โดย ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ 23 สิงหาคม 2553 15:11 น.
โดย...ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
ความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต คือสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากว่าคนในปัจจุบันมีลูกน้อยลง และความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้คนอายุยืนยาวขึ้น ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและพัฒนาการทางการแพทย์นี้ทำให้จำนวน เด็กลดลง ขณะที่จำนวนผู้สูอายุมากขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยจะยังคงมีจำนวนเด็กและเยาวชนที่อายุ 0-19 ปี มากกว่าผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ทว่าช่วงเวลาไม่ถึง 3 ทศวรรษข้างหน้าหรือในปี 2580 จะเป็นปีที่จำนวนเด็กและเยาวชนมีเท่ากับจำนวนผู้สูงอายุ และหลังจากปี 2580 เป็นต้นไป ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าจำนวนเด็กและเยาวชน โดยคาดการณ์ว่าประมาณปี 2590 ทุกๆ บ้านที่มีคน 4 คน จะต้องมีผู้สูงอายุ 1 คน ต่างจากปัจจุบันที่มีผู้สูงอายุแค่ 1 คนในทุกๆ บ้านที่มีคน 10 คน
ทั้งนี้ จำนวนผู้สูงอายุที่ทวีขึ้นมากในอนาคตเหล่านั้นจะต้องดำรงชีวิตที่ยากลำบาก มากขึ้น เพราะนอกจากธรรมชาติของความชราจะทำให้ทำทุกอย่างเชื่องช้าลง ปวดเมื่อย เจ็บป่วยง่ายด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ ขี้เหงา และอื่นๆ อีกสารพัดแล้ว ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อยลงหรือไม่มีเลยเพราะทำงานได้น้อยลงหรือทำ งานไม่ได้เลย จนกระทั่งอาจทำให้ผู้สูงอายุตกอยู่ในภาวะความยากลำบาก หรือยากจน หรือมีเงินไม่พอใช้จ่ายได้ เพราะในปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 12 ที่มีเงินไม่พอใช้จ่ายแล้ว
ดังนั้นถ้าสัดส่วนผู้สูงอายุยากลำบากไม่เพิ่มขึ้นไปอีกก็จะทำให้ในปี 2590 มีผู้สูงอายุประมาณ 2 ล้านคนหรือเทียบเท่ากับจำนวนประชากรในจังหวัดขอนแก่นที่จะมีรายได้ไม่เพียง พอกับค่าใช้จ่าย
อนาคตของประเทศไทยที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากมหาศาลต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ จะเศร้าสลดแค่ไหน ถึงแม้ว่าในการเป็นผู้สูงวัยจะยังคงมีสิ่งดีงามอื่นๆ ตามมามากมายก็ตาม เช่น การมีประสบการณ์ในการทำสวนทำนาที่ผู้สูงอายุได้สั่งสมเรียนรู้มามากกว่าลูก หลาน หรือการมีบารมีที่เกิดจากสั่งสมความดีมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพราะมีแต่ผู้สูงอายุมากเท่านั้นที่มีบารมี ไม่มีกรณีที่เด็ก 10 ปีจะมีบารมีได้ ไม่เท่านั้นผู้สูงอายุยังมีเวลามากขึ้นจนสามารถใช้เวลากับลูกหลานได้มากขึ้น ด้วย
แต่การมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้สูงวัยจะหวัง พึ่งลูกหลานได้เหมือนสมัยอดีตที่ยังอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ทุกคนช่วยกันทำงานในสวนในไร่ในนา และลูกหลานไม่ไปไหนถ้าครอบครัวมีที่ดินมากพอให้แบ่งกันทำ เพราะว่าปัจจุบันนี้คนไทยเรียนหนังสือเพื่อทำงานในตึกติดแอร์ ไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ และลูกหลานที่ทำงานในอนาคตก็ต้องปากกัดตีนถีบ เจอวิกฤตเศรษฐกิจก็ตกงานกันได้ง่ายๆ ด้วย ดังนั้นจึงมีคำถามว่าถ้าผู้สูงอายุเห็นลูกหลานลำบากยังหวังจะไปพึ่งอีกหรือ ไม่
หากคำตอบคือไม่ ทุกคนก็น่าเตรียมตัวและพึ่งตนเองแต่เดี๋ยวนี้ โดยเข้าเป็นสมาชิกของระบบบำนาญที่สร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ในยามชราภาพ จะได้ไม่เป็นภาระครอบครัวหรือสังคมจนเกินไป
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นต้องออกแบบระบบสวัสดิการให้เหมาะสมสอดคล้องกับช่วงอายุของ ประชากรไทย เพราะตอนเป็นเด็ก คนเราต้องการสวัสดิการอย่างหนึ่ง ตอนทำงานก็ต้องการสวัสดิการที่ต่างไปจากเด็ก ตอนสูงอายุก็ต้องการสวัสดิการที่ต่างออกไปอีก ในช่วงวัยเด็กจำเป็นต้องไปโรงเรียน ได้รับการอบรมด้านความรู้และจริยธรรม ได้รับอาหารและการดูแลสุขภาพเพื่อการเติบโตสมบูรณ์สมวัย โดยเด็กจะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายว่าไม่ต้องทำงาน และในขณะเดียวกันนั้นประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดอายุเกษียณสำหรับ ประชาชนทั่วไป เพราะไม่มีระบบบำนาญสำหรับประชาชน มีแต่ระบบบำนาญสำหรับข้าราชการ ดังนั้นปัจจุบันประเทศไทยจึงมีแต่กฎหมายที่กำหนดอายุเกษียณสำหรับข้าราชการ เท่านั้น
เหตุปัจจัยเช่นนี้ทำให้ระบบการเกษียณอายุของไทยยังคงมีความเหลื่อม ล้ำ จึงควรแก้ไขโดยการสร้างระบบบำนาญที่มีความเป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยต้องเป็นระบบบำนาญที่ให้โอกาสคนไทยทุกคนมีบำนาญและให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการเตรียมตัวเองด้วย ไม่ใช่การสงเคราะห์ที่หวังพึ่งรัฐอย่างเดียว
โดยระบบบำนาญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคือระบบบำนาญพื้นฐานที่สร้าง ความมั่นใจให้กับประชากรไทย ‘ทุกคน’ ว่าจะไม่แก่ชราอย่างอดอยาก ลำบากยากแค้นแสนเข็ญ ขาดแม้กระทั่งอาหารในการดำรงชีพ เพราะการปล่อยให้ผู้สูงอายุอดอยากยากแค้นเป็นการทำลายวัฒนธรรมของความเป็นคน เอื้ออาทรและการให้ความเคารพนับถือผู้สูงอายุที่สั่งสมสืบทอดมายาวนานของ ประเทศไทยเรา
ที่สำคัญ ‘คนไทยทุกคนที่ยังเข้าไม่ถึงหลักประกันด้านรายได้ที่จัดให้โดยรัฐ’ ควรมีสิทธิในบำนาญพื้นฐานจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นชาวสวนชาวไร่ชาวนาก็ควรมีสิทธิในบำนาญพื้นฐานเท่าๆ กับลูกจ้างและคนงานรับจ้างที่ควรมีสิทธิในบำนาญพื้นฐาน รวมถึงคนทำงานทุกประเภทที่ลาออกจากงานก่อนมีสิทธิได้รับบำนาญที่รัฐจัดให้ก็ ควรมีสิทธิในบำนาญพื้นฐานนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งบำนาญพื้นฐานต้องเป็นเงินที่ไม่ต่ำกว่า 500 บาท/เดือน โดยเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพต้องปรับให้เป็นสิทธิตามกฎหมายบำนาญ และเรียกว่าเป็นบำนาญพื้นฐาน ไม่ใช่การสงเคราะห์
ทั้งนี้ ลำพังบำนาญพื้นฐาน 500 บาทอาจจะพอแค่ซื้ออาหารรับประทานประทังชีวิตเท่านั้น ทว่าถ้าจะให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่สุขสบายขึ้นจำเป็นจะต้องมีบำนาญ มากกว่านั้น ดังนั้น คนที่มีรายได้ควรจะเริ่มต้นออมเสียแต่เนิ่นๆ ตอนเกษียณอายุจะได้มีเงินใช้มากกว่า 500 บาท/เดือน โดยรัฐจะต้องสร้างมาตรการที่ทำให้คนออมมีความมั่นใจว่าเงินจะอยู่ครบด้วยการ ออกกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติสำหรับประชาชนทุกคน โดยกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิออม วิธีการออมสะดวกสบาย ง่าย ไม่เป็นภาระ มีมากออมมาก มีน้อยออมน้อย โดยรัฐจะต้องช่วยออมเหมือนๆ กันทุกคน
กรณีกลุ่มชาวนาอาจรวมตัวกันตั้งเป็นกองทุนชาวนา แล้วออมรวมกัน ส่งเงินให้กองทุนการออมแห่งชาติบริหารจัดการ กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ก็อาจรวมตัวกันตั้งเป็นกองทุนคนขับรถแท็กซี่ แล้วออมรวมกัน ส่งเงินให้กองทุนการออมแห่งชาติบริหารจัดการ เช่นเดียวกันกับกลุ่มรับงานไปทำที่บ้านและกลุ่มพนักงานเสิร์ฟก็รวมตัวกันได้ โดยใครที่ไม่มีกลุ่มก็สามารถออมโดยตรงกับกองทุนการออมแห่งชาติได้ (ดังรูป)
การสร้างสรรค์ระบบบำนาญที่เปรียบเสมือนตาข่ายรองรับไม่ให้พลัดตกหุบ เหวแห่งความแร้นแค้น ขณะเดียวกันก็สามารถลดทอนความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมเท่าเทียมในยามแก่เฒ่าขึ้นในสังคมไทยได้นั้น ภาครัฐจะต้องออกกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติให้มีบำนาญพื้นฐานสำหรับคนไทยทุก คนที่ยังเข้าไม่ถึงบำนาญที่รัฐจัดให้ โดยให้ความมั่นใจว่ากองทุนการออมแห่งชาติจะมีการบริหารจัดการที่ดี ให้ความมั่นใจกับผู้ออมว่าเงินออมจะไม่หายไปไหน โดยที่รัฐช่วยประชาชนออมตามความเหมาะสม
กรณีที่กลุ่มอาชีพต่างๆ ต้องการรวมตัวกันออม ก็ควรอนุญาต แต่เงินต้องได้รับการบริหารจัดการโดยกองทุนการออมแห่งชาติ เช่นเดียวกันกับชุมชนที่ต้องการออมผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชน ก็ควรอนุญาต แต่ต้องมาตกลงกติกากับรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนในชุมชนว่าจะได้รับ บำนาญแน่นอน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
เหนืออื่นใดรัฐต้องตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนของระบบ บำนาญนี้แล้วเดินหน้าขับเคลื่อนด้วยความมั่นใจเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงอายุไทย ได้อย่างมีศักยภาพและทันท่วงที
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น