++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สสจ.นครพนมเผาทำลายยาหมดอายุโครงการ “ไข่ใหม่แลกยาเก่า”




       สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ดำเนินการทำลายยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพ กว่า ๗ แสนเม็ด มูลค่า ๗.๔ แสนบาท ซึ่งเป็นยาที่ได้รับคืนจากประชาชนตามโครงการ “ไข่ใหม่แลกยาเก่า” ระหว่างวันที่ ๓ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เป็นยารักษาโรคเบาหวาน-ความดัน-ยาลดไขมัน มากที่สุด แนะประชาชนควรใช้ยาตามที่ได้รับจากโรงพยาบาลโดยเคร่งครัด หากเป็นเบาหวาน ความดัน ไม่ควรไปซื้อยามาใช้เอง เพื่อป้องกัน การได้รับยาซ้ำซ้อน ยาตีกัน และควรใช้สมุดบันทึกประวัติการได้รับยาทุกครั้งเมื่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
            นายพีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการ “ไข่ใหม่แลกยาเก่า” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ยาดีอย่างถูกต้องเหมาะสม ลดการใช้ยาอย่างไม่จำเป็น โดยให้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ส่งคืนยาเหลือใช้ ซึ่งจะมอบไข่ให้เป็นของสมนาคุณ และส่งยาเหลือใช้ดังกล่าวให้โรงพยาบาลทำการคัดแยกยาที่ยังไม่หมดอายุ และ ยาที่หมดอายุ ยาเสื่อมสภาพออกจากกัน และส่งยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพ มายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมเพื่อส่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือทำลายที่จังหวัดต่อไป นั้น จากผลการดำเนินการดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมได้รับยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพ ตามโครงการ “ไข่ใหม่แลกยาเก่า” จำนวน ๖๙๐,๗๖๘ เม็ด มูลค่า ๗๔๐,๙๒๗ บาท โดยเป็นยารักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยาลดไขมันในเส้นเลือกมากที่สุด ดังนั้น จึงได้กำหนดทำลายยาทั้งหมดโดยวิธีเผาไฟ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ กองร้อยตำรวจตระเวณชายแดน ที่ ๒๓๖ จังหวัดนครพนม โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนมเป็นประธานการเผาทำลาย
           จากยาที่ได้รับคืนจำนวนมากดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลการบริโภคยาของคนไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ ๓๒ ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดใน
ปี ๒๕๔๒ เพิ่มเป็นร้อยละ ๔๖ ในปี ๒๕๕๑ คิดเป็นมูลค่าการขายปลีกสูงถึงประมาณ ๒.๗ แสนล้านบาท หรือมูลค่าการขายส่ง ๑.๕ แสนล้านบาท โดย ๒ ใน ๓ เป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ จึงสะท้อนปัญหาการใช้ยาที่เกินจำเป็นของประชาชน ดังนั้น จึงขอเสนอแนะว่า ประชาชนควรใช้ยาตามที่ได้รับจากโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโดยเคร่งครัด หากเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ไม่ควรไปซื้อยามาใช้เอง เพื่อป้องกันการได้รับยาซ้ำซ้อน
ยาตีกัน และควรใช้สมุดบันทึกประวัติการได้รับยาทุกครั้งเมื่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล หากประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ยาที่ถูกต้องแล้ว เราก็จะไม่มียาเหลือใช้ และไม่จำเป็นต้องทำโครงการนำไข่ใหม่มาแลกยาเก่า เช่นนี้ต่อไป นพ.พีระกล่าวในที่สุด





   

ข่าวลำดับที่ ๖๒ / ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค

1 ความคิดเห็น: