Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
Trust พื้นฐานของความสำเร็จระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง
ปัญหาโลกแตกที่ยังคงหาทางแก้ไขไม่ได้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือปัญหาเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องที่ต้องทำงานด้วยกัน หัวหน้างานเองก็มักจะบ่นว่า ลูกน้องบางคนของตนเองนั้นไม่ได้เรื่อง สอนเท่าไหร่ก็ไม่จำ บอกอะไรก็ไม่เคยฟัง ไม่เคยคิดที่จะปรับปรุงตนเองเลย ส่วนลูกน้องหรือพนักงานที่ลาออกจากงานก็มักจะมีปัญหากับหัวหน้างานของตนเอง ซึ่งมักจะมองว่าหัวหน้างานของตนนั้นไม่มีความสามารถมากพอ เลือกที่รักมักที่ชัง มีแต่ความลำเอียง เล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ
ในเชิงทฤษฎีนั้น มีการอบรมและให้แนวทางกันอย่างมากมายว่า การที่จะเป็นหัวหน้างานที่ดีได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และต้องทำตัวอย่างไรบ้าง โดยทั่วไปหัวหน้างานที่ดีนั้นจะต้องมีบทบาทหน้าที่คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
• การสร้างแรงจูงใจ การสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน นี่คือสิ่งแรกที่เป็นบทบาทหน้าที่ของหัวหน้า หรือผู้นำทีมเลยก็ว่าได้ คนที่เป็นหัวหน้าและผู้นำที่ดีนั้น จะต้องมีคุณสมบัติก็คือ สามารถที่จะสร้างแรงจูงใจให้พนักงานในทีมของตนเองให้มีความรู้สึกที่อยากจะทำงานด้วยความเต็มใจ และพอใจ รวมทั้งสามารถที่จะสร้างแรงบันดาลในให้กับพนักงานในทีมงานได้ พนักงานในทีมก็จะทำงานอย่างมีพลัง และมีแรงผลักดันความสำเร็จในการทำงานด้วนตนเองมากขึ้น
• การพูดคุยสื่อความ หัวหน้างานที่ดีจะต้องมีการสื่อความที่ดีระหว่างลูกน้องของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบาย เป้าหมายงาน แผนงานต่างๆ จะต้องทำให้พนักงานเข้าใจ และมองเห็นภาพเป้าหมายเดียวกันให้ได้ นอกจากนั้นยังต้องสื่อความในเรื่องของผลงานที่ออกมา ต้องบอกพนักงานได้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรที่ต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไป รวมทั้งสื่อความเพื่อให้พนักงานเกิดพลังมากขึ้น ไม่ใช่สื่อความเพื่อทำลายล้างทีมงาน และทำลายความรู้สึกของพนักงาน
• การสร้างทีมงาน หัวหน้างานที่ดีต้องมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพนักงานทุกคนในทีมงานให้ได้ เป็นผู้ที่เสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นทีมร่วมกัน ทำให้พนักงานในทีมเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และมีความสนุกสนานในการทำงานร่วมกัน แม้ว่างานจะเครียดแค่ไหนก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ในทีมงานก็ยังคงประสานสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี
• การสอนงานและพัฒนาพนักงาน บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหัวหน้างานยุคปัจจุบันก็คือ การพัฒนาลูกน้องของตนเอง โดยอาศัยเทคนิคการ Feedback และการ Coaching หัวหน้างานที่ดีจะต้องสามารถพูดคุยเรื่องของผลงานของพนักงานได้อย่างชัดเจน บอกสิ่งที่พนักงานจะต้องปรับปรุงได้ และยังสามารถที่จะสอนงาน ให้คำแนะนำแก่พนักงานได้อย่างดี
แค่ 4 หัวข้อข้างต้น ถ้าหัวหน้างานสามารถทำได้ครบถ้วนทั้ง 4 ข้อจริงๆ ผมเชื่อว่าผลงานของทีมงาน ผลงานขององค์กรจะต้องดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขวัญกำลังใจในการทำงานของพนักงานก็จะดีขึ้น แรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น พนักงานได้รับการพัฒนา ต่อยอดความรู้ ทักษะ จนทำให้พนักงานมีความสามารถมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น
ความสำเร็จของบทบาทของหัวหน้าทั้ง 4 ประการข้างต้นนั้น ฝากไว้กับคำแค่เพียงคำเดียวเท่านั้น ก็คือคำว่า “Trust” ก็คือ พนักงานมีความเชื่อถือของหัวหน้าของตนเองมากแค่ไหน และตัวหัวหน้าเองสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับตัวพนักงานได้มากสักแค่ไหน
แค่พนักงานไม่ Trust หัวหน้า ทุกอย่างก็จะล้มหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างแรงจูงใจ การสื่อความ การสร้างทีมงาน และการสอนงาน พนักงานจะไม่ฟัง ไม่เชื่อ และไม่ทำตามอะไรเลยเพราะแค่เพียงหัวหน้าไม่มีความน่าเชื่อถืออยู่เลย
ดังนั้นในหลายๆ องค์กรที่ปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องไม่เคยแก้ไขได้เลย สาเหตุลึกๆ ก็คือเกิดจาก การที่ลูกน้องไม่เชื่อในตัวหัวหน้า และหัวหน้าเองก็ไม่เชื่อมั่นในตัวลูกน้อง ไม่ว่าองค์กรจะพยายามพัฒนา และฝึกอบรมทักษะในการเป็นหัวหน้างานที่ดีให้กับเหล่าบรรดาหัวหน้างานสักแค่ไหน ผลสุดท้าย ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้เลย เพราะความเชื่อมั่นในระหว่างกันมันไม่เกิดขึ้นนั่นเอง
แล้วการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้องจะสร้างได้อย่างไร
• ให้ความรักแก่ลูกน้องของตนเองอย่างจริงใจ ก็คือ มีความหวังดี คิดดี ทำดี อย่างจริงใจกับลูกน้องของตนเอง ไม่คิดที่จะกดหรือปิดบังผลงานของลูกน้อง หรือเอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้ลูกน้องไปทั้งหมด มีความตั้งใจจริงที่จะให้ลูกน้องเจริญก้าวหน้า และมีทักษะที่สูงขึ้น กรณีนี้ไม่ใช่แค่การพยายามขึ้นเงินเดือนให้ลูกน้องเยอะๆ และพยายามผลักดันให้ลูกน้องได้เลื่อนตำแหน่งทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลใดๆ นะครับ แต่จะหมายถึงความตั้งใจที่จะทำให้ลูกน้องเก่งขึ้นจริงๆ มีความรัก ความหวังดีให้อย่างจริงใจ ซึ่งลูกน้องเองมองออกอยู่แล้วว่า ลูกพี่ของตนมีความจริงใจให้ตนเองสักแค่ไหน
• ทำงานสร้างผลงานที่ดีด้วยตนเอง หัวหน้าที่จะสร้างความน่าเชื่อถือได้นั้น จะต้องเป็นหัวหน้าที่ทำงานด้วยตนเอง ประสบความสำเร็จในการทำงานด้วยความสามารถของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกน้องได้เห็นเอง และสิ่งเหล่านี้ ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้องของตนเองได้ โดยที่หัวหน้าเองไม่ต้องไปพูดจากป่าวประกาศถึงความเก่งของตนเองเลย แต่พนักงานจะเห็นจากผลงานที่ทำ เห็นจากความสามารถในการทำงาน แล้วว่าน่าเชื่อถือ ก็จะเกิดขึ้นได้ พนักงานก็จะรู้สึกว่าหัวหน้าเป็นที่พึ่งในเรื่องงานได้อย่างแน่นอน
• รักษาสัญญา หัวหน้าที่ลูกน้องเชื่อมั่น ส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้าที่รักษาคำพูด รักษาสัญญา คำไหนคำนั้น พูดแล้วไม่คืนคำ ไม่พูดจาเพ้อเจ้อไปเรื่อย โดยที่พนักงานเชื่อแล้ว จากนั้นก็มาผิดสัญญาที่ให้ไว้ แบบนี้พนักงานก็จะไม่มีความเชื่อมั่นในตัวหัวหน้าเลย
• ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น หัวหน้าที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้องได้ จะต้องมีนิสัยซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อสั่งให้พนักงานทำแบบนั้น ตนเองก็ต้องทำแบบนั้นให้เป็นตัวอย่างด้วย ไม่ใช่บอกให้พนักงานทำ แต่ตนเองทำไม่ได้ รวมถึงการปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยความเสมอภาค ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
และเมื่อเราสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้องของเราได้แล้ว การสร้างแรงจูงใจ การสื่อความ การสร้างทีมงาน และการสอนงาน รวมถึง บทบาทอื่นๆ ของหัวหน้าก็จะสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหาขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง
แค่เพราะลูกน้องเชื่อมั่นในตัวลูกพี่ ทุกอย่างก็ราบรื่น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น