++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

รักคนอื่นหรือรักตัวเอง? วินทร์ เลียววาริณ


เมื่อเปิดกระเป๋าสตางค์เพื่อจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการ พบเห็นธนบัตรสองใบ ใบหนึ่งใหม่เอี่ยม ใบหนึ่งเก่า คุณหยิบใบใหม่หรือใบเก่าออกมาจ่าย? ทุกคนที่ผมถามตอบเหมือนกันว่า "ใบเก่าน่ะซี" (ไม่น่าถาม) ทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน ธนาคารทุกแห่งเตรียมสำรองธนบัตรใหม่เอี่ยมสำหรับให้ลูกค้าแลก เพื่อแจกอั่งเปาแก่คนที่รัก

ทำไม? ใช่ไหมว่านี่เป็นสัญชาตญาณเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง? ของไม่ดีเพื่อคนอื่น ของดีเพื่อคนที่รัก? บางทีมันบอกว่า โดยส่วนลึกเราทุกคนเป็นคนเห็นแก่ตัว จริงหรือ? แล้วเราจะอธิบายการที่คนทำอาหารอย่างดีที่สุดไปทำบุญอย่างไร? หรือว่าการทำบุญก็เพื่อตัวเองนั่นเอง?

พ่อแม่หลายคนบอกว่า "ฉันรักลูกของฉันมาก ถึงขนาดยอมตายแทนลูกได้" ผมเชื่อว่าพวกเขาพูดจริงและทำจริง แต่ในสถานการณ์คับขันที่อาจเกิดอันตรายกับตัวเอง ปฏิกิริยากับความเชื่ออาจสวนทางกับสัญชาตญาณเอาตัวรอด ยกตัวอย่างเช่น หากมีงูสองตัวตกลงมาบนตัวคุณกับลูกพร้อม ๆ กัน คุณจะปัดงูตัวไหนออกก่อน?

ความเห็นแก่ตัวในระดับสัญชาตญาณไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นการเอาชีวิตรอดตามกฎธรรมชาติ โปรแกรมนี้ฝังในตัวเราแต่แรกปฏิสนธิ แม้การพัฒนาของสิ่งที่เรียกว่าความรัก ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน อาจช่วยขัดเกลาสัญชาตญาณดิบออกไปได้บ้าง แต่ความเห็นแก่ตัวยังคงอยู่ บางครั้งซ่อนอยู่ในเปลือกของความรัก

พ่อแม่จำนวนมากอยากให้ลูกของตนเรียนวิชาที่ตนเองต้องการ โดยไม่สนใจว่าลูก(ที่ตนรัก) คิดอย่างไร เหตุผลคลาสสิกที่บอกลูกคือ "เพราะพ่อแม่รักลูกมาก อยากให้ลูกได้ดิบได้ดี" แต่บางทีอาจแฝงความเห็นแก่ตัวของตนอยู่ลึกๆ

ชีวิตในโลกปัจจุบันเอื้อให้มนุษย์เราเห็นแก่ตัวได้ง่ายขึ้นทุกที และเป็นความเห็นแก่ตัวที่ดูน่าเกลียดน้อยลง ข้ออ้างคือความเร่งรีบของชีวิต ความมั่นคงของชีวิต ฯลฯ นักการตลาดเข้าใจเรื่องนี้ดี และนิยมใช้คำกระตุ้นเชิงจิตวิทยาย้อนศรว่า "จำกัดให้ซื้อเพียงคนละสองชิ้น"

ชาวพุทธใช้การกำจัดความเห็นแก่ตัวเป็นหนทางไปสู่การลดทุกข์ เครื่องมือลดละความเห็นแก่ตัวก็คือ การทำทานทั้งกายทั้งใจ สะท้อนในวิถีชีวิตของคนไทยโบราณ ตั้งแต่การทำบุญ การวางภาชนะใส่น้ำหน้าบ้านสำหรับผู้ผ่านทางที่กระหาย การแบ่งปันอาหารแก่เพื่อนบ้าน ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งละ เลิก ปล่อยวางเท่าใด ก็ยิ่งมีความสุข

เมื่อหย่อนเหรียญในขันของขอทานริมทาง คุณถือโอกาสกำจัดเหรียญสลึงที่รกกระเป๋าไปด้วยหรือไม่?

วินทร์ เลียววาริณ, 11 มิถุนายน 2548
#ข่าวหน้าหนึ่ง www.winbookclub.com
Illustration: Apocalypto (2006)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น