคฯ ท่านหอบแจกันดอกไม้ไปแสดงความยินดี หลังยึดอำนาจได้นั่นแหละเมื่อ 19 กันยานั่นแล ชุดเดียวกันค่ะท่าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น