ใครๆ ก็คิดว่าการรัฐประหารในปี 2549 คงจะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะการรัฐประหารคราวนั้น ทำให้มีปัญหาตามมามากมาย ประเทศไทยต้องหยุดตัวเองอยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน แต่ในที่สุดเราก็หนีวงจรนี้ไม่พ้น จนในที่สุดรัฐประหารก็กลับมาอีกครั้ง
มักมีข้ออ้างเสมอว่า ต้นเหตุก็มาจากนักการเมืองไร้วุฒิภาวะ ทุกคนคิดถึงพรรคและพวกรวมทั้งตัวเอง ต่างฝ่ายไม่มีใครยอมใคร ไม่มีใครยอมถอย ต่างฝ่ายคิดว่าตัวเองจะชนะได้
และมักมีข้ออ้างเสมอว่า พรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมทำให้กับคนชั้นกลางไม่พอใจที่เสียภาษี ที่เอาเงินไปทุ่มเทกับเรื่องนี้ นำไปสู่ปัญหาการทุจริต-คอร์รัปชั่น
ส่วนข้ออ้างในครั้งนี้ที่ใช้ถล่มล้มรัฐบาล คือนโยบายจำนำข้าว ที่พูดกันว่าทุจริตมหาศาล
ขณะที่อีกพรรคก็ถูกอ้างว่า สร้างความไม่พอใจกับคนชั้นล่างคนระดับรากหญ้าที่มองว่าเป็นพรรคอนุรักษนิยม "คิดไม่ทัน ทำไม่เป็น" วันๆ คิดแต่เรื่องเล่นเกมการเมืองเอาชนะคะคานฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว เคยเป็นรัฐบาลก็ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ตลอด 20 กว่าปีแพ้เลือกตั้งตลอด
เมื่อเอาชนะด้วยการเลือกตั้งไม่ได้ ก็ไม่พยายามคิดนโยบายที่ดีกว่า หรือสู้ด้วยการเลือกตั้ง คาถาของฝ่ายนี้คือ กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทุจริตคอร์รัปชั่นต้องล้างระบอบทักษิณ ทั้งที่ในสมัยตัวเองเป็นรัฐบาลก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ฝ่ายหนุนรัฐประหารครั้งนี้อ้างว่า ไม่เคยมียุคไหนที่เกิด "วิกฤตศรัทธานักการเมือง" ในสภามากเท่ายุคนี้ มีตั้งแต่ทะเลาะวิวาท มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำแต่เรื่องน่าอับอายขายหน้า เวลาประชุมก็ไม่ครบองค์ประชุม กฎหมายต่างๆ ค้างเติ่งเข็นออกมาไม่ได้
จนถึงขั้นนำมวลชนที่สนับสนุนออกมาประจันหน้ากัน อันอาจนำไปสู่การปะทะกันเป็นสงครามกลางเมืองได้
ข้ออ้างอมตะคือ หากนักการเมืองเรามีคุณภาพ มีวุฒิภาวะ ยึดประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก และเล่นกันตามกติกาแล้ว จะไม่เป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างให้ทหารทำรัฐประหารได้
ทั้งที่วิธีการสั่งสอนและคัดกรองนักการเมืองที่ดีที่สุดคือ การเลือกตั้ง ที่แม้จะต้องใช้เวลานาน แต่ก็เคลื่อนไหวไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่ทุกๆ ประเทศในโลกประชาธิปไตย ล้วนใช้เวลาเรียนรู้กันมาแล้วทั้งนั้น
เพราะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองและเศรษฐกิจได้โดยตรง ทั้งจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นที่แทรกซึมอยู่ในระบบราชการมาช้านานได้ ด้วยกฎหมายที่มีคุณภาพ
คอลัมน์ เมืองไทย 25 น./ทวี มีเงิน
ข่าวสดออนไลน์, 27 พ.ค.2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น