++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“มังคละช่อแก้ว” ผลงานเด่นชาว มน.

ศิลป วัฒนธรรมของท้องถิ่นพิษณุโลกที่ผสมผสานกัน พร้อมแรงบันดาลใจจากวัตถุประสงค์ของการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทำให้ชาว ม.นเรศวร เกิดผลงานเด่นจากสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย คือ วงมังคละช่อแก้ว

“วงมังคละช่อแก้ว” เป็นวงดนตรีมังคละที่เกิดจากการรวมตัวของคณาจารย์และนิสิตสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย โดย รศ.นุชนาฏ ดีเจริญ - อาจารย์รุ่งนภา ฉิมพุฒ และสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย โดย ผศ.คมกริช การินทร์ มหาวิทยาลัย นเรศวร ซึ่งการรวมตัวกันในครั้งแรก ได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ในชุด“เทิดวิศิษฏศิลปินยลยินมังคละ นบพระ ณ เมืองพิษณุโลก” โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็น วิศิษฏศิลปิน โดย นำของดีเมืองพิษณุโลกมาผสมผสานกับวิถีความเป็นอยู่และดนตรีมังคละ ดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ คือ ท่าไหว้พระ ท่าเทิดวิศิษฏศิลปิน ท่าชิดชูเมืองพิษณุโลก ท่าหนุ่มสามล้อป้อสาวเรือนแพ ท่าเด็ดดอกปีบ ท่าไก่เหลืองหางขาว ท่าปลาตะเพียน ท่าน้ำน่าน ท่าเสลาเล่นลม ท่าชมน้ำตก ท่าสาวหมี่ซั่ว ท่าชาวสองแควสำราญ ท่าร้อยมาลัย ท่าบางแก้วลีลา เป็นต้น

สำหรับวิธีแสดง เริ่มด้วยขบวนแห่ออก และเปิดวง ด้วยเพลงไม้สองและเพลงไม้หนึ่ง การแสดงสื่อถึงการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการไหว้ครู จากนั้นเริ่มการแสดงประกอบเพลงไม้สี่ แสดงถึงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพลงคางคกเข็ดเขี้ยว เพลงนมยานกระทกแป้ง เพลงสาวน้อยประแป้ง แสดงถึงการเล่นสนุกสนานของหนุ่มสาว และจบด้วยเพลงไม้สี่เพื่อตั้งซุ้มและขบวนแห่เข้า ซึ่งใช้เวลาในการแสดงประมาณ 9 นาที

วง มังคละช่อแก้ว ออกแสดงครั้งแรกในงานประกวดดนตรีและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน พุทธศักราช 2552 ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากนั้นปรับรายละเอียดการแสดงโดยนำเนื้อร้องบทวิศิษฏศิลปินออก คงเหลือแต่ท่ารำและดนตรีที่สนุกสนาน เรียกชื่อใหม่ว่า “มังคละสราญ” เพื่อสืบสานเอกลักษณ์

การรำมังคละพื้นบ้านเน้นความสนุกสนานร่าเริงการแสดงชุดนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดกิจกรรมนันทนาการและการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ภาคเหนือ ซึ่งจัดโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานพัฒนาการกีฬา และสำนักการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดพิษณุโลก อีกด้วย

สอบถามเพิ่มเติม สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ 0 5596 2035

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น