++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์หวาน เปรี้ยว เค็ม ไทย-กัมพูชา

โดย ว.ร.ฤทธาคนี 5 สิงหาคม 2553 20:35 น.
ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีชายแดนติดกันแล้วอยู่กันอย่างสันติสุข ทุกชาติในโลกที่มีดินแดนชิดกัน มีประวัติศาสตร์รบกันขมขื่นกันมาแล้วทั้งสิ้น แม้กระทั่งประเทศที่มีทะเลขวางกั้นก็ยังรบกันนับร้อยปี เช่น อังกฤษรบกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1337 - 1453 ซึ่งเป็นสงครามร้อยปีระหว่างต่างเหล่าต่างราชวงศ์ของฝรั่งเศสแล้วโดนราชวงศ์ อังกฤษรุกรานเพื่อแก้แค้นฝรั่งเศสยุคกษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) แห่งนอร์มังดี ข้ามทะเลมาบุกอังกฤษ และชนะกษัตริย์ฮาร์โรว์ที่ 2 ที่สมรภูมิเมืองเฮสติ้งในปี ค.ศ.1066 ทำให้มีภาษาฝรั่งเศสมากมายในภาษาอังกฤษ หากจะสรุปว่าอังกฤษและฝรั่งเศสทำสงครามกัน เพื่อผลประโยชน์โดยตรงหรือผลประโยชน์ทางอ้อมรวม 15 ครั้ง ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1066 และครั้งสุดท้ายในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และสงครามยุคนโปเลียน ค.ศ.1792 - 1815 หรือช่วงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น

แต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั้นต่างเป็นสัมพันธไมตรีร่วมรบกับเยอรมนี จึงเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของอังกฤษและฝรั่งเศสมีลักษณะเปรี้ยว เค็ม และหวาน

สมมติว่าอังกฤษและฝรั่งเศสมีดินแดนติดกันโดยไม่มีช่องแคบอังกฤษขวาง กั้น อังกฤษและฝรั่งเศสอาจจะมีปัญหาชายแดนกัน และบางทีอาจจะตกลงกันไม่ได้เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในโลกที่มีปัญหาชายแดนกัน เพียงแต่ว่ายังไม่ถึงขีดสุดที่อาจจะต้องใช้กำลังทหารเป็นเครื่องตัดสิน

ความเป็นอารยะในหลายๆ ประเทศ ใช้วิธีแลกเปลี่ยนดินแดนกัน โดยที่ชนในชาติอาจยอมรับได้หากไม่เป็นการสูญเสียข้างเดียว หรือดูเหมือนว่าเสียเปรียบ เพราะการเสียเปรียบย่อมแสดงถึงความอ่อนแอกว่า หรือการเสียศักดิ์ศรีเป็นเสมือนหนึ่งถูกเหยียดหยาม

ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา หรือเขมร ก็ไม่ต่างกัน เมื่ออาณาจักรหนึ่งเข้มแข็งขึ้นก็ย่อมรุกรานอาณาจักรที่อ่อนแอกว่า เมื่อครั้งปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง หลังจากทรงสร้างพระนครศรีอยุธยา และสถาปนาเป็นเมืองหลวง มีอิทธิพลเหนือราชอาณาจักรสุโขทัยแล้ว ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่างๆ มากมายเพื่อสันติสุขและการค้าขาย และอาณาจักรขอมก็อยู่ในอาณัติแห่งไมตรีนั้นด้วย

จนกระทั่งกษัตริย์ขอมสวรรคต พระราชโอรสพระนามว่าพระบรมลำพงศ์ ทรงขึ้นครองราชย์ และด้วยความทนงพระองค์ จึงไม่ทรงยอมรับไมตรีจากราชอาณาจักรอยุธยาอีกต่อไป สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงทรงแต่งทัพและโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปที่อาณาจักรขอม โดยมีกองทัพสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพระงั่วเป็นกองทัพหนุน สามารถตีเมืองนครธม อันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอมแตกยับเยินในปี พ.ศ.1974 ส่วนพระบรมลำพงศ์สวรรคตในที่รบ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงทรงแต่งตั้งปาลัต พระราชโอรสของพระบรมลำพงศ์เป็นกษัตริย์ขอม

การรุกรานของอาณาจักรอยุธยา ทำให้นครธมถูกทำลายลง และหมดโอกาสที่จะกลับมารุ่งเรืองอีก ทั้งยังตกเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรไทยตั้งแต่นั้นมา แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเพลี่ยงพล้ำต่อพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พ.ศ. 2112 และ พ.ศ.2310 กัมพูชาหรือเขมรก็จะยกทัพมาซ้ำเติมอยุธยา

โดยในคราวเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้เป็นกษัตริย์นั้น กรุงศรีอยุธยาซึ่งถูกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองบุกยึดและริบทรัพย์สมบัติ ทั้งกวาดต้อนผู้คนไปเสียแทบสิ้นพระนครศรีอยุธยา และไม่ช้านักพระยาละแวก กษัตริย์ปกครองเขมร ที่ย้ายมาสร้างเมืองละแวกเป็นราชธานีแทนนครธม เห็นได้โอกาสจึงยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา และกวาดต้อนผู้คน ปล้นสะดมทรัพย์สินที่เหลืออยู่บ้างตามเมืองบริเวณรอบพระนครกลับไปกรุงละแวก เป็นการประกาศศักดาและล้างแค้น

ซึ่งบางครั้งกองทัพเขมรมีทหารพียงสองหมื่นก็ตีผ่านเข้ามาสู่ชานเมือง หลวงได้ถึง 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถตีหักเข้ามาปล้นกรุงศรีอยุธยาได้ จึงเข็ดหลาบไม่กล้าเข้าตีเมืองหลวง เอาแต่ปล้นสะดมเมืองต่างๆ รอบๆ พระนครศรีอยุธยาหลายครั้ง จนคนไทยกลัวทัพเขมร

ด้วยพฤติกรรมนี้ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเสด็จกลับสู่กรุงศรีอยุธยาจากหงสาวดีแล้ว ก็ทรงใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการทดสอบกำลังรบของกองทัพอยุธยา และเมื่อทรงรู้ว่าเจ้ากรุงเขมรรับสั่งให้พระยศไชยา กับพระสุรินทราชา ยกกองทัพเขมรมากวาดต้อนผู้คนแถบเมืองโคราช สมเด็จพระนเรศวรทรงจัดกองทัพช้างเร็ว ม้าเร็ว พร้อมกำลังพล 3,000 คน ไปดักซุ่มโจมตีกองทัพเขมร ซึ่งประมาทมิได้ระวังตัวจึงถูกตีแตกฉานไป

ต่อมาหลังจากประกาศอิสรภาพแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงแต่งทัพไปตีเขมรแบบถอนรากถอนโคนให้สิ้นซาก มิให้มีกำลังยกมาปล้นสะดมไทยอีกในปี พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพหลวงไปตีเขมรมีชัยชนะ จับพระสัฎฐา เจ้ากรุงกัมพูชาได้ให้ประหารชีวิต แล้วทำพิธีปฐมกรรม กวาดต้อนคนไทยกลับกรุงศรีอยุธยา ขณะเดียวกันก็กวาดต้อนชาวเขมรกลับพระนครด้วยเช่นกัน

ผ่านยุคต่างๆ ไปจนถึงยุคฝรั่งเศสล่าเมืองขึ้นยึดอินโดจีน ญวน เขมร และลาวได้ ซึ่งครั้งนั้นเป็นเมืองขึ้นไทย ยกเว้นญวน ซึ่งรบกับไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนาน 14 ปี และมีความพยายามที่จะใช้กำลังยึดไทยให้ได้ใน ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2436 หลังจากที่เรือฝรั่งเศสถูกยิงจากป้อมปืนพระจุลจอมเกล้าและเรียกค่าเสียหาย จากไทย ในระหว่างนั้นก็ยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันอยู่ 10 ปี ต่อจากนั้นก็ยืดเมืองตราดเอาไว้เป็นประกันอีก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบหรือเสียมราฐ อันเป็นที่ตั้งนครวัด นครธม กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราดและเลย แต่ฝรั่งเศสกลับยึดเมืองเกาะกง ปัจจุบันคือจังหวัดเกาะกง

ดังนั้น สัญญาว่าด้วยเขตแดนไทย-เขมร ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 ไทยยอมตกลงยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราดและเลย รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ ของอำเภอแหลมงอบในปัจจุบัน มาเป็นของไทยและฝรั่งเศสเขียนแผนที่และปักปันเขตแดนกำหนดให้พื้นที่ของ ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตฝรั่งเศสอินโดจีน

ในปีพ.ศ. 2483 นิสิตนักศึกษาทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้รับแรงกระตุ้นให้รักชาติและรำลึกถึง ร.ศ. 112 จึงเดินขบวนเรียกร้องดินแดนมณฑลบูรพา และฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่งกองกำลังบูรพาไปรบกับฝรั่งเศสและชนะ ซึ่งก็เป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นมหามิตรใหม่เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นกรุงปารีสถูกเยอรมนียึดครองไปแล้ว จำต้องยอมยกดินแดนให้ไทยเรียกว่าสมัยพิบูลสงคราม ภายใต้สนธิสัญญาโตเกียว และทำให้รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่า จังหวัดพิบูลสงคราม พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก ซึ่งรวมถึง ปราสาทพระวิหารด้วย แต่ต่อมาคืนกลับให้ฝรั่งเศสเพราะญี่ปุ่นแพ้สงครามสนธิสัญญาโตเกียวเป็นโมฆะ

ต่อมาเมื่อเจ้านโรดมสีหนุเป็นประมุขประเทศจึงฟ้องร้องเรียกปราสาทพระ วิหารคืนจนมีคำพิพากษาของศาลโลกที่ ยึดสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำใน พ.ศ. 2450 สมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านี้ขีดเส้นให้ตัวปราสาทพระวิหารอยู่ในอินจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำหรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าวรัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มิได้ทักท้วงประการใดเพราะบรรดาทูตต่างชาติในขณะนั้นต่างแนะนำให้ไทยสงบปาก เพราะมิฉะนั้นฝรั่งเศสอาจยกทัพเข้ายึดประเทศไปจึงเป็นการยอมรับโดยปริยาย ดังนั้นศาลโลกจึงตัดสินโดยใช้หลักที่ว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับ หรือที่เรียกตามหลักวิชากฎหมายว่า “กฎหมายปิดปาก” ซึ่งทำให้ไทยต้องแพ้คดี

แต่ในปัจจุบันไทยเห็นว่าปราสาทพระวิหารมีส่วนต่อเนื่องอยู่ในเขต พื้นที่ประเทศไทย จึงยื่นข้อเสนอต่อกัมพูชาที่จะร่วมกันยื่นคำขอต่อคณะกรรมการมรดกโลกของ UNESCO ในการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่กัมพูชาได้ยืนยันปฏิเสธมาโดยตลอด เพื่อให้เห็นความเป็นไปของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา

ปี พ.ศ. 2547 กัมพูชายื่นข้อเสนอ UNESCO ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ปรากฏว่าเอกสารหลายชิ้นขาดรายละเอียดสำคัญไม่ครบถ้วนตามหลักวิชา คณะกรรมการมรดกโลกจึงให้ไปปรับปรุงเอกสารใหม่

ต่อมาปี พ.ศ. 2549 กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกใหม่ ปรากฏว่าแผนที่ที่กัมพูชายื่นประกอบล้ำเข้ามาในพื้นที่ไทย โดยไม่ได้ปรึกษาหารือหรือขอความร่วมมือใดๆ จากไทยเลย ไทยได้ทักท้วงและเสนอให้ใช้วิธีขึ้นทะเบียนร่วมกัน โดยรวมโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งไทยด้วย เพื่อให้เป็นมรดกโลกที่สมบูรณ์ แต่กัมพูชาไม่ยอม และให้เหตุผลว่าเมื่อปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนของกัมพูชาตามที่ศาลโลก ได้พิพากษาแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของกัมพูชาในการยื่นคำขอนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดก โลกโดยลำพัง ไทยไม่เกี่ยวข้องและไม่มีสิทธิยื่นคำขอร่วมกับกัมพูชาได้ ถ้ามีการยินยอมให้ยื่นร่วม รัฐบาลกัมพูชาย่อมไม่อาจชี้แจงเหตุผลต่อประชาชนกัมพูชาได้

จากนั้นจนปี พ.ศ. 2550 ในการประชุมที่ไคร์สเชิร์ช กัมพูชายื่นเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียน โดยยังใช้แผนที่ฉบับเดิมที่ล้ำเข้ามาในเขตไทย นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับปราสาท ซึ่งผ่านการประเมินครั้งแรกจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ หรือ ICOMO-International Council on Monument and Sites แต่เป็นไปในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่จะนำเสนอให้เห็นว่าปราสาทพระวิหารไม่มีส่วนต่อเนื่องที่สำคัญอยู่ใน ประเทศไทย มีเพียงเฉพาะส่วนที่อยู่ในกัมพูชาเท่านั้นที่เป็นองค์ประกอบหลักที่สมบูรณ์ เพียงพอ และมีความสัมพันธ์กับชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกัมพูชา โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประการ อาทิ ตัวปราสาทบนยอดเขานั้นถูกสร้างขึ้นก่อน ส่วนบันไดที่ทอดลงมาทางทิศเหนือสู่พื้นที่ฝั่งไทยนั้นสร้างภายหลัง จึงมิใช่ส่วนประกอบที่เป็นชุดเดียวกันตั้งแต่เริ่มแรก บันไดที่ใช้มาก่อนคือบันไดหักทางทิศตะวันออกที่ขึ้นมาจากพื้นที่เชิงเขาใน ฝั่งกัมพูชา ซึ่งที่จริงแล้วบันไดนี้ไม่มีลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นทางขึ้นหลักสู่ปราสาท แต่อย่างใดเลย

จนปลายปี พ.ศ. 2550 กัมพูชาพาเจ้าหน้าที่ ICOMOS สำรวจพื้นที่บนเขาพระวิหาร มีผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เบลเยียม และอินเดีย ไปสำรวจเพื่อเตรียมทำรายงานแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาท และเพื่อให้ความเห็นทางวิชาการต่อคณะกรรมการมรดกโลก

ระหว่าง 12 - 13 มกราคม 2551 กัมพูชาร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ เพื่อให้ช่วยเตรียมการจัดทำรายงานความคืบหน้า โดยประชุมที่เมืองเสียมราฐ ไทยส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วม 2 คน แต่เขมรยังคงใช้แผนที่ล้ำเขตไทย และกีดกันไทยออกจากการมีส่วนร่วมในแผนฯ โดยให้ไทยนำเสนอแผนบริหารจัดการเฉพาะส่วนที่อยู่ในฝั่งไทย แต่แผนจัดการพื้นที่ทับซ้อนนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ช่วยจัดทำให้กัมพูชาโดยไม่ให้ไทยเกี่ยวข้อง

ผู้แทนไทยที่เข้าประชุมได้ทักท้วงการใช้แผนที่ล้ำพื้นที่ซับซ้อน และการกีดกันไม่ให้ไทยมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อน รวมทั้งคัดค้านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตัวปราสาทอย่างรุนแรง แต่เสียงเดียวย่อมแพ้หลายเสียง ผู้แทนไทยจึงถอนตัว และในวันที่ 14 มกราคม 2551 ผู้แทนไทยมอบให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ แจ้งต่อที่ประชุมทูตานุทูตประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า ไทยขอถอนตัวจากการทำรายงานดังกล่าว และประท้วงการใช้แผนที่ซึ่งแสดงเส้นเขตแดนล้ำฝั่งไทย

ในวันที่ 24 มกราคม 2551 นายวีระชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นำคณะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UNESCO ชี้แจงข้อเท็จจริงการถอนตัวจากการประชุมที่เสียมราฐ

ระหว่าง 3 - 4 มีนาคม 2551 สมเด็จฮุนเซน แจ้งต่อนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งไปร่วมประชุมที่กัมพูชาว่า จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แต่ฝ่ายไทยยังไม่เฉลียวใจว่าจะมีการเตรียมการขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวของ กัมพูชา โดยไม่ผิดหลักเกณฑ์ แต่ที่สำคัญโดยในวันที่ 6 พฤษภาคม นั้นเอง ครม.ให้ย้าย นายวีระชัย ออกจากตำแหน่ง โดยนายนพดล รัฐมนตรีให้เหตุผลว่า “ต้องการม้าที่จะให้วิ่งในลู่ที่จะให้วิ่ง” และนี่คือผลงานของนายนพดลผู้ปรุงรสชาติขมในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาให้คนไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น