++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีแก้ไขกามฉันทะ

2.3.1 ตามคัมภีร์
ในอรรถกถา พระไตรปิฎกได้กล่าวถึงการละกามฉันทะ ด้วยวิธีการ 6 ประการ คือ
1. การเรียนอสุภนิมิต
2. การประกอบเนืองๆ ในอสุภภาวนา
3. ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์
4. ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ
5. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
6. การกล่าวถ้อยคำแต่ที่เป็นสัปปายะ

1. การเรียนอสุภนิมิต คือ ศึกษาความไม่งามในร่างกาย โดยพิจารณาให้เห็นความเป็นของน่าเกลียดในร่างกายของตนเองและคนอื่นว่า กายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าจนจดปลายผมเต็มไปด้วยของไม่สะอาด ปฏิกูล ไม่งามทั้งสิ้น
แท้จริงร่างกายของคนเรานั้นเต็มไปด้วยของไม่สะอาดต่างๆ อยู่ภายใน และมีของไม่สะอาดไหลออกจากกายนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีทวารหรือช่องสำหรับถ่ายเทของไม่สะอาดออกจากร่างกายนี้อยู่ 9 ช่องคือ มีขี้ตาไหลออกจากตาทั้ง 2 มีขี้หูไหลออกจากหูทั้ง 2 มีน้ำมูกไหลออกจากกระพุ้งจมูกทั้ง 2 มีขี้ฟัน เลือดและอาเจียนไหลออกจากปาก มีปัสสาวะไหลออกจากทวารเบา มีอุจจาระไหลออกจากทวารหนัก นอกจากทวารทั้ง 9 นี้แล้วยังมีเหงื่อไหลออกจากรูขุมขนซึ่งท่านกล่าวว่ามีถึง 99,000 ขุม
ร่างกายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ และยังเต็มไปด้วยซากศพนานาชนิดที่มนุษย์รับประทานเข้าไป เช่น ศพเป็ด ศพไก่ ศพกุ้ง ศพปลา ศพวัว และศพควายเป็นต้น ซ้ำยังมีเชื้อโรคนานาชนิดอาศัยเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายนี้จึงเป็นรังแห่งโรค
ความไม่สะอาดในร่างกาย หากเราพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ด้วยปัญญา เราก็จะเห็นได้ชัดเจน เช่น ถ้าเจ้าของร่างกายไม่อาบน้ำเพียงวันเดียวโดยเฉพาะฤดูร้อนจะมีกลิ่น ยิ่ง ปล่อยไว้นานวันยิ่งเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น แม้เจ้าของกายเองก็ไม่ชอบใจ เมื่อพูดกันตามความจริงแล้ว กายนี้มองดูว่าสวยก็เพราะมีผิวหนังปิดไว้และเครื่องอาภรณ์ปกปิดไว้ต่างหาก ถ้าไม่มีเครื่องอาภรณ์หรือผิวหนังปกปิดไว้ก็จะสกปรกอย่างยิ่ง ไม่มีการแตก ต่างกันอะไรระหว่างร่างกายของพระราชาและคนจัณฑาล คือมีความสกปรกปฏิกูลน่าเกลียดเหมือนกันหมด ถ้าพิจารณาเห็นร่างกายว่าเป็นของไม่งามอย่างนี้จัดเป็นอสุภนิมิตก็จะทำให้ กามฉันทะสงบลงได้

2. การประกอบเนืองๆ ในอสุภภาวนา คือ หมั่นเจริญอสุภะบ่อยๆ นึกถึงความน่าเกลียด และความสกปรกในร่างกายบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย และไม่เกิดความยินดีในเรื่องเพศเรื่องกาม อันจะเป็นเครื่องขัดขวางใจไม่ให้สงบนิ่ง

3. อินทรีย์สังวร คือ การสำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ โดยอินทรีย์ในที่นี้หมายถึง ช่องทางที่ติดต่ออยู่กับภายนอก ซึ่งในตัวของคนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ 6 ทาง คือ
1. ตา
2. หู
3. จมูก
4. ลิ้น
5. กาย
6. ใจ
ร่างกายก็เหมือนบ้านที่มีประตูหน้าต่างอยู่ 6 ช่องทาง สิ่งต่างๆ ภายนอกที่เราจะรับรู้ รับทราบก็มาจาก 6 ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ดีทำให้ใจของเราสงบผ่องใสก็มาจาก 6 ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจของเราฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว ก็มาจาก 6 ทางนี้เหมือนกัน ช่องทางทั้ง 6 นี้ นับว่ามีความสำคัญมาก เราจึงควรมารู้จักถึงธรรมชาติของช่องทางทั้ง 6 นี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง 6 ไว้ดังนี้

1. ตาคนเรานี้เหมือนงู คือชอบที่ลับๆ อะไรที่เขาปกปิดเอาไว้ ชอบดู ยิ่งปกปิดยิ่งอยากดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้วไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง
2. หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา
3. จมูกคนเรานี้เหมือนนกในกรง คือชอบดิ้นรน พอได้กลิ่นอะไรหน่อย ก็ตามดมทีเดียว ว่ามาจากไหน
4. ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้า คือบ้าน้ำลาย ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร ขอให้ได้นินทาชาวบ้านละก็ชอบ
5. กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้
6. ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ

อินทรีย์สังวร ก็คือ สำรวมระวังช่องทางทั้ง 6 เพราะเรารู้ถึงธรรมชาติของช่องทางนี้แล้วก็ต้องคอยระวังใช้สติเข้าช่วยกำกับ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดมอะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้ว ก็ให้จบแค่เห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่าสวยจริงนะหล่อจริงนะ ต้องไม่นึกถึงโดยนิมิต หมายถึงเห็นว่าสวยไปทั้งตัว เช่น คนนี้สวยจริงๆ ต้องไม่นึกถึงโดย อนุพยัญชนะ หมายถึง เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสวย เช่น ตาสวย ปากสวย หรือแขนสวย ขาสวย เป็นต้น
อินทรีย์สังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ ถ้าเรามีอินทรีย์สังวรดีแล้ว โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้ อย่างที่ตั้งใจ เหมือนบ้าน ถ้าเราใส่กุญแจ ดูแลประตูหน้าต่างอย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรมาเอาไปไม่ได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีย์ไปดูในสิ่งที่ไม่ควรดู จับต้องสัมผัสในสิ่งที่ไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด ฯลฯ แม้เราจะมีความตั้งใจรักษาคุณธรรมต่างๆ ดีเพียงไร ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตูหน้าต่าง แม้จะใส่กุญแจตู้ลิ้นชักดีเพียงไร ก็ย่อมไม่ปลอดภัย โจรสามารถมาลักไปได้ง่าย
ผู้มีอินทรีย์สังวรดี สมาธิย่อมเกิดได้ง่าย สมาธิจะตั้งมั่น ปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นความสว่างภายในเห็นถึงสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เห็นถึงตัวกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและสามารถกำจัดไปให้หมดสิ้นได้

4. รู้ประมาณในโภชนะ อาหารที่กินเข้าไปก็มุ่งหวังเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงอัตภาพร่างกายให้ได้ดำรงคง อยู่เป็นปกติ แต่การไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เช่น บริโภคมากเกินไป นอกจากจะทำให้เกิดโทษ มีอาการอึดอัด ไม่สบายกาย หรือทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ แล้ว ยังเป็นเสบียงกาม ทำให้กามกำเริบได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแนะนำให้อุบาสก-อุบาสิกาผู้จะปฏิบัติธรรม ให้รักษาอุโบสถศีล หรือ ศีล 8 ซึ่งมีข้อหนึ่งที่ว่าด้วยการงดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล หลังเที่ยงวันไป เพราะอาหารในเวลานั้น จะเป็นอาหารที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน เนื่องจากช่วงค่ำ มักเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้พักผ่อน อาหารนี้จึงถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไปสะสมเก็บไว้ ซึ่งพลังงานเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้นำแปรเปลี่ยนเป็นกิจกรรม หรือการสร้างความดีต่างๆ ก็ย่อมจะเปลี่ยนเป็นพลังกามตามกระแสกิเลสที่อยู่ในใจของมนุษย์ ดังนั้น ท่านจึงแนะนำให้รู้จักการประมาณในการบริโภค ให้บริโภคแต่พอดี ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป

5. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร คือ การเข้าหากัลยาณมิตร ที่ไม่ชอบพูดเรื่องเพศ เรื่องกาม เรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือคุยเรื่องฟุ้งเฟ้อ เรื่องแต่งตัวสวยๆ งามๆ อันเป็นเหตุให้เราพลอยคิด พูด ทำ ไปเช่นเดียวกัน รวมทั้งหลีกห่างไกลจากแหล่งอบายมุข ผับ บาร์ อาบ อบ นวด สถานเริงรมย์ต่างๆ อันเป็นแหล่งมั่วสุมของสิ่งยัวยุกามให้เกิดขึ้น

6. การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ คือ พูดคุยกันในเรื่องความไม่งามของร่างกาย ที่จะทำให้เห็นทุกข์โทษภัยของความทะยานอยากในกาม รวมถึงพิจารณาให้เห็นโทษภัยของกาม และควรพูดคุยกันในเรื่องที่จะทำให้มักน้อย สันโดษ ไม่ฟุ้งเฟ้อกับสิ่งต่างๆ ภายนอกตัว อันทำให้ใจครุ่นคิด ปรารถนา และคอยแสวงหา ซึ่งเมื่อคุยเช่นนั้นใจก็จะสงบนิ่ง มีความพึงพอใจ สุขใจในสิ่งที่ตนเองมี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น