++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฏิรูปครู

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 29 สิงหาคม 2553 03:09 น.
นักการศึกษาส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นว่า วิธีการหนึ่งที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นก็คือ การปฏิรูปครู ที่จริงแล้วบทบาทของครูในปัจจุบันน่าจะดีขึ้นเพราะมีแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้น มากมาย ครูเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้เท่านั้น ดังนั้นถ้าเราจับจุดนี้ได้ก็สามารถพัฒนาครูได้ง่ายขึ้น

ครูสมัยก่อนสอนเก่งโดยไม่จำเป็นต้องมีปริญญา นักเรียนทุนบางคนในสมัยรัชกาลที่ 6 ยังไม่ทันจบปริญญาก็ถูกเรียกกลับมาทำการสอนก็มี นอกจากนั้นยังให้ไปเรียนวิชาช่างไม้เพิ่มเติมอีกด้วย เพราะการศึกษาในยุคก่อนเน้นความสมดุล ทั้งทางด้านสาระ ศิลปะ พละ และการทำงานที่ต้องใช้มือ

การพัฒนาครู จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง การจบปริญญายังไม่พอต้องมีประสบการณ์ และได้รับการพัฒนาต่อไป ทั้งด้านความรู้ และการดูงานฝึกอบรมเป็นระยะๆ นอกจากนั้นในระหว่างที่เป็นครู ก็น่าจะได้รับการอบรมสั่งสอนจากครูอาวุโสอีกด้วย

ระหว่างที่ผมอยู่วชิราวุธวิทยาลัย ผมให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ผมมักนัดคุยกับครู โดยเฉพาะครูสังคมศึกษาอาทิตย์ละครั้ง แนะนำหนังสือ และบทความดีๆ ให้อ่าน ปกติแล้วครูสังคมศึกษามักอาศัยตำราที่สำนักพิมพ์ต่างๆ จัดทำขึ้นในการสอนเพียงอย่างเดียว แต่ผมได้แนะนำให้ใช้หนังสือ และบทความทางวิชาการประกอบ นอกจากนั้นยังให้สำรวจว่ามีสื่อการสอนอย่างอื่น เช่น เทป วิดีทัศน์ ภาพยนตร์ ด้วยหรือไม่

การคุยกับครูนั้น บางคนเรียกว่า “coaching” ผมทำอย่างสม่ำเสมอ และยังได้สนับสนุนให้ครูไปร่วมสัมมนาทางวิชาการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาอีกด้วย การดูงานในต่างจังหวัดและต่างประเทศ ก็มีความสำคัญ เพราะนอกจากจะรู้ว่าที่อื่นใช้หลักสูตร สื่อการสอน วิธีการสอนอย่างไรแล้ว ก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นอีกด้วย

มีครูดีอยู่คนหนึ่งชื่อครูนภาเดช เป็นคนใฝ่รู้ เด็กชอบเพราะทำตัวสบายๆ แต่ก็ดูแลเด็กดี ผมแนะหนังสือดีๆ ให้ และส่งเสริมให้ไปต่างประเทศ และให้ทำงานร่วมกับครูนิวซีแลนด์เพื่อทำหนังสือ “พลเมือง-พลโลก” ซึ่งเป็นแนวการสอนสังคมศึกษาแบบใหม่ ต่อมาครูนภาเดชลาออกไปบริหารโรงเรียนเอกชนที่ราชบุรี แล้วเรียนต่อจนจบปริญญาเอก เมื่อเร็วๆ นี้ครูโทร.มาว่าจะไปสอนระดับมหาวิทยาลัย ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีประสบการณ์ทั้งการสอนและการบริหาร เมื่อไปสอนระดับมหาวิทยาลัยก็ได้เปรียบอาจารย์หลายคน ซึ่งเมื่อจบมาแล้วก็เข้ามาเป็นอาจารย์เลย

การพัฒนาครูไม่น่าจะยาก เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้ว เรามีแหล่งเรียนรู้อื่นๆ อีกมากมาย ครูจะต้องรู้ว่าแหล่งเรียนรู้ใดที่ดี ครูควรสำรวจเว็บไซต์ดีๆ และจดไว้เพื่อทำเป็นคู่มือให้เด็กด้วย ว่าหากอยากค้นคว้าเรื่องใดเพิ่มเติมจะไปหาที่ไหน

ในหลักสูตรควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่ว่าด้วยองค์ความรู้หรือสาระ ส่วนที่ 2 คือ ทักษะซึ่งรวมถึงทักษะในการถ่ายทอดความรู้ด้วย และส่วนที่ 3 คือ กิจกรรมซึ่งหมายถึงการฝึกให้ครูรู้จักสร้างกิจกรรมเพื่อประกอบการสอน ผมเห็นว่าสัดส่วนระหว่างหลักสูตรนี้ ควรเป็นสาระร้อยละ 50 ทักษะร้อยละ 30 และกิจกรรมร้อยละ 20

การนำเอากิจกรรมมาเป็นส่วนสำคัญนี้เป็นเรื่องใหม่ แต่ก่อนกิจกรรมที่ครูทำกับนักเรียนคือ ลูกเสือ และเนตรนารี กิจกรรมที่พูดถึงนี้เป็นกิจกรรมอื่นๆ เช่น การจัดให้มีการเลือกตั้งจำลอง มีสภาจำลอง หรือการออกไปพบ และถามความเห็นของกลุ่มคนที่มีความเดือดร้อน เป็นต้น เมื่อครั้งที่ผมอยู่วชิราวุธ ผมให้ครูและนักเรียนไปอยู่ร่วมกัน 3-5 วัน มีการออกไปดูการปลูกผักไร้สารพิษ การไปดูการฟื้นฟูป่าที่เขาแผงม้า การไปดูไม้กลายเป็นหิน การไปอยู่ร่วมกันกับชาวบ้าน และดูการทำไหมย้อมสีธรรมชาติ หรือการให้เด็กๆ ไปคุยกับกลุ่มชาวบ้านจากเขื่อนปากมูล เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ทั้งครู และนักเรียนชอบมาก เป็นการเรียนรู้ชีวิตจริงนอกห้องเรียน การจัดกิจกรรมเหล่านี้ต้องเตรียมการ และมีเวลาให้ ซึ่งผมจะให้ไปในวันศุกร์ และเสาร์-อาทิตย์สามารถไปตามสถานที่ต่างๆ ได้เต็มวัน

นอกจากนี้ ผมยังได้ตั้งทุนวิจัยและแต่งตำราให้ครูอีกด้วย เป็นทุนเล็กๆ 1-3 หมื่นบาท ทำให้มีตำราที่ครูแต่งเองเป็นจำนวนมาก การทำวิจัย และมีตำราของตนเองสร้างความมั่นใจให้แก่ครู แต่ทางผู้บริหารต้องเข้าใจ และหาทุนมาสนับสนุน ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะมีการลงทุนในตัวคนมากกว่าการเอาเงินไปลงในสิ่งก่อสร้าง

ในการพัฒนาครู ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศว่า เขาทำกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในประเทศตะวันตก หรือตะวันออก อังกฤษ และนิวซีแลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีครูดี โรงเรียนนานาชาติในเมืองไทย มักไปเสาะหาครูจากประเทศเหล่านี้

เราจะสังเกตว่าองค์กรครูในต่างประเทศ จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาครูด้วย เขามีวารสาร มีการจัดประชุม สัมมนาเป็นประจำ ผมเองก็ชอบอ่านวารสารของสมาคมครูอเมริกัน จะมีเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์มาก

มีข่าวว่าจะเปิดโรงเรียนเตรียมอุดมเพื่อฝึกหัดครูเป็นพิเศษ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเด็กๆ ที่จบชั้นมัธยมที่มีผลการเรียนดี มักไม่สมัครเรียนครุศาสตร์ การทำเช่นนี้ก็คงช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่จะต้องมีการคิดถึงหลักสูตรปริญญาตรี และการอบรมระยะสั้นๆ หลังจากจบการศึกษาแล้ว แทนที่จะให้ไปฝึกสอนแต่เพียงอย่างเดียว

การ มีครูดีเป็นหนทางสำคัญในการเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา แต่จะต้องปรับหลักสูตรเสียใหม่ เพื่อให้ครูตามกับโลกยุคดิจิตอลทันด้วย จึงจะเป็นผลดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น