++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"ไปทันที ทุกที่ที่มีโรค" กับหน่วย EMS บ้านเดื่อ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเดื่อ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            "เราเน้นงานให้บริการทันทีและมีงบสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินหรือกรณีจำเป็นที่ไม่อาจคาดเดาได้ จึงได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้ร้อยละ 5 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการบริหารความเสี่ยง งบฉุกเฉินเผื่อไว้เมื่อจำเป็น" ปลัด อบต.กล่าว
            ต.บ้านเดื่อ อยู่ระหว่างเส้นทาง อ.หนองบัวแดง เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ และมีความเจริญเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของอำเภอ ด้วยสภาพการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ยามเจ็บไข้ได้ป่วย คนส่วนใหญ่จึงเดินทางไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ๆ คือ โรงพยาบาลหนองบัวแดงหรือโรงพยาบาลเกษตรสมบูรณ์ ด้วยความเชื่อว่า โรงพยาบาลใหญ่ๆ จะช่วยให้พวกเขาหายจากโรค
            โรคที่พบมากในชุมชนบ้านเดื่อ ได้แก่ โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ผู้พิการทางกายและจิต , โรคไทรอยด์ หัวใจและหลอดเลือด ประกอบกับเกิดอาการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้การเดินทางเพื่อเข้าไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลใหญ่ๆข้างต้น อย่างทันท่วงทีจึงไม่เป็นเรื่องง่ายและสะดวกอย่างที่ควรจะเป็น

            "คนในท้องถิ่นต้องแก้ปัญหากันเอง อย่างคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ เราจึงประสานความช่วยเหลือจาก สปสช. "คณะกรรมการ อบต.
            ดังวิสัยทัศน์ของ อบต. ที่ว่า "ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนการเกษตรอย่างยั่งยืน " โครงการบริการต่างๆที่ได้ทำมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเกษตร การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง "แบบใกล้บ้านใกล้ใจ" คณะกรรมการมีความเห็นว่า ประชาชนในพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ เช่น เจ็บป่วย (ฉุกเฉิน) ที่บ้านเวลากลางคืนจะลำบากมาก เพราะไม่มีรถเดินทางไปโรงพยาบาลแม้จะมีรถรับจ้างแต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
           
            การจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพยามฉุกเฉิน จึงถุกคิดค้นขึ้นผ่านการทำประชาสังคมร่วมกันทั้งภาครัฐ, อบต. สถานีอนามัย , ตัวแทนกลุ่มพื้นที่การศึกษาและตัวแทนประชาชน ( อสม.) และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จัดเวทีประชาคมในแต่ละหมู่บ้านเพื่อดำเนินงานสนับสนุนหรือการจัดบริการสุขภาพตามความจำเป็นเร่งด่วน

            โดยใช้ข้อเสนอแนะของประชาชนที่ได้ผ่านการสำรวจโดย อสม. ในพื้นที่ ข้อเสนอแนะของ อบต.สัญจร ในทุกเดือนและนำมาวางแผนงาน/ โครงการซึ่งเริ่มแรกคณะกรรมการ อบต. มีวิสัยทัศน์ในการทำงานของอบต.บ้านเดื่อ คือ "ทำงานร่วมกันในแนวทางเดียวกันให้ได้และร่วมกันปลูกจิตสำนึกประชาชนพร้อมไปด้วย"
            "การปลูกสำนึกร่วมของคน เป็นเรื่องที่ยากมาก " นายก อบต.ยอมรับ

            ผลงานแรกเริ่มจึงออกมาเป็นแผนงานสนับสนุนบริการด้านสุขภาพ ในเรื่องการออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรบิก รำไม้พลอง ควบคุมไข้เลือดออก และไข้หวัดนก ป้องกันโรคกลุ่มเสี่ยง สุ่มตรวจสารเคมีในกลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะ มีการคิดค้นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าไปทำการช่วยเหลือ เพื่อควบคุมและกักโรคโดยพลัน "เราเน้นการให้บริการทันทีเมื่อรู้ว่า เกิดโรคโดยการจัดบริการหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่ (EMS)  ตามชุดสิทธิประโยชน์ทุกกลุ่มทุกวัยในตำบลอย่างทั่วถึง" ปลัด อบต.กล่าว
            หน่วยบริการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่าหน่วยอีเอ็มเอส เริ่มก่อตั้งที่ อบต. โดยทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ "เกิดจากความรับรู้ถึงความยากลำบากของกันและกันในยามเจ็บป่วย ฉุกเฉิน  เป็นเรื่องยากที่จะหารถนำผู้เจ็บป่วยส่งโรงพยาบาล จึงเกิดความพยายามที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเริ่มทำต่อๆกันมาอย่างต่อเนื่อง " คณะกรรมการ อบต.กล่าวทิ้งท้าย

            จากแนวคิดสู่แนวทางปฏิบัติ มีการจัดตั้งณะทำงานและวางระบบของหน่วยอีเอ็มเอส " ระยะแรกๆ ชาวบ้านยังไม่ไว้วางใจในเรื่องความปลอดภัย แต่ในที่สุดหน่วย อีเอ็มเอสได้สร้างความรุ้สึกร่วม เพราะเราดูแลกันจริงจังมากขึ้น" หัวหน้า สอ. กล่าวถึงการปฏิบัติงานทุกครั้ง จะรหัสเรียกว่า "ออกเหตุ" ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะสวมเสื้อยืดสีส้มเป็นเสื้อทีม จนเป็นที่วางใจของคนทั่วไป
            เหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการนี้ คือ การมีส่วนร่วมคิดของประชาสังคม ผ่านความรุ้สึกเห็นอกเห็นใจกันและกันในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประเด็นแนวทางเสริมสร้างที่สำคัญ เป็นเรื่องการอบรมให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในระหว่างการออกเหตุ นอกจากนี้ ปลัด อบต. กล่าวว่า "พลังสำคัญในการทำงานของทีมอีเอ็มเอส คือ กำลังใจและคำชมของชาวบ้าน"
            ไม่มีใครจะเข้าใจชุมชนดีเท่าคนในชุมชนเอง การให้ตัวแทนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้น ผู้นำที่เปิดใจกว้าง วิสัยทัศน์กว้างไกล งานจะดำเนินไปได้ดี และที่สำคัญ คือ ความเป็นธรรมที่มีให้แก่ทุกคน โครงการบริการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่จึงประสบความสำเร็จ เพราะเป้นรูปแบของการปฏิบัติการและพัฒนาการพร้อมกัน เป็นผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ทั้งในและนอกเขตพื้นที่รับผิดชอบและมีหน่วยงานอื่นๆมาขอศึกษาดูงานอีกด้วย

            ดังเสียงสะท้อนของชาวบ้านว่า "ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขาไปส่ง ไม่ต้องรอหรือนอนในโรงพยาบาล เขาจะรอรับกลับเลย" หรือ "สะดวกสบายไม่ต้องเสียค่าน้ำมันรถและค่าเหมารถ" หรือ เสียงจากคณะทำงานที่ว่า "รู้สึกภูมิใจที่ได้รับเลือกจาก สปสช. ให้เป็น อบต.นำร่องเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ" และ ชาวบ้านบางคนจะโทรตามไปกินเลี้ยงรับขวัญหลานที่เราเคยช่วยเหลือ"
            ทั้งหมดนี้ คือ ผลพวงของความเสียสละแรงกายและใจของทีมงาน  EMS  ที่พร้อมบริการ 24 ชั่วโมง แม้จะไม่ได้ค่าเหนื่อยเลยสักบาทเดียว

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ศุภวรรณ ตรีสรานุวัฒนา
รสสุคนธ์ พิไชยแพทย์
วราพร ตัณฑะสุวรรณะ


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น