++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จดหมายเชิญประชุม ครั้งที่๑ เรื่อง ตั้งชุมชนใหม่ มาบเอื้อง


จดหมายเชิญประชุม ครั้งที่๑ เรื่อง ตั้งชุมชนใหม่ มาบเอื้อง
โดย มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 เวลา 8:29 น. ·
ขอเชิญสมาชิกที่ลงชื่อจองที่ดินใน "ชุมชนใหม่ มาบเอื้อง"ประชุมร่วมกัน ในวัน อาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๙ นาฬิกาณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี


ก่อนอื่นขอเกริ่นถึงที่มาที่ไปให้ทราบก่อน...

อ.วิวัฒน์ บอกว่า ในการสร้างชุมชนนี้ เราจะไม่เป็นคนกำหนดกฏเกณฑ์ แล้วทำให้เค้าทุกอย่าง เหมือนบ้านจัดสรร
ไม่ใช่.. เราไม่ใช่บ้านจัดสรร นี่คือสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ

แต่เรากำลังจะเป็นชุมชน ทำชุมชนด้วยกัน... ก็สมาชิกในชุมชนนั้นแหละ เป็นคนคิด เป็นคนวางแผน
ให้เลือกสมาชิกกันขึ้นมา ตั้งเป็นกรรมการ ดำเนินงาน และจัดการกันเอง
(อ.ยักษ์ ท่านเคยทำเคยสร้างหมู่บ้านสัมมากร แรกสุด ตั้งแต่ไม่มีอะไร พระเจ้าอยู่หัวให้ที่ดินมาทำ ท่านก็ทำได้)

การที่คิดตั้งชุมชนนี้ เริ่มจากลูกศิษย์รุ่นวารีพิโรธ หลายคน (รุ่นหนีน้ำท่วม มีป้าจู ป้าแดง เป็นต้น)
มาคุยเรื่องอยากหาที่อยู่ใกล้ๆศูนย์มาบเอื้อง เพราะช่วงน้ำท่วม ที่กรุงเทพ มีความลำบากหลายอย่าง ทำอะไรก็ไม่สะดวก
ข้าวปลาก็ไม่มีกิน ทุกคนก็แย่งกันกักตุนสินค้าทั้งหมด ธุรกิจการงานก็ทำไม่ได้
แต่มามาบเอื้อง มีที่พึ่ง มีเพื่อน มีครูอาจารย์คอยแนะนำ ก็คิดอยากจะมาอยู่ใกล้ๆตรงนี้

หลังจากนั้นก็มีเพื่อนและกลุ่มลูกศิษย์อีกหลายรุ่นที่สนใจ เช่น กลุ่มจักรยาน ที่ขี่ด้วยกันจากน่าน-ชลบุรี, ศิษย์ที่อบรม กษ.1-2 รุ่น ๓๓๙, ๓๔๓ ซึ่งเป็นคนเมืองมาร่วมอบรมเป็นส่วนใหญ่ ก็เกิดความสนใจ

ประกอบกับคุณตาเจ้าของที่ดิน ตรงข้ามศูนย์ฯ แกบอกขายที่ ๑๑ ไร่ แรกๆอาจารย์อยากซื้อไว้ปลูกป่า (แต่ไม่มีสตางค์)
เพราะมันอยู่ใกล้ ซึ่งเจ้าของเองก็ต้องการจะขายให้ อ.วิวัฒน์ เท่านั้น แต่ถ้าอาจารย์ไม่เอา แกก็มีคนจะมาซื้อ ซึ่งต่อไปคงไม่พ้นจะ กลายเป็นโรงงานหรือไม่ก็คลังสินค้าเป็นแน่...

โดยพื้นที่ ๑๑ ไร่ตรงนี้ เดิมเป็นที่สี่เหลี่ยมคางหมูแหลมลึกเข้าไป... ต่อมาเมื่อคุณตาแกแบ่งให้ลูกๆ ก็เอาไปขายกัน
แบ่งเอาที่ติดถนนไปขายแล้ว  ๒ แปลง ๓ ไร่กว่า... (ดูแผนที่) ตรงที่เป็นสี่เหลี่ยมยาวๆเข้าไป ทั้งซ้าย-ขวา นั่นเป็นที่คนอื่นไปแล้ว ส่วนของเราเหลือทางเข้าประมาณ ๓๓ ม. แล้วยาวแหลมเข้าไป


ว่ากันตามจริงที่ตรงนี้ถือว่าขี้เหล่ เป็นรูปหลายเหลี่ยมยาวๆ (ท่านจะถอนตัวตอนนี้ก็ยังทัน)
อาจารย์ท่านก็บอกว่า แม้มันจะไม่สวย เราก็ทำให้สวยให้ได้ โดยขุดคลองเล็กๆ เชื่อมที่ส่วนใหญ่ให้พายเรือหากันได้
แล้วยังมีน้ำ ทำการเกษตร เพราะน้ำมีความสำคัญ ตัดถนนเข้าไปให้ถึงทุกแปลง

ทำไปทำมา กลายเป็นว่าที่ทุกแปลงสวยหมด แม้แต่ที่หัวแหลมที่สุด ขี้เหล่สุด ท่านก็เอาคลองเข้าไป ทำโคกทำเนิน
อยู่ลึกสุดเงียบสุด แม้ปลูกบ้านเล็กๆ บนเนินก็จะสวย มองเห็นได้ไกล ปลูกป่าไว้ก็จะร่มเย็น ปลูกพืชได้ทุกอย่าง
ดินที่นี่เป็นดินร่วนค่อนไปทางทราย ซึ่งอ้อยชอบมาก และปลูกอ้อยได้ดีเป็นพิเศษ
ถ้ารู้จักปรุงดิน ใส่ปุ๋ยห่มดิน ก็จะดี ที่ตรงนี้ดั้งเดิมเป็นป่าใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่เยอะสมบูรณ์มาก ดินดี น้ำดี (มีตัวอย่างป่า ที่ตาเก็บเอาไว้ อยู่ถัดจากที่แปลงนี้ไปหน่อย อยู่ติดกัน)


ฉะนั้นที่ผืนนี้จะเป็นคล้ายๆ โครงการต้นแบบ ของการทำชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง
ทำให้แต่ละบ้านมี ๔ พอให้ได้ คือ

๑. พออยู่: ให้มีต้นไม้ใหญ่ ไม้สูง เนื้อไม้เอาไว้ปลูกบ้าน ทำพื้น ทำฝาบ้านได้ ปลูกไว้ ๑๐ ปีขึ้นไปจึงจะใช้ได้
๒. พอกิน: ให้ปลูกผลไม้ ปลูกผักพื้นบ้านที่อาศัย กินยอด กินใบ กินดอก ปลูกครั้งเดียวกินตลอดชาติ เช่น ผักหวาน ก้านตรง ติ้ว แค มะรุม ชะมวง ชะอม มีประมาณ ๗๐ ชนิด
๓. พอใช้: ก็พวกกิ่งไม้ใบไม้จากป่าน่ะแหละ นำมาใช้ กิ่งไม้ที่แห้งๆ ก็ตัดไว้ทอนไว้ ทำถ่านใช้เอง พวกใบไม้สมุนไพร ก็นำมาแปรรูปทำยา ทำเครื่องดื่ม พวกผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว มะกรูด ตะลิงปลิง ก็แปรรูปทำน้ำยาเอนกประสงค์ใช้เอง
๔. พอร่มเย็น: เมื่อบ้านเรามีป่าไม้ต้นไม้ เราก็ได้อากาศบริสุทธิ์ มีแอร์จากธรรมชาติ แม้โลกจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับเข้ามาในป่า เราก็ได้ความร่มเย็น ได้อากาศจะหายใจ ก็พลอยสุขภาพดีไปด้วย


ที่ตรงนี้เริ่มต้นด้วยเงิน ๐ บาท อันนี้ต้องทำความเข้าใจกัน
การจะสร้างชุมชนด้วยกันแต่ไม่มีเงิน ก็ต้องอาศัยบุญ นี่เรากำลังจะทำด้วยกำลังบุญเป็นเริ่มต้น
ก็ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาดูเรื่องเงินนี้ด้วย ซึ่งท่านก็จะต้องเสียสละ จะต้องวางเงินก่อนส่วนหนึ่ง
เพื่อจะรวมกันไปซื้อที่ดิน ซึ่งก่อนจะได้ที่ดินก็ต้องใช้เวลา ทั้งรอรังวัด และทำเรื่องซื้อขายแปลงใหญ่ แล้วก็ทำเรื่องแบ่งเป็นแปลงน้อยๆ จากนั้นถึงจะได้ขุดคลอง ทำโคก ทำถนนเดินระบบไฟ ระบบน้ำ

ซึ่งกระบวนการพวกนี้ ก็ต้องอาศัยเวลาและการรอคอย ต้องเสียสละ อดทน และให้ความเชื่อใจ สามัคคีกัน
ไม่ใช่เรื่องจะสำเร็จเสร็จสิ้นง่ายๆ ไม่เหมือนบ้านจัดสรร หรือคอนโดสำเร็จรูป
ซึ่งบางคนที่อาสามาเป็นกรรมการทำงาน ก็จะต้องมาประชุม มาทำงาน เอาแรงเป็นบุญ ไม่ใช่แค่ครั้ง สองครั้ง
อาจต้องถึง ๑๐ ครั้ง หรือ ๒๐ ครั้ง กว่าจะสำเร็จ...

ท่านทั้งหลายก็จะต้องใช้ "ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ"
ฉะนั้น ท่านที่อดทนไม่ไหว รอคอยไม่ไหว ท่านอาจจะคิดถอนตัวตอนนี้ก็ได้...

ผมเองก็มีคนอยู่ข้างหลังเช่นกัน มีพ่อแม่ มีน้อง มีหลาน
อยากให้เค้าอยู่ในที่อากาศดีๆให้หายใจ มีอาหารปลอดภัยกิน มีชุมชนเข้มแข็ง
อยากให้เด็กๆเติมโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมดีๆ และปลอดภัย ฟื้นฟูระบบของครอบครัวและหมู่บ้าน

เพราะครอบครัว เครือญาติและหมู่กลุ่มนี่แหละ คือ Social Security ที่แท้จริง หรือที่เรียกว่าความมั่นคงของชีวิต
ไม่ใช่การทำงาน แล้วเก็บสะสมเงินเยอะๆ ทำประกันเยอะๆ มีหุ้น มีทองคำ.. มันไม่ใช่
ถามว่า เศรษฐีมีเงินเยอะๆ แต่บั้นปลายชีวิต ไม่มีลูกหลานดูแล มีเยอะไหม? ต้องฝากชีวิตเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น
แล้วเงินทองมีวันหมดไหม ข้าวปลาอาหาร มีขึ้นราคาไหม แล้วของที่กิน สารเคมีมันเยอะแค่ไหน...
แล้วเราจะฝากชีวิตไว้กับสิ่งพวกนี้ได้หรือ?

ความมั่นคงจริงๆของชีวิต คือ สิ่งที่โบราณท่านทำกันมาเป็นร้อย เป็นพันปีอยู่แล้ว
โบราณท่านอยู่เป็นครอบครัว เป็นหมู่เป็นกลุ่ม แม้คนแก่ที่สุด จนที่สุด ก็ยังมี ลุง ป้า น้า อา
ลูกหลาน ก็นับถือกันหมด ดูแล ให้ข้าวให้น้ำกัน แม้เจ็บป่วย ก็หาข้าวหายาให้กิน ก็คิดถึงกัน

ความมั่งคั้งที่สุด คนโบราณ ฝากไว้กับธนาคารที่เรียกว่าวัด... เพราะเกิด ก็ต้องไปหาพระ... ตั้งชื่อ ทำขวัญ
เด็กๆไปเรียนหนังสือที่ไหน... ก็วัด จะมีงานบวช งานแต่ง ก็ต้องขอยืมของ...จากวัด แม้ตายก็ต้องหามไป... ที่วัด
แล้วทุกวันพระวันโกน ก็ต้องไปเจอกันที่วัด ไปรับยา คือ ฟังธรรมะ รับศีล เป็นต้น

ฉะนั้นเรื่องพวกนี้คือ วิถีเดิมๆที่เราอยากจะสื่อสาร อยากจะฟื้นขึ้นมา
ไม่ใช่แค่พวกเรา แค่รุ่นเรา แต่หมายถึง อนาคตคือลูกหลาน ให้เค้ามีชีวิตที่ดีงามต่อไป

ฝากไว้ให้คิดให้ตัดสินใจครับ

แล้วพบกัน
อลงกรณ์ (กร) 081-4495836
ผู้ประสานงานโครงการ

@@@

การบ้านสำหรับผู้มาประชุม
๑. แต่ละคนมีแผนการใช้พื้นที่ส่วนตน และส่วนกลางอย่างไร
๒. ฝันอยากให้ชุมชนนี้เป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง
๓. เราจะมีข้อตกลงอะไรร่วมกัน สำหรับสมาชิกชุมชนนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น