++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รู้และเข้าใจมาตรา 68 โดย ประพันธ์ คูณมี




       วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มกระบวนการไต่สวนตามคำร้องของคณะบุคคล รวม 5 สำนวน ซึ่งปรากฏเป็นข่าวและเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปแล้ว ซึ่งผลการพิจารณาไต่สวนและวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร เป็นกรณีที่ประชาชนทั้งหลายผู้เป็นเจ้าของประเทศ ควรจะได้ติดตามผลการพิจารณาคดีนี้อย่างใกล้ชิด เหตุเพราะผลการพิจารณาวินิจฉัยจะออกมาเช่นไร ย่อมมีผลผูกพันและส่งผลกระทบต่อทิศทางการเมืองของประเทศ และส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ขณะการพิจารณาไต่สวนและวินิจฉัยคดีนี้ มีผู้เห็นด้วยสนับสนุนฝ่ายผู้ร้องกับมีทั้งฝ่ายผู้คัดค้านและมีทั้งฝ่ายที่เฝ้าติดตามดูด้วยความสนใจหรือมีทั้งคนที่เพิกเฉยไม่สนใจ
     
        ผลการพิจารณาคดีอย่างไร บทความนี้จะไม่ก้าวล่วงดุลพินิจและการพิจารณาของศาล แต่เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้และความเข้าใจ เพื่อการติดตามการพิจารณาคดีนี้ ผู้เขียนจึงขอสรุปประเด็นสาระสำคัญของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของผลแห่งคดีและสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นรวมถึงหาประเด็นคำตอบเกี่ยวกับคำถามที่มีผู้สอบถามผู้เขียน ซึ่งเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
     
        ถาม : ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มีองค์ประกอบความผิดไว้อย่างไร?
     
        ตอบ : มาตรา 68 บัญญัติองค์ประกอบความผิดของการกระทำไว้สองประการ คือ
     
        1. บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้มิได้ หรือ 2. บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้
     
        สรุป องค์ประกอบที่ถือว่าเป็นการกระทำความผิด จึงมี 2 ลักษณะ คือ 1. กระทำการล้มล้าง และ 2. กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ
     
        ถาม : ประเทศไทยเคยมีการกระทำความผิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 นี้หรือไม่อย่างไร?
     
        ตอบ : การกระทำที่มีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้สามารถกระทำการเช่นนั้นได้ แม้จะเคยมีกลุ่มหรือขบวนการทางการเมือง ที่มุ่งจะล้มล้างระบอบการปกครองดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ก็กระทำการไม่สำเร็จ ปัจจุบันยังมีขบวนการดังกล่าวดำรงอยู่จริงในสังคมไทยโดยต้องการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามองค์ประกอบความผิด ลักษณะที่ 1 ของมาตรา 68
     
        ส่วนการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่ผ่านมา แม้จะเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญแต่ก็ยังไม่มีคณะปฏิวัติคณะใดมีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
     
        ส่วนการกระทำความผิดที่เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เคยมีการกระทำโดยบุคคลหรือพรรคการเมืองอันเป็นความผิดหลายครั้ง และปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายคดี เช่น คำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 ที่ให้ยุบพรรคการเมือง ระหว่างอัยการสูงสุด ผู้ร้อง พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นกรณีที่พรรคไทยรักไทย ได้ว่าจ้างให้พรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านี้ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งขัน โดยหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
     
        และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสาม เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอื่นๆ ต่อมาก็เป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยนี้
     
        ถาม : มาตรา 68 บัญญัติไว้เพื่อเอาผิดและป้องกันการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ใช่หรือไม่?
     
        ตอบ : ไม่ใช่ เพราะเป็นบทบัญญัติที่เอาผิดทั้งสองกรณีคือไม่ว่าการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เป็นความผิดด้วย ด้วยเหตุนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 94 (1) จึงได้บัญญัติดังกล่าวไว้สอดรับกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยถือเป็นเหตุหนึ่งให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นได้ มาตรา 68 จึงใช้บังคับกับบุคคลและพรรคการเมืองด้วย
     
        ถาม : ผลของการพิจารณาคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไต่สวนอยู่ขณะนี้ จะมีคำวินิจฉัยไปในแนวทางได้บ้าง?
     
        ตอบ : พิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 68 แล้ว เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยศาลไต่สวนแล้ว อาจมีคำสั่งได้ ดังนี้ 1) เห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิด มาตรา 68 ก็ให้ยกคำร้อง 2) เห็นว่าเข้าองค์ประกอบ ก็สั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว 3) คำวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดให้เลิกการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นก็ได้ 4) กรณีที่มีการสั่งให้ยุบพรรคการเมืองให้เพิกถอนสิทธิของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเป็นระยะเวลา 5 ปีด้วย
     
        ผลของคดีนี้จะเป็นไปอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงจากการพิจารณาไต่สวน หากศาลสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวแล้วผู้กระทำยุติการกระทำดังกล่าวเสีย ก็อาจทำให้ไม่ต้องพิจารณาถึงประเด็นการยุบพรรคหรือศาลอาจเห็นว่าได้มีการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว อาจสั่งให้ยุบพรรคในคราวเดียวกันก็ได้ จึงเป็นประเด็นที่เราท่านทั้งหลายต้องติดตามด้วยใจระทึก
     
        ถาม : ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่าการแก้รัฐธรรมนูญแบบนี้เคยทำมาแล้วหลายครั้งก็ไม่เป็นความผิดและตนไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง ฟังขึ้นหรือไม่?
     
        ตอบ : การแก้รัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงและบริบททางการเมืองที่แตกต่างกันกับกรณีนี้ และการมีเจตนาล้มล้างการปกครองหรือไม่เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดหนึ่ง ซึ่งขึ้นกับข้อเท็จจริงในการไต่สวน หากพ้นจากองค์ประกอบนี้ก็ยังมีประเด็นที่ 2 ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ อีกหนึ่งข้อกล่าวหา
     
        สรุป ผลการพิจารณาและวินิจฉัยคดีนี้ จะเป็นอย่างไรต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมีผลออกมาทางใดประชาชนต้องเคารพและยุติประเด็นปัญหาดังกล่าว ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดจะใช้การเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโจมตีล้มล้างศาลรัฐธรรมนูญต้องถือเป็นศัตรูของแผ่นดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น