++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรามีแค่มาบตาพุด…คือคำตอบจริงหรือ?

โดย บรรจง นะแส
ในปี พ.ศ. 2531 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้รับการพัฒนาจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยรัฐบาลได้มอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ปัจจุบันนิคมฯ มาบตาพุดได้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมประเภทปิโต รเคมี เคมีภัณท์ เหล็กและโลหะ โรงกลั่นน้ำมัน โดยในเชิงพื้นที่ได้มีการร่วมขยายจากนิคมฯ ร่วมดำเนินงานของเอกชน 4 แห่ง ทำให้พื้นที่ขยายจาก 8,000 ไร่ เป็น 20,000 ไร่ การพัฒนาโดยอยู่รวมกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุนการผลิตและขนส่ง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

จากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่างรวดเร็วและการรวมกลุ่มของ กลุ่ม อุตสาหกรรมในพื้นที่ทำให้ประสบกับปัญหาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัย เช่น ผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ การขาดแคลนทรัพยากรน้ำ ปัญหา ต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องจากประชาชนให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างเป็นระบบ และการมีส่วนร่วมในการรับรู้

จากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ ปัญหาที่สำคัญที่ผ่านมาสรุปได้ดังนี้

พ.ศ. 2543-2546 ปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนจากโรงงานปิโตรเคมี และโรงกลั่น สืบเนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงงานอยู่ใกล้กับชุมชน โดยขาดพื้นที่กันชน การดำเนินการแก้ไขได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยดีจนกระทั่งปัญหาทุเลาไปเป็นอันมาก

พ.ศ. 2548 ปัญหาเรื่องภัยแล้ง เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความระแวงในการแย่งใช้น้ำระหว่างชุมชนกับภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐได้ประสานการแก้ไขปัญหาและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม จนกระทั่งปัญหานี้ผ่านพ้นไปด้วยดี

พ.ศ. 2550 ปัจจุบันความต้องการให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่น ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหาการปนเปื้อนในน้ำบ่อตื้น ปัญหาเรื่องสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ทำให้องค์กรเอกชนเคลื่อนไหว รณรงค์ให้รัฐบาลพิจารณาประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2550 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550 ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและกำหนด การ พัฒนาในพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อจัดทำและกำกับแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550-2554 สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ โดยเป้าหมายการดำเนินการประกอบด้วย

1) ลดปริมาณการปล่อยทิ้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะและกากของเสียอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมายหรือดีกว่า

2) คุณภาพน้ำและอากาศ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานภายใน 1 ปี

3) ประชาชนได้รับการดูแลรักษา และฟื้นฟูสุขภาพอนามัยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

4) ชุมชนในพื้นที่มีความเข้มแข็งมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดได้อย่างต่อ เนื่อง

5) การพัฒนาพื้นที่ในอนาคต

ที่กล่าวมาข้างบนทั้งหมดคือการสรุปงานประจำปีของการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ประจำปี 2552 ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนภาคตะวันออก เราก็คงไม่รู้ว่าข้อสรุปอันดูเหมือนเข้าถึงแก่นของปัญหานั้นๆ แต่จริงๆ แล้วมันคือข้อสรุปในกระดาษ ไม่มีปฏิบัติการ ไม่มีรูปธรรมใดๆ รองรับแม้แต่ข้อเดียวโดยเฉพาะข้อที่ 4 ที่จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวัง ฯลฯ นี่ยังไม่นับถึงการลงทุน ผลตอบแทน ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติได้รับ (ยกเว้นกลุ่มทุนเจ้าของโรงงาน) ที่ไม่ได้ใส่ข้อมูลการสูญเสียอาชีพวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม ว่าแต่ละปีหากคิดออกมาเป็นตัวเงินนั้นมันสูญเสียไปปีละเท่าไหร่

วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะได้มาทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศกัน ใหม่ ที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรที่มีในชาติ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละภาคแต่ละภูมินิเวศน์ และมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) อันเป็นทิศทางที่กำลังเป็นกระแสหลักของโลก ที่แต่ละประเทศกำลังครุ่นคิดหาช่องทางกันอยู่

เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม แต่มันควรเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรที่มีภายในประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายทำร้ายชีวิตผู้คนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่มองไปถึงคนในรุ่นต่อๆ ไป รวมถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกที่ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

วันนี้กลไกรัฐและกลุ่มทุนยังกอดและดำรงทิศทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ที่ไม่แยกแยะอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมจะเดือดร้อนแสนสาหัสเพียงใดก็ตาม คำตอบหาได้ไม่ยากนัก ก็ผลประโยชน์เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มนั่นไงคือคำตอบ วันนี้มองกันแต่เพียงว่าเมื่อมาบตาพุดไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไปแล้ว ทั้งในแง่การเกิดขึ้นของสังคมใหม่ ของผู้ใช้แรงงานที่ไร้อนาคตไร้หลักประกันในชีวิตและครอบครัว สภาพสังคมรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยแหล่งมั่วสุม อาชญากรรมโรคภัยไข้เจ็บ

การสูบเอาน้ำใต้ดินบนดินจนชาวบ้านเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า ประชาชนทนไม่ไหวต่างลุกกันขึ้นมาร้องขอความเป็นธรรม ขอความเห็นใจ ขอการเยียวยา ขอการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมให้อยู่ในการควบคุม หาได้รับความสนใจไยดีไม่ ตรงกันข้ามกลุ่มทุนโสโครกและสกปรกเหล่านี้ก็เตรียมขยับขยายธุรกิจกิจการของ ตัวเองไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ อีกต่อๆ ไป และต้องเป็นภูมิภาคที่มีแหล่งน้ำใกล้ๆ ทะเล นครศรีธรรมราช สตูล และสงขลาจึงเป็นเป้าหมายต่อๆ ไป

ทำยังกับว่าในพื้นที่เหล่านั้นมีแต่ควาย…..!!??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น