++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

สานฝัน



คนเราทุกคนมีความฝัน ความฝันในที่นี้มิได้หมายถึงการนอนหลับแล้วฝันถึงเรื่องอะไรต่อมิอะไร แต่หมายถึงความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ อยากได้โน่นได้นี่ ความฝันเป็นพลังขับเคลื่อนให้เรามีความมุ่งมั่น มุมานะ ศึกษา ค้นคว้าเรียนรู้ รวมทั้งการแสวงหาแนวทาง การริเริ่มที่จะกระทำการต่าง ๆ ทั้งในหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการ

การที่จะทำความฝันให้เป็นความจริงได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยทั่วไปแล้วความฝันกับความเป็นจริงมักจะต่างกันอย่างลิบลับ คนที่ฝันอยาก เป็นเศรษฐีมีเงินล้าน แต่ไม่ทำอะไรนอกจากเที่ยวขอเลขเด็ดจากพระสงฆ์บ้าง ศาลเจ้าบ้าง ต้นไม้บ้าง คนพวกนี้คงมีโอกาสบรรลุเป้าประสงค์น้อยเหลือเกิน ดังนั้นผู้ที่ต้องการเห็นความฝันกลายเป็นความจริง คงจะต้องเริ่มด้วยการพึ่งตัวเองเป็นหลัก ต้องมีความขยันขันแข็ง อดทน พยายามหาโอกาสและแนวทาง ที่จะสร้างความสำเร็จให้แก่ชีวิตและหน้าที่การงาน บางครั้งต้องกล้าตัดสินใจ ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ปล่อยให้โอกาสผ่านไปโดยไม่พยายาม


จากการที่ผู้เขียนมีโอกาสทำงานกับเด็ก ทั้งเด็กเล็กเด็กโต จนถึงผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ได้พบว่าเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนมีปัญหาไม่รู้จักตัวเอง
ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต ไม่มีการวางแผนสำหรับอนาคต แน่นอนทุกคนมีความฝัน แต่การจะทำความฝันให้เป็นจริงยังมักจะปล่อยเป็นเรื่องโชคชะตา
มากกว่าที่จะเอาตัวขึ้นเป็นที่ตั้ง ซึ่งไม่ต่างจากพวกที่ชอบขอหวยจากต้นไม้ หรือพระภูมิเจ้าที่เท่าใดนัก


ผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่าลูกบังเกิดเกล้า และเข้าใจความหมายของคำนี้แล้วว่าหมายถึงอะไร ปัจจุบันชนชั้นกลางในสังคมไทยมีจำนวนมากขึ้นอันเป็น ผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ครอบครัวชนชั้นกลางมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น พ่อแม่มีฐานะก็อยากให้ลูกได้รับผลพวงจากการมีกำลังทรัพย์จับจ่ายใช้สอย ซื้อหาสิ่งของที่อำนวยความสะดวก สร้างความเพลิดเพลินเจริญใจให้แก่ชีวิต แต่สิ่งที่พ่อแม่ทำด้วยความหวังดีนั้น บางสิ่งบางอย่างกลับเป็นผลร้าย
ที่ร้ายที่สุดคือการให้ความรัก ความทะนุถนอมจนเกินพอดี เป็นห่วงจนเกินเหตุ ลูกโตเป็นสาวยังข้ามถนนไม่เป็น เรียนจนจบปริญญาโททำงานแล้ว
พ่อยังขับรถไปส่งตอนเช้า เย็นไปรับกลับบ้านก็มี ความรักเช่นนี้ทำให้ลูกอ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้ คิดไม่เป็น พ่อแม่ให้เรียนอะไรก็เรียน จบมาแล้วพ่อแม่ฝาก
ให้ทำงานที่ไหนได้ก็ทำ ทำได้ไม่ดีเกิดเบื่อ ไม่ชอบ บอกพ่อแม่ไม่ช้าก็ได้ทำงานที่ใหม่ ทั้งชีวิตมีแต่คนคอยช่วย เด็กพวกนี้จึงขาดความมั่นใจในตนเอง
กลัวความล้มเหลว กลัวการทดสอบ กลัวความลำบาก


พ่อแม่หลายคน โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีฐานะดีในสังคมไทยปัจจุบัน กำลังทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว ผู้เขียนอยากให้ลองศึกษาวัฒนธรรมของประเทศตะวันตก
ซึ่งมิได้หมายความว่าวัฒนธรรมของตะวันตกดีกว่าของเรา แต่เราควรศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบ นำสิ่งที่ดีมาประยุกต์ใช้ ประเทศตะวันตกมีวัฒนธรรม
เลี้ยงลูกให้พ้นอกโดยเร็ว พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกช่วยตัวเอง เด็กฝรั่งรู้จักทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ตั้งแต่เล็ก โตขึ้นหน่อยก็ออกไปทำงานช่วงปิดเทอมบ้าง
ทำงานไปเรียนหนังสือไปบ้าง (เรื่องนี้หลายคนอาจมีมุมมองต่างกันว่าไม่ดี เพราะลูกเมื่อสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะออกจากอ้อมอกของพ่อแม่เร็วเท่านั้น)


ในประเทศอังกฤษ นักเรียนจำนวนไม่น้อยที่หยุดพักการเรียนในช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว หยุดพักระหว่างกลางเพื่อไป ทำงานหาประสบการณ์ประมาณ 1 ปี ซึ่งระบบมหาวิทยาลัยของอังกฤษเปิดโอกาสให้ทำอย่างนี้ได้ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เรียนจบปริญญาตรี บางสาขาจะบังคับให้ทำงานก่อนอย่างน้อย 2 ปี จึงจะรับเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ทั้งนี้เพราะตะวันตกเห็นความสำคัญของการสร้าง ประสบการณ์ในการทำงาน การเรียนรู้ การแสวงหาโอกาส และที่สำคัญที่สุดคือการค้นพบตนเองว่าตนเองต้องการจะทำอะไรกับชีวิตในอนาคต


การเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ผู้ที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ คนที่เรารู้จักไม่ได้เป็นผู้ที่จบปริญญาสูง ๆ ไม่ใช่แต่ในเมืองไทยเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่เจริญและประชาชนพลเมืองมีการศึกษาสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง จากสถิติที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร
Forbs พบว่าคนที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก 400 คน กว่าหนึ่งในสี่ไม่ได้เรียนจบปริญญาอะไรทั้งสิ้น ความสำเร็จของเขาเหล่านั้นเกิดจาก
การทำงานหนัก การมีความคิดริเริ่ม กล้าตัดสินใจและแสวงหาโอกาสที่จะสร้างความฝันให้เป็นความจริง
โดยคุณ : ดวงใจ ตั้งสง่า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น