ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นที่รู้กันดีว่าตรงกับ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน โดยชาวพุทธถือว่า วันนี้มีความสำคัญมาอย่างยาวนาน
จนกระทั่งปี 2542 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก ต่อมาในปี 2555-2556 ก็มีการจัดพิธีพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ขึ้น
สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนายืนยาวมาได้ถึงทุกวันนี้ มาจากการรักษาธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ โดยเฉพาะช่วงต่อไปนี้คือ...
1.ช่วงตอนตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้คุณธรรม หรือคุณสมบัติอย่างน้อย 2 ข้อที่บุคคลผู้บรรลุธรรมควรจะมี ดังที่ปรากฏในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต คือ 1.ความเป็นผู้ไม่สันโดษในความดี (กุศลธรรม) และ 2.ความเป็นผู้ไม่ย่อหย่อนในความเพียร ลักษณะดังกล่าวจะประกอบพร้อมกับการอธิษฐานจิตว่า...
"หนัง เอ็น และกระดูกจงเหลืออยู่ เนื้อเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้งไปก็ตามที ผลที่เราปรารถนาแล้วที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น หากยังไม่บรรลุผลนั้น จักไม่หยุดความเพียร เพราะการบรรลุธรรมอันเลิศด้วยธรรมอันเลว ย่อมมีไม่ได้ แต่ว่าการบรรลุธรรมอันเลิศ ย่อมมีได้ด้วยธรรมอันเลิศเท่านั้น"
2.ช่วงตอนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงความสำคัญของความไม่ประมาท และความไม่อยู่ปราศจากสติอยู่หลายครั้ง ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกายว่า "เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม"
ความสำคัญของธรรมดังกล่าว แสดงไว้ผ่านการบรรลุธรรมของเหล่าสาวก ผู้เขียนขอยกประวัติพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งถูกบันทึกไว้ว่า ดำเนินตามรอยธรรมนั้น ภายหลังจากพุทธปรินิพพานมาแล้วร้อยกว่าปี พระเถระรูปนี้ คือ "พระอุปคุปต์"
ท่านพระอุปคุปต์นั้นเป็นบุตรของพ่อค้าน้ำหอม ก่อนที่ท่านจะเกิด ผู้เป็นพ่อได้ตกปากรับคำกับพระเถระศาณวาสินว่า จะถวายให้บวช พอท่านเกิดขึ้นมา พระเถระจึงเดินทางไปหาผู้เป็นพ่อ ซึ่งพ่อก็อนุญาตให้บวช
พระเถระจึงเข้าไปหาอุปคุปต์พร้อมกับคำถามว่า "ตอนนี้ใจเจ้าเป็นกุศลหรืออกุศล" อุปคุปต์กำลังขายน้ำหอมอยู่ก็ตอบว่า "ผมไม่รู้เลยว่า ใจตอนนี้เป็นกุศลหรืออกุศล"
พระเถระจึงมอบผ้าดำและผ้าขาวให้หลายผืน พร้อมกับแนะว่า "หากเจ้าจับความคิดเจ้าได้ เจ้าจะชนะทุกสิ่ง ถ้าความคิดใดเป็นอกุศลก็จงวางผ้าดำ แต่ถ้าความคิดใดเป็นกุศลก็จงวางผ้าขาว แล้วลองเพ่งพินิจในสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เจริญพุทธคุณบ่อยๆ" หลังจากนั้นพระเถระก็กลับ เพื่อให้อุปคุปต์ฝึกฝนใจให้พร้อมที่จะบวช
อุปคุปต์ก็ขายของต่อไป พอความคิดไม่ดีเป็นอกุศลเกิดขึ้น ก็วางผ้าดำลงไป ส่วนผ้าขาวนั้นนานๆ จะวางสักผืน ต่อแต่นั้น ก็เริ่มภาวนาตามที่พระเถระแนะนำ ก็เริ่มวางผ้าดำผืน ผ้าขาวผืนสลับกันไป จนท้ายที่สุดก็วางแต่ผ้าขาวอย่างเดียว แม้อุปคุปต์จะขายของไปด้วย แต่ก็ได้ปฏิบัติธรรมไปพร้อมกัน จนใจท่านเริ่มสงบจากกิเลสไปเรื่อย
ท่านรับรู้ใจของตนเองว่า ช่วงไหนดีไม่ดีเป็นการสร้างสติและไม่ประมาท และเมื่อมีสติก็จะเลือกเฉพาะสิ่งที่ดีให้กับใจ และสละสิ่งที่ไม่ดีออกไป เหมือนน้ำที่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อนอยู่ เมื่อเรามองเห็นก็จะกรองสิ่งสกปรกนั้นออกไป เพื่อเหลือแต่น้ำสะอาด ให้เราได้ดื่มกิน
ใจเราก็ไม่ต่างกัน เมื่อรู้ว่าสิ่งใดไม่ดีก็จะสละทิ้งไป แล้วเลือกรักษาเฉพาะสิ่งที่ดีที่เป็นกุศลด้วยความเพียรพยายาม อย่างไม่ลดละ ไม่นานหลังจากนั้น พระเถระก็กลับมาพาอุปคุปต์ไปบวช และปฏิบัติธรรมจนบรรลุในที่สุด
พระอาจารย์อัคภูมิ อัคคจิตโต
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา/ข่าวสดออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น