Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
“คิดให้มากด้าน” สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือสตีฟ จอบส์ ภาษาญี่ปุ่น
…วันนี้ผมลองมาหาหนังสืออ่านที่ร้านคิโนะคูนิยะสาขาอิเซตัน ที่เซนทรัลเวิร์ล เสน่ห์ของร้านคิโนะคูนิยะในสายตาของนักอ่านคือเป็นร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่มีหนังสือให้เลือกหลากหลายทั้งหนังสือไทยและหนังสือต่างประเทศ หลังจากเดินดูหนังสือได้สักพักผมก็สังเกตเห็นว่ามีโซนที่กั้นไว้สำหรับหนังสือญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ด้วยความอยากรู้ก็ขอเดินไปดูซะหน่อย ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้มีโอกาสเห็นหนังสือญี่ปุ่นเยอะขนาดนี้วางขายในประเทศไทย ที่นี่จะวางขายหนังสือญี่ปุ่นมากครับประมาณห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของร้านได้ และคนที่เดินเลือกซื้อหนังสือโซนนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด ไปมุมไหนก็มีแต่เสียงคนพูดคุยกันเป็นภาษาญี่ปุ่น บรรยากาศชวนให้เคลิ้มไปว่ากำลังเดินอยู่ในร้านหนังสือในญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นนี่รักการอ่านสมคำเล่าลือจริง ๆ ผมเดินมาหยุดที่ตรงหน้าชั้นวางหนังสือหมวดหนึ่งเพราะสายตาไปสะดุดกับภาพใบหน้าของคนคุ้นเคยที่กำลังนอนราบอยู่บนปกหนังสือ เขาคนนี้คนทั่วโลกรู้จักกันดี บุคคลผู้สร้างสรรค์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัวไอ (i) ที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากทั่วโลก ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ก็เช่น ไอโฟน ไอแพด ไอพ็อต ครับบุคคลผู้นี้เขาคือ สตีฟ จอบส์
…หนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือสตีฟ จอบส์ ที่เขียนโดย วอเตอร์ ไอแชคสัน ที่ถูกแปลมาเป็นภาษญี่ปุ่น แต่ถ้าแค่นี้คงไม่ทำให้ผมถึงกับสะดุดหรอกครับ ความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่หนังสือเล่มเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นนี้มันต่างจากเล่มเวอร์ชันภาษาอังกฤษหรือเล่มเวอร์ชันภาษาไทยที่ผมเคยเห็น เนื่องจากเขาทำเป็นเล่มเล็กขนาดพอเหมาะมือและน้ำหนักเบามาก และด้วยเนื้อหาของหนังสือที่ค่อนข้างเยอะเขาจึงแบ่งมันออกเป็นสองเล่ม คือเล่มหนึ่งและเล่มสอง หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจมีคำถามว่า เล่มเล็กแล้วไงละ? ต้องบอกว่าที่ผมมองว่ามันเป็นสิ่งแปลกใหม่ หรือถ้าจะพูดแบบวัยรุ่น ๆ หน่อยก็ต้องพูดว่า “ครีเอทีพสุด ๆ” เพราะผมเคยคิดจะซื้อหนังสือสตีฟ จ็อบส์ หลายครั้งแล้ว แต่หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ยังไม่ตัดสินใจซื้อคือ เล่มมันใหญ่และค่อนข้างหนักทำให้พกไม่สะดวก อยากจะพกติดตัวไปอ่านเวลาขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานหรือไปนั่งร้านกาแฟก็ลำบาก คิดว่าคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือที่บ้านหลายคนก็คงเคยคิดคล้ายกันกับผม บางทีไปเจอหนังสือที่น่าสนใจแต่มันเล่มใหญ่และหนักเกินไป ก็ต้องขอเซย์โนบ้ายบายก่อนยังไม่ซื้อ
…แต่ถ้าหนังสือเล่มาันเล็กลงและเบาลงละ เราก็จะสามารถพกพาไปอ่านที่ไหนก็ได้
นี่คงเป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์ญี่ปุ่นที่แปลหนังสือเล่มนี้คิดเผื่อนักอ่านที่จะมาซื้อหนังสือของตัวเองไว้แล้ว
…เสน่ห์ของสินค้าหรือนวัตกรรมที่มาจากญี่ปุ่นที่ผมเคยได้สัมผัสคือ เขาคิดเผื่อลูกค้าหรือผู้ใช้งานไว้อย่างน้อยหนึ่งหรือสองก้าวเสมอ
เช่น การจัดโต๊ะในห้องสัมนาเป็นรูปเกือกม้าเพื่อให้ผู้บรรยายสื่อสารกับผู้เข้าร่วมสัมนาได้อย่างทั่วถึงและเข้าถึงกันได้ง่าย
การใช้กระดานไวท์บอร์ดเป็นเหล็กและใช้แท่งแม่เหล็กแปะเวลาอาจารย์ต้องการที่จะแขวนแผ่นโปสเตอร์หรือป้ายต่าง ๆ กับไวท์บอร์ทแค่ชั่วคราวทำให้ไม่ต้องใช้เทปกาวและง่ายเวลาแขวนหรือแกะแผ่นป้ายออก
การแยกประเภทขยะก่อนทิ้งเพื่อลดภาระการคัดแยกขยะและทำให้การนำขยะไปรีไซเคิลสามารถทำได้ง่าย
การขึ้นบันไดเลื่อนชิดซ้ายเพื่อให้ทางคนที่รีบเร่งได้ไปก่อนได้ง่าย
ฯลฯ
…ลองหันมามองบ้านเมืองเราผมว่าเราคิดเพื่อผู้อื่นกันน้อยนะครับ หลายครั้งก็ทำให้ผมรู้สึกตะหงิด ๆ อยู่ในใจว่าลงไปได้ไง
อย่างเช่น
…ตอนเลือกตั้ง และที่เพิ่งผ่านไปหมาด ๆ ก็การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมาหานคร ถึงฤดูเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็จะมีป้ายใหญ่ ๆ ติดตามข้างทางติดถี่มากเรียกได้ว่าทุก ๆ 2-3 เมตรต้องเจอป้ายหาเสียงอย่างน้อย 1 ป้าย ทำเอาลำบากทั้งคนเดินเท้าและคนใช้ถนนเพราะป้ายขนาดใหญ่มันไปแย่งพื้นที่ทางเท้าและบดบังวิสัยทัศน์การจราจร ติดตามทางตรงไม่เท่าไหร่แต่บางที่ไปติดตรงหัวมุมถนนที่รถเลี้ยวนี่อะสิ …เอ่อลืมคิดอะไรไปหรือเปล่า?
…วันก่อนไปห้องน้ำของห้างแห่งหนึ่งพบว่าไม่มีการดาษทิซซู่ให้เท่าดูจากร่องรอยแล้วดูออกว่าเคยมีแต่โดนปลดออกไปแล้วให้ลูกค้าไปหยอดเรียญเอาจากตู้แทน คาดว่าน่าจะเพื่อลดค่ารายจ่าย แต่หลังจากที่ผมได้ลองหยอดแล้วพบว่าตู้ไม่รับเหรียญบาทรุ่นใหม่ โชคดีที่ผมมีทิซซู่ติดกระเป๋ามาด้วยเลยรอดไป ก็เลยนึกสงสารคนที่ปวดหนัก ๆ แล้วไม่มีเหรียญจะทำอย่างไร จะหงุดหงิดแค่ไหน ผมว่าเจ้าของห้างควรจะต้องคิดนะ การลดรายจ่ายแค่เพียงเล็กน้อยกับความประทับใจของลูกค้าที่พร้อมจะกลับมาหาคุณอีกอย่างไหนมันมีค่ามากกว่ากัน
…บางอย่างมันก็ต้องมองให้ออกมากกว่าตัวเงิน
…พยายามคิดให้มากด้าน เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก ลองเป็นลูกค้าของร้านตัวเองดูสักวัน ลองใช้ชีวิตแบบชาวบ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งดูซักระยะ …ผมว่าบ้านเมืองเราคงจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายไม่แพ้ที่อื่นแน่นอน
ปล. เขียนไว้นานแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น