คำว่า 'ความสุข' เป็นคำที่ใช้เกร่อมากในการเขียนก๊อปปี้โฆษณา เช่น สุขเหลือล้ำ, สุขเหลือล้น, สุขใจเมื่อใช้...(ชื่อสินค้า) ฯลฯ แทบจะกลายเป็นกฎการตลาดที่โฆษณาส่วนใหญ่มักแสดงภาพของคนที่มีความสุขที่เกิด จากการใช้สินค้า เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม
โฆษณาที่ประสบความสำเร็จเชิงตลาด มักแสดงภาพเปรียบเทียบตามกลยุทธ Before-After นั่นคือ แสดงความทุกข์ก่อนใช้สินค้าคู่กับความสุขหลังใช้สินค้า เมื่อตอกย้ำไปนาน ๆ ผู้คนก็เริ่มคล้อยตามว่า ความสุขซื้อหาได้ เอ๊ะ! แล้วไม่จริงหรือ?
หลายคนมีความสุขมากเมื่อได้รถยนต์คันใหม่ แต่งงาน เลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนขึ้น ขายหุ้นได้ราคาดี ฯลฯ หากนี่ไม่ใช่ 'ความสุข' แล้วมันคืออะไร?
คำถามคือ หากรถยนต์เป็นต้นเหตุของความสุข ทำไมไม่ใช่ทุกคนที่สุขเมื่อได้รถยนต์คันใหม่? ทั้งนี้เพราะความสุขไม่ใช่ตัววัตถุ ไม่ใช่สสาร ความสุขเป็นกระบวนการทำงานของสมอง คนดื่มเหล้าสามารถกลบ 'ความทุกข์' ชั่วคราว เมื่อสร่างเมาทุกข์ก็ยังคงรออยู่
ความสุขแยกออกได้เป็นสองแบบ สุขพึงใจ (Happiness) กับสุขชื่นใจ (Bliss)
สุขพึงใจเป็นความสบาย เช่น การได้กินอาหารอร่อย คนรอบข้างน่ารัก แน่นอนมันรวมการได้รถยนต์คันใหม่ เลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนขึ้น ขายหุ้นได้ราคาดี การมีคู่ครองที่ดี เป็นความพึงใจที่ผูกกับวัตถุ และ/หรือสภาวะภายนอก เมื่อวัตถุหรือสภาวะภายนอกนั้นเสื่อมสลาย สุขพึงใจก็ลอกเปลือกออกเห็นตัวตนภายในคือ ทุกข์
สุขชื่นใจลึกซึ้งกว่านั้นมาก สุขชื่นใจซื้อหาไม่ได้ เพราะเป็นความรู้สึกและตัวตนภายใน ขณะที่สุขพึงใจคือการรับ สุขชื่นใจคือการให้ ขณะที่สุขพึงใจคือความดื่มด่ำ สุขชื่นใจคือความเข้าใจ
การเข้าสู่สภาวะนิพพานทางพุทธ หรือเซนโตริทางเซน ก็คือความเข้าใจที่ก่อให้เกิดสุขชั้นสูง อันปูฐานมาจากการรู้จักพอ ปรัชญาพุทธสอนให้มองความสุขว่า เป็นความเข้าใจในสภาวะของตัณหา เมื่อเข้าใจก็เกิดความสันโดษ พอเพียง ชีวิตก็เรียบง่าย
ความสุขชื่นใจเกิดมาจากสติความรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยความเยือกเย็น ไม่ร้อนรน และสงบเสงี่ยม ทว่า นี่ไม่ใช่คุณสมบัติที่ได้มาง่าย ๆ ต้องผ่านประสบการณ์ การทดสอบ และความทุกข์
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่หล่อหลอมผู้คนให้ไขว่คว้าหาความสุขตามแนวทางที่การตลาดกำหนด ตัณหาใหม่ ๆ ถูกสร้างขึ้นตามจุดหมายแห่งกำไรสูงสุด เนื่องจากสุขไม่ใช่สสาร การผูกตัวเองกับวัตถุนิยมจึงเป็น 'ความสุข' ประเดี๋ยวประด๋าว เหมือนไฟไหม้ฟาง มาวูบเดียว ไปวูบเดียว
วินทร์ เลียววาริณ, 4 กุมภาพันธ์ 2549
ข่าวหน้าหนึ่ง www.winbookclub.com
Photo: Sapa, Lao Cai, Vietnam.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น