++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผู้นำที่ให้ความสำคัญกับทุกๆเรื่อง กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            ลำพูน จังหวัดเล็กๆในภาคเหนือ ที่ชาวบ้านยังคงวิถีความเรียบง่าย และยังคงวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้อย่างมั่นคง พื้นที่ของตำบลเหมืองง่า มีที่ตั้งใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน จึงทำให้มีผู้คนนอกพื้นที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่มาก มีหมู่บ้าน 10 หมู่บ้าน มีประชากร 14,087 คน 5,872 ครัวเรือน มีประชากรแฝงอยู่จำนวนกว่าสองหมื่นคน
            ผู้นำ อบต.เหมืองง่ากล่าวถึงหลักการดำเนินงานของกองทุนฯ ว่า
            " ต้องได้ใจของผู้ทำ และบูรณาการทุกส่วนเป็นหนึ่งเดียว" นี่คือ สิ่งที่เรียนรู้จากผู้นำว่า การบริหารด้วยความเข้าใจ ตามความต้องการของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการดูแลสุขภาพ การทำงานมีอิสระสามารถตรวจสอบได้ มีแนวทางในการจัดการความรู้ และสร้างนวัตกรรมใหม่ นั่นคือ สิ่งที่มันควรจะต้องมีเพื่อพัฒนากองทุนฯ ให้ยั่งยืน
            มุมมองของผู้นำ มองว่า เป้าหมายของกองทุนฯ สอดคล้องกับนโยบายของชุมชนอยู่แล้ว คือ ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพดี เห็นความสำคัญของสุขภาพ และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและของชุมชน ผู้นำกล่าวต่อว่า
            "ในระยะแรกการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ ต้องชี้แจงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ทุกคน ทุกหมู่บ้านต่างมีความต้องการให้โครงการของหมู่บ้านของตนเอง ได้รับการสนับสนุน บางคนไม่เข้าใจ ต้องมีการประชุม ชี้แจง การปรับ..ปรึกษา.. และให้โหวตเสียง ในที่ประชุม งบประมาณที่จัดสรรจะผ่านสถานีอนามัย ซึ่งชาวบ้านได้จัดทำโครงการร่วมกัน .. ในระยะแรกงบฯ ไม่ค่อยพอ  ผู้บริหารฝึกให้มองเห็นคุณค่าของผลงาน ไม่ใช้เงินนำร่องอย่างเดียว"

            ไม่ว่าเป็นการทำงานอะไร ก้มีปัญหาทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่า เรามองปัญหานั้นอย่างไร แล้วจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไรต่างหาก ที่เหมืองง่านั้นมองว่า จะบริหารกองทุนฯ ให้ประสบผลสำเร็จได้ ต้องเริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญ ดังคำพูดที่ว่า
            " ต้องได้ใจชาวบ้าน ..นักการเมืองอาจไปๆมาๆ แต่ชาวบ้านต้องยั่งยืน ..มีภาวะสุขภาพดี .. ต้องสนับสนุนการทำกิจกรรมที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์ร่วมกัน ..มองปัญหาสุขภาพออก .และร่วมกันแก้ไขปัญหา..."

            ประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกันอย่างยุติธรรม มีการประสานงานขอความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมกันนั้นต้องมีการสร้างทีมงานทุกวัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และให้กองทุนฯ นั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน
            ผู้นำ, อสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงองค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ วัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงานหรืองบประมาณ มีการจัดเวทีนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ มีการศึกษาดูงานจากหมู่บ้านอื่นรวมไปถึงการนำเสนอผลงานในการประชุมระดับจังหวัด และสุดท้ายมีการติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยทำแบบฟอร์มรายงานผลงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนงานต่อไป

            การดำเนินโครงการใน อบต.เหมืองง่าเกิดขึ้นจากการทำประชาคมในหมู่บ้าน  เพื่อสนองความต้องการของชาวบ้าน ให้ตรงจุด จึงนำมาเขียนเป็นโครงการ จากนั้นก็นำเข้าสู่การประชุม ทำความเข้าใจร่วมกันในทุกโครงการ พิจารณาให้โครงการนั้นสอดคล้องกับนโยบายหลัก ที่เน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก และต้องสอดคล้องตามชุดสิทธิประโยชน์คือ วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่, เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์และผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาส ถ้าโครงการเป็นไปตามข้อตกลงในที่ประชุมก็อนุมัติผ่าน เพื่อดำเนินงานต่อไป

            การประชาสัมพันธ์เพื่อดำเนินงานตามโครงการ มีส่วนสำคัญทำให้กองทุนฯ ประสบผลสำเร็จ เพราะเมื่อมีการประชาสัมพันธ์โครงการออกไปแล้ว ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการตามเป้าหมายที่วางไว้ ผลปรากฏว่า "จำนวนผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตลดลง มีผู้ควบคุมโรคได้ดี ..ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกายร่วมกัน ปั่นจักรยานร่วมกันมากขึ้น"

            การประเมินความพึงพอใจของผู้ที่เข้ารับการบริการ ปรากฏว่า "ผลสำเร็จคิดว่า เกิน 80% "

            ปัจจัยสู่ความสำเร็จของกองทุนฯ ที่เหมืองง่าคงมาจากไหนไม่ได้ นอกจาก ตัวผู้นำ หรือ นายก อบต.เหมืองง่านั่นเอง ที่มีวิสัยทัศน์ในการให้ความสำคัญกับประชาชนทุกภาคส่วน แล้วนำไปสู่การทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของการพัฒนา ดังนั้น ไม่ว่าจะเป้นโครงการไหนก็สามารถไปสู่เป้าหมายได้ง่าย และไม่มีปัญหาแม้แต่เรื่องของงบประมาณ ที่ส่วนใหญ่มักมีปัญหาใหฯญ่ในพื้นที่อื่นๆ แต่สำหรับ อบต.เหมืองง่านั้น ไม่ใช่
            เมื่อชาวบ้าน เกิดความเข้าใจว่า ตนเองเป็นเจ้าของกองทุนฯ ก็จะมีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น การดูแลสุขภาพในชุมชนก็ง่ายขึ้น ส่วนในอนาคตนั้น ชุมชนก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะรุ่นหนุ่มสาว จะได้เห็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมและการดูแลสุขภาพของชุมชนร่วมกัน ความหวังของวันนี้และวันพรุ่งนี้ ในการสร้างหลักประกันสุขภาพของชาวเหมืองง่า จึงมั่นคงไม่ต้องรีรอเงื้อง่ารอท่าให้มากความ

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
วราพร วันไชยธนวงศ์
เจนนารา สิทธิเหรียญชัย
อัญชลี นิลเป็ง
จินตนา พรสัมฤทธิ์โชค
สุภาพร อิศรากูร ณ อยุธยา
วพบ.เชียงใหม่

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น