++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เฟ้นหาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนภาคใต้




ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ จัดสัมมนาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชน มีบทบาทหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน ค้นหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อนส่งเรื่องต่อ รวมถึงให้ข้อมูลให้คำปรึกษากับประชาชนในพื้นที่
     
       วันนี้(16 ก.ค.) อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ได้จัดเวทีสัมมนาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชน ณ โรงแรมไดอิชิหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 140 คน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการต่อสู้ในการพิทักษ์สิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้ ในประเด็นของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา, เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก - หินกรูด, เครือข่ายคัดค้านท่อส่งก๊าซ - โรงแยกก๊าซและอุตสาหกรรมต่อเนื่องไทย - มาเลย์, เครือข่ายคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้กรณีท่าทียบเรือปากบารา, เครือข่ายรักษ์ละแม, เครือข่ายคัดค้านการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง เป็นต้น
     
       มีการระดมข้อเสนอต่อกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้พิทักษ์สิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น โดยมีข้อเสนอคือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกระดับ ร่วมเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ในระดับนโยบายมีข้อเสนอให้มีการแยกการพิจารณาคดีให้มีความชัดเจน ระหว่างคดีทั่วไป กับคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อมได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
     
       นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่าปัจจุบันมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับประชาชน โดยมีสาเหตุมาจากรัฐในประเด็นการละเมิดสิทธิด้านต่างๆ ดังนี้ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ยอมรับเสรีภาพพลเมือง การละเมิดสิทธิทางการเมือง การละเมิดสิทธิคนงาน การละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา หากเคารพรัฐธรรมนูญต้องใช้รัฐธรรมนูญไปประกบกับคดีอาญา คดีแพ่ง ไม่ใช่ดำเนินการเหมือนคดีทั่วไป เช่นเดียวกันสิทธิก็เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องดำเนินการเพื่อบ้านเมืองปกครองด้วย รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นเอง
     
       ปัญหาการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วประทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่สามารถดำเนินการได้ทั่วถึงและรวดเร็วทันกับสถานการณ์ความความเดือดร้อนในพื้นที่ จึงต้องมีการสร้างอาสาสมัครในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ โดยให้อาสาสมัครมีบทบาทหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน ค้นหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อนส่งเรื่องต่อ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ข้อมูลให้คำปรึกษากับประชาชนในพื้นที่
     
       ในครั้งนี้เป็นสร้างอาสาสมัครในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะเดียวกันในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง อยู่ระหว่างการสร้างกระบวนการอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนเช่นเดียวกันเพื่อให้มีอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนทั่วประเทศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น