++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ขับเคลื่อน ‘มติฉันทามติ’ เพื่อพลิกวิกฤตความเหลื่อมล้ำสังคมไทย โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ





การพลิกวิกฤตความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางสังคมไทยในระดับโครงสร้างไม่เพียงเรียกร้องการเคลื่อนไหวในการปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรการเมือง ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มต่างๆ ทางสังคมเท่านั้น ทว่ายังต้องมีกระบวนการที่ทุกภาคส่วนสังคมได้ใช้พื้นที่สาธารณะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในการแสดงความต้องการที่แตกต่างกันตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและพหุลักษณ์วัฒนธรรมด้วย
     
       แต่ทว่าด้วยสังคมไทยมีข้อเสนอหลากหลายภายใต้การผลักดันข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งถึงที่สุดแล้วในความหลากหลายนั้นจะมีแค่บางกลุ่มเท่านั้นที่เสียงดัง (voice) จนสังคมต้องรับฟัง ดังเช่นกลุ่มกุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีพลังอำนาจในการแปรเปลี่ยนข้อเรียกร้องของตนสู่การกำหนดนโยบายและกฎหมายภายใต้ความสามารถที่จะใช้ทรัพยากรทั้งทางงบประมาณ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี กฎหมาย เทคโนแครต และนักวิชาการ มาจัดทำข้อเสนอเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง
     
       ต่างจากข้อเสนอของภาคประชาชนที่โดยตัวมันเองแล้วมักถูกสังคมประเมินค่าว่าเป็นเสียงที่ไร้พลัง (voiceless) ไม่น่ารับฟัง น่ารำคาญ และไร้หลักฐานเชิงประจักษ์และข้อมูลเชิงวิชาการมาสนับสนุน ทั้งๆ ที่ปัจจุบันข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของประชาชนตั้งอยู่บนผลประโยชน์ชุมชนและสังคมเพื่อตอบโต้กับการกำหนดนโยบายสาธารณะและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ รวมถึงการดำเนินธุรกิจของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่เอารัดเอาเปรียบคนเล็กคนน้อยและละเมิดสิทธิแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่นโดยอาศัยกลไกกฎหมายและการค้า กระทั่งกลายเป็นที่มาของการกระทำรวมหมู่ (collective action) บนท้องถนนของคนปลายอ้อปลายแขมการพัฒนากระแสหลัก ดังเช่นเกษตรกรและคนงานนานๆ ครั้งถึงจะมีคนชั้นกลางและนักุรกิจ ที่จะรวมตัวกันแสดงพลังทางการเมืองเพื่อผลักดันข้อเสนอตนเองผ่านการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง ที่จะถูกสังคมประทับตราว่าเป็น ‘ม็อบ’ สร้างความวุ่นวายทางการเมือง ทำลายเศรษฐกิจ และกีดขวางการจราจร
     
       ครั้นข้อเรียกร้องของคนด้อยอำนาจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจถูกทอนลดความสำคัญลงทั้งทางสังคมและวิชาการ ขบวนการทางสังคม (social movement) จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอปัญหาและทางออกของวิกฤตความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางสังคมใหม่ ดังปฏิบัติการของขบวนการทางสังคมแนวระนาบบนเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่ไม่เพียงจะมีการวิเคราะห์ปัญหาและสรุปข้อเสนออย่างกระชับชัดเจนเป็นรูปธรรมจากกระบวนการแสวงหาฉันทามติเพื่อให้ได้มติหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มาจากทุกภาคส่วนเท่านั้น ทว่า ‘มติฉันทามติ’ ของสมัชชาปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมที่กว้างขวางยังถูกติดตาม ขับเคลื่อน และผลักดันจนเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างทางสังคมไทยในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำด้วย
     
       ในจำนวนมติสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 1 ที่มีด้วยกัน 8 มติ ทั้ง 1) การปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 2) การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง 3) การคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในกรณีที่ดินและทรัพยากร 4) การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม 5) การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพและระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ
     
       6) การสร้างสังคมไทยที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 7) การปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น และ 8) ศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคมนั้น จะมีความคืบหน้าที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะที่เข้าไปในปริมณฑลผลประโยชน์ของกลุ่มกุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ดังกรณีที่ดินที่การจะสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้นั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจทางสังคมได้เลย
     
       ทว่า ถึงจะยากลำบาก หากแต่ก็มีความพยายามจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะนำมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติไปปฏิบัติ ดังกรณีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งหลังจากมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ออกมาก็มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องของประชาชนในพื้นที่พิพาทร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเจรจาต่อรองกับรัฐบาลชะลอการจับกุมในพื้นที่ที่มีการพิพาทเรื่องการบุกรุกที่ดินรัฐ และการดำเนินการตามโครงการโฉนดชุมชน เช่น ชุมชนบ้านคลองโยน จ.นครปฐม และชุมชนบ้านแม่อาว จ.ลำพูน โดยมีอีกหลายร้อยชุมชนอยู่ระหว่างรอการพิจารณาดำเนินงานโฉนดชุมชน ถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน พ.ศ. ... จะยังไม่มีความก้าวหน้าในการตรากฎหมายเพราะยังไม่มีคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวนี้ ที่สำคัญยังไม่มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตามกฎหมายด้วย
     
       อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการที่ดินเชิงระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติอันจะยังประโยชน์แก่คนจนข้นแค้นไร้ที่ดินทำกินได้บ้าง แม้ว่าระหว่างนี้รัฐเองจะไม่ได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมและจัดทำแนวเขตโฉนดชุมชนแต่อย่างใด ยังคงปล่อยให้เป็นบทบาทของชุมชนที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนสนับสนุนเท่านั้น โดยปัจจุบันมีการผสานภาคีเครือข่ายต่างๆ ในภาคประชาชนเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชนฉบับประชาชนกันแล้ว
     
       ทั้งนี้ อีกด้านของการปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวการถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เคยเสนอ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างซึ่งมีเรื่องอัตราภาษีก้าวหน้าตามราคาที่ดินที่ไม่ใช่ภาษีก้าวหน้าเชิงปริมาณการถือครองที่ดินสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีมาแล้ว แต่ก็ต้องตกไปเพราะคณะรัฐมนตรีไม่ยืนยันร่างเกิน 180 วัน ก่อนที่ในอนาคตจะมีการยื่นร่างดังกล่าวนี้เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ขณะที่อีกด้านของการเคลื่อนไหวในประเด็นเดียวกันนี้ทางคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปก็ได้เสนอแนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นมาเพื่อจะกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยเสนอให้มีการรวมกลุ่มดำเนินการธนาคารที่ดินของภาคประชาชนเพื่อจะระดมทุนจากสมาชิกและขอรับการบริจาคเพื่อนำไปซื้อที่ดินมาจัดตั้งเป็นพื้นที่นำร่องของภาคประชาชนในด้านการจัดการที่ดินและการจัดทำโฉนดชุมชน เพราะไม่อาจรอภาครัฐที่ทั้งล่าช้าและไม่เท่าทันสภาพปัญหาในพื้นที่ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้านการเข้าถึงและถือครองที่ดินที่เป็นปัจจัยตั้งต้นของชีวิตมนุษย์ทุกคน
     
       ทั้งนี้ การตั้งต้นปฏิรูปประเทศไทยด้วย ‘มติฉันทามติ’ ที่อนาคตจะสามารถพลิกวิกฤตความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมไทยได้อย่างมีพลังนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วนสังคม โดยเฉพาะภาคประชาสังคมมาแล้วทั้งกลุ่มที่ส่งเสริมสนับสนุนและคัดค้านต่อต้านข้อเสนอเหล่านั้น ก่อนในที่สุดจะได้ข้อสรุปออกมาเป็นมติสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่วางอยู่บนแนวทางการพัฒนาประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
     
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ-การเมือง ที่แนวทางการพัฒนาประเทศอื่นๆ ทั้งแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) เศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ยังไม่อาจตอบโจทย์ได้ตรงเท่า เพราะไม่ได้ไปแตะต้องหรือรื้อถอนสั่นคลอนโครงสร้างสังคมไทยที่ทั้งเหลื่อมล้ำ อยุติธรรม และกีดกันกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจให้อยู่ออกไปจากสมการอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรทางการเมือง ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรธรรมชาติ จนต้องสูญเสียประโยชน์เพราะถูกกดขี่
     
       ดังนั้น การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบและโครงสร้างความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยในมิติต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่โอกาสที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกคนในการใช้สิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นจึงต้อง ‘ปฏิบัติการ’ ตามมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติ สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น โดยองค์กร ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ‘ประชาชนของสังคมไทย’ ในฐานะตัวกระทำการทางสังคม (social agent) และพลังของการเปลี่ยนผ่านทางโครงสร้าง (structural transformation) ที่จะต้องเข้ามาขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางทอนลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ ‘ทุกสีเสื้อ’ ได้ประโยชน์ร่วมกันเพราะความเหลื่อมล้ำที่ลดลงบนความเป็นธรรมที่ทวีขึ้นนั้นจะสามารถสร้าง ‘สังคมที่ดีกว่า’ ขึ้นได้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น