++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สธ. สร้างหมอประจำบ้าน หวังลดโรคคนไทย 21 ล้านครัวเรือนนำร่อง 1,228 แห่งทั่วประเทศ



by สำนักสารนิเทศ
             สาธารณสุข เปิดนวัตกรรมการบริการสุขภาพ สร้างหมอประจำบ้าน ดูแลดุจญาติมิตร 1 คน ดูแล 300 ครัวเรือน ทดลองรูปแบบที่ จ.อุดรธานี มากว่า 2 ปี ผลชาวบ้านถูกใจและอุ่นใจ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีที่ปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ป้องกันความพิการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน พร้อมเริ่มในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดใหญ่และศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองปีนี้ 1,228 แห่งทั่วประเทศ คาดครอบคลุมทุกพื้นที่ในปี 2556


          วันนี้ (12 กรกฎาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลวังสามหมอ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี เยี่ยมชมตลาดนัดนักสุขภาพครอบครัว หมอประจำบ้านทุกครัวเรือน พร้อมมอบเครื่องช่วยฟัง สามล้อมือโยก รถเข็นนั่ง ให้ผู้พิการ70 คน และรองเท้าดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน 200 คู่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักสุขภาพครอบครัวสำรวจพบ


          นายวิทยากล่าวว่า ในปีนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาระบบบริการสุขภาพในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโฉมใหม่ สร้างความใกล้ชิดระหว่างผู้ให้บริการกับประชาชนผู้รับบริการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค โดยจัดให้มีหมอประจำบ้าน 1 คนดูแล 300 ครัวเรือนหรือประมาณ 1,250 คน และมี อสม.เป็นทีมงาน บริการลักษณะนี้จะทำให้ทุกครอบครัวมีหมอเป็นญาติ หรือหมอประจำบ้าน ซึ่งยังไม่เคยมีในระบบมาก่อน


            ทั้งนี้ หมอประจำบ้านจะมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรก เรียกว่านักสุขภาพครอบครัว เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรพ.สต. เป็นบุคลากรระดับจรยุทธ์ดูแลถึงบ้านทุกครัวเรือน โดยจะเข้าไปสำรวจสุขภาพ จัดทำสมุดสุขภาพประจำครอบครัว ตั้งแต่เด็ก-สูงอายุ มีการตรวจคัดกรองสุขภาพ จัดแบ่งกลุ่ม 3 กลุ่มคือ ป่วยแล้ว เสี่ยงจะป่วย และยังมีสุขภาพดี เพื่อวางแผนการดูแลอย่างใกล้ชิด และมีแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน/โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เรียกว่าแพทย์ประจำครอบครัว เป็นที่ปรึกษาแก่หมอประจำครัวเรือน และผู้ป่วยโดยตรง ตลอด 24 ชั่วโมง

นายวิทยา กล่าวต่อว่า หมอทั้ง 2 กลุ่ม จะมีการทำงานใกล้ชิด นัดวางแผนการรักษาร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถติดตามผู้ป่วยให้ได้รับบริการต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาขาดยา ดื้อยา คนที่มีโรคประจำตัวจะป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนจนเกิดความพิการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจ ได้ทดลองรูปแบบใหม่ที่จังหวัดอุดรธานีทั้งจังหวัดมา 2 ปีแล้ว ผลพบว่าได้ผลดี ชาวบ้านอุ่นใจ พร้อมขยายรูปแบบไปในรพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง หรือ ศสม.รวม 1,228 แห่งทั่วประเทศ คาดครอบคลุมทุกพื้นที่ในปี 2556 มั่นใจว่าหากระบบนี้ครอบคลุม 21 ล้านครัวเรือน ไทยจะเป็นประเทศที่จัดการโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังได้เป็นผลสำเร็จแห่งแรกของโลก


ด้านนายแพทย์นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลวังสามหมอ จ.อุดรธานี ได้ทดลองรูปแบบหมอประจำครอบครัวทั้งอำเภอ 720 ครัวเรือน 72 หมู่บ้าน 6 ชุมชนเมือง มีหมอประจำครอบครัว 6 คน นักสุขภาพครอบครัว 80 คน และอสม. 900 คน โดยดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 พบว่า ได้ผลดี เจ้าหน้าที่รู้ปัญหาสุขภาพทุกคน เข้าไปดูแลรวดเร็ว ที่สำคัญคือสามารถหยุดยั้งกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคไม่ให้ป่วย และป้องกันคนดีไม่ให้ป่วย ส่วนคนป่วยแล้ว เช่น เบาหวาน ไม่มีปัญหาตาบอด หรือตัดขา เนื่องจากได้รับการดูแลดี ลดโรคถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งพบมากในภาคอีสาน

****************************** 12 กรกฎาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น