++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สสจ.จันทบุรี ขอความร่วมมือจากประชาชนในการป้องกันควบคุมและหยุดการระบาดของโรคไข้เลือดออก


สสจ.จันทบุรี ขอความร่วมมือจากประชาชนในการป้องกันควบคุมและหยุดการระบาดของโรคไข้เลือดออก
by งานประชาสัมพันธ์ สสจ.จันทบุรี

              นายแพทย์ชรัตน์ วสุธาดา  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดจันทบุรี นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึง ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕  ได้รับรายงานผู้ป่วยรวมแล้ว ๔๖๖ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ๙๑.๕๙ ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ ๑๐-๑๔ ปี  อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคืออำเภอเมือง รองลงมาได้แก่อำเภอขลุง  และอำเภอแก่งหางแมว โดยจังหวัดจันทบุรีมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงสุดเป็นอันดับที่ ๓ ของประเทศ

              นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี กล่าวอีกว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงมีทั้งร้อน มีทั้งฝนตกชื้นแฉะ ทำให้มีแอ่งน้ำขังหรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ เศษภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลายพาหะของเชื้อโรคไข้เลือดออก  และอาจทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงซึ่งได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ขอเชิญชวนประชาชน หน่วยงาน และชุมชน ร่วมรณรงค์ใช้มาตรการ 3ร.และ 5 ป.ในการป้องกันควบคุมและหยุดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วย 3ร.คือ ร.โรงเรือน มีบ้าน ชุมชน และวัด ให้ประชาชนต้องดูแลบ้านเรือนตนเอง ตลอดจนจัดสภาพสิ่งแวดล้อมให้ปลอดลูกน้ำยุงลายทำพร้อมกันทุกบ้านให้ทั่วถึง, ส่วน ร. โรงเรียน ที่เป็นศูนย์เด็กเล็กต้องปลอดลูกน้ำและยุงลายโดยจัดอาคาร ห้องเรียนให้โปร่งโล่งลมระบาย ไม่เป็นที่เกาะพักของยุง หรือมีมุ้งลวดป้องกันยุงกัด จัดกิจกรรมการเรียนการสอน การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ทำให้สถานที่ปลอดลูกน้ำยุงลาย และ ร. โรงพยาบาล เป็นสถานที่ต้องไม่มีลูกน้ำยุงลายเพราะเป็นที่รักษาผู้ป่วย สำหรับ 5 ป.นั้น ประกอบด้วย ป.ที่ 1 คือปิดฝาโอ่งหรือภาชนะขังน้ำให้มิดชิด, ป.ที่ 2 คือ เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่นน้ำในแจกัน โอ่งน้ำใช้ จานรองขาตู้กับข้าว ,ป.ที่ 3 คือ ปล่อยปลากินลูกน้ำ ในภาชนะ ด้วยปลาหางนกยูงที่กินลูกน้ำยุง, ป.ที่ 4 คือ การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน และ ป.ที่ 5 คือ ปฏิบัติ ต้องขอให้เจ้าของบ้านเรือนต้องลงมือปฏิบัติเองจนเป็นนิสัยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยเฉพาะเวลากลางวัน เช่น นอนกางมุ่ง จุดยากันยุง หรือทายากันยุง เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันควบคุมและหยุดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามมาตรการ 3 ร.และ5 ป.

            ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี จึงได้จัดตั้งวอร์รูมป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกขึ้นทั้งในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เพื่อให้มีการรวบรวมข้อมูลในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งปรับแผนในการดำเนินการหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่มีแนวโน้มลดลง กำหนดพื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน และมาตรการควบคุมโรค ให้สงบโดยเร็วภายในระยะเวลา 28 วัน ให้มีการประชุม war Room อำเภอที่มีการระบาดต่อเนื่อง หารือภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมทรัพยากรในการเร่งรัดควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประสานภาคีเครือข่าย โรงเรียน ท้องถิ่น ชุมชนและครัวเรือน ใช้วิทยุชุมชนและหอกระจายข่าว รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ บอกข่าวสารไข้เลือดออก ขอความร่วมมือประชาชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านรอบบ้าน  ประสานหน่วยควบคุมโรคนำโดยแมลงในการควบคุมการพ่นหมอกควันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ให้อสม.ลงถามรายบ้านเชิงรุก ถามหาผู้ที่มีไข้  นอกจากนั้นยังเน้นทำการสอบสวนผู้ป่วยรายแรกของหมู่บ้านทุกรายเพื่อค้นหาแหล่งโรคและควบคุมโรคให้ถูกแหล่ง      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น