++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลูกของใครในแง่มุมกฎหมาย

โดย สราวุธ เบญจกุล 7 ตุลาคม 2553 23:06 น.
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร ซึ่งมีความสำคัญตั้งแต่แรกเกิด ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติระหว่างกันและกัน มากมาย ที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ สิทธิในการดูแลบุตร เนื่องจากยุคสมัยได้เปลี่ยนไปบางครอบครัวจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็มีหลายครอบครัวที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น เมื่อมีบุตรจึงเกิดปัญหาว่าใครเป็นผู้มีสิทธิในการดูแลบุตร

กรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการดูแลบุตรมากที่สุด คือ ในกรณีเด็กเกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

กฎหมายที่นำมาบังคับใช้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการดูแลบุตรได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในกรณีนี้สิทธิของมารดากฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 1546 ว่า “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น” หมายความว่าในกรณีที่หญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายแต่เกิดตั้งครรภ์และคลอด บุตรออกมา เด็กที่เกิดนี้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นแต่เพียงผู้เดียว เท่านั้น ถือเป็นหลักที่ว่าบุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอไม่ว่าในกรณีใดๆก็ตาม

ตรงกันข้ามกับการเป็นบิดาของเด็กที่เกิดโดยบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียน สมรสกันซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์และมีปัญหายุ่งยากในการพิสูจน์ การทำให้เด็กที่เกิดนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งมาตรา 1547 กำหนดว่า “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จด ทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร” หมายความว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้สมรสกับชายนั้นให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แม้ชายจะมาอยู่กินกันฉันสามีภริยากับหญิงโดยเปิดเผยก็ไม่ถือว่าเป็นบิดาโดย ชอบด้วยกฎหมาย จากมาตราดังกล่าวข้างต้นการทำให้เด็กที่เกิดนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา สามารถทำได้ 3 วิธี คือ 1. บิดามารดาสมรสกันในภายหลัง 2. บิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร และ3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

กรณีที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากมากที่สุด คือ กรณีบิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนไว้ในมาตรา 1548 ว่า “บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของ เด็กและมารดาเด็ก

ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การ แจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็กให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความ ยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบ วัน

ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือ ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล

เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้” เมื่อบิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามมาตรานี้แล้ว ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรทำให้เด็กกลายเป็นบุตรชอบด้วย กฎหมายของชายโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรส

นอกจากการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้วยังมีกรณีที่เด็กสามารถฟ้องคดีขอให้ชายรับตนเป็นบุตรของชายด้วย เหตุในการฟ้องคดีกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1555 ที่กำหนดว่า “ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จ จริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่าหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดา โดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ ได้และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏใน ระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุ ประการอื่น

ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย” เป็นหน้าที่ของฝ่ายชายที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาของเด็กจะต้องพิสูจน์หักล้างข้อ สันนิษฐานดังกล่าวข้างต้น

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2534 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งจนโจทก์ ตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมาคือเด็กหญิง ธ. โดยโจทก์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับชายอื่น ดังนี้ เด็กหญิง ธ. จึงเป็นบุตรที่เกิดจากจำเลย จำเลยจึงต้องรับเด็กหญิง ธ. เป็นบุตร

เห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นละเอียดอ่อนและ ซับซ้อน เพราะถ้าเป็นเรื่องง่ายๆคงไม่เป็นประเด็นตามที่เป็นข่าวพาดหัวมาเป็นสัปดาห์ จากที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับบุตรนั้น กฎหมายถือว่าเด็กเกิดจากหญิงใดย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นไม่ว่า ในกรณีใดๆทั้งสิ้น แต่สำหรับการเป็นบิดากับบุตรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์และมีปัญหายุ่งยาก ในการพิสูจน์จะอาศัยข้อเท็จจริงตามธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวไม่พอจึงมีบท บัญญัติของกฎหมายกำหนดความเป็นบิดาไว้ทั้งในกรณีบุตรในสมรสและบุตรที่บิดา มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น