ถาม : สังโยชน์ ๑๐ ตัดสักกายทิฏฐิ ถ้าละได้ก็ไปแล้ว
ตอบ : ถ้า เราทำ ๓ ข้อแรกได้ เขาให้จับข้อสุดท้ายไปเลย สำคัญที่สุด ๓ ข้อแรก ใน ๓ ข้อแรกไม่ใช่ละได้เด็ดขาด ละได้ระดับที่ต้องการก็จะเป็นพระโสดาบัน เสร็จแล้วไปจับตัวท้ายเลย เพราะว่า ต้น กลาง นั่นมันสำคัญที่สุดตรงปลาย ปลายมันเป็นราก แล้วตัดรากแก้วขาดมันตาย ถ้ารากแก้วไม่ขาดมันก็ยังพยายามจะงอกอยู่เรื่อย
ถาม : ตัวท้ายอะไรครับ ?
ตอบ : อวิชชา อวิชชา ตามศัพท์เขาแปลว่าไม่รู้ จริงๆ แล้วต้องแปลว่า รู้ไม่หมด รู้ไม่ครบ สมเด็จพุฒาจารย์ วัดระฆัง อย่าลืม อาตมาบอกสมเด็จพุฒาจารย์ สมัยก่อนตำแหน่งแค่นั้น มาตอนเหลังเขาเพิ่มเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆัง คือหลวงพ่อโต ท่านบอกว่า มันต้องแปลว่ารู้ไม่หมด อวิชชาแยกเป็นศัพท์ ๒ ตัว คือ ฉันทะ ความพอใจ แล้วก็ราคะ ความยินดี อยากมี อยากได้ เกิดความพอใจก็เลยยินดี อยากมีอยากได้ พอใจปุ๊บก็ยินดี เออ! ถ้าหากว่าเป็นแฟนเราก็ดี อันนี้เป็นราคะ
ถ้าหากว่าตาเห็น ว่ามันสวยก็เกิดจิตปรุงแต่งอยากจะได้ขึ้นมา หูได้ยิน เออ! มันไพเราะอยากจะฟัง จมูกได้กลิ่น เออ! มันหอม อยากจะดมอีก ลิ้นได้รส เออ! อยากจะกินอีก กายสัมผัส เออ! นุ่มดีอยากสัมผัสอีก
เพราะฉะนั้นมันอยากละเอียดมากต้องระวังให้ทัน แว่นตา เออ! ชัดดี พอใจมันนี่เสร็จแล้วนะ เครื่องคิดเลข เออ! ตัวใหญ่ดีใช้ง่ายสะดวก เสร็จอีกแล้วนะ ยากไหม ? แต่ถ้าถึงเวลานั้นแล้วมันไม่อยาก มันเหมือนกับเรามีกล้องจุลทรรศน์ แรกๆ พวกสักกายทิฏฐินี่ เหมือนกับเราไปฆ่าช้าง ตัวมันใหญ่ยิงง่าย พอไปกลางๆ มังเล็กลงมาเท่าหมาเท่าแมวเท่าหมู มันเล็กไปเรื่อยๆ มันเท่ายุุง เท่ามดเท่านั้น ตอนนี้สติปัญญาของเราทุกอย่าง มันจะแหลมคมและชัดเจนแจ่มใสมากเหมือนกับมีกล้องจุลทรรศน์ เมื่อมีกล้องจุลทรรศน์อยู่ยุงมันตัวใหญ่เกินไปเสียด้วยซ้ำ สอยได้ไม่ยากหรอก
ถาม : สักกายทิฏฐิกับมานะ ต่างกันตรงไหนครับ ?
ตอบ : ต่างกัน มานะ เป็นสันดานในใจของเรา เขาเรียกว่า อนุสัย เป็นตัวที่ละเอียดลึกอยู่ สักกายทิฏฐิ เป็นความรู้สึกปกติ ความรู้สึกปกติเหมือนกับเราหวงของอย่างหนึ่ง มันก็เลยรู้สึกว่าหวงร่างกายนี้ แต่ตัวมานะนั้นมันไม่ได้หวงเฉยๆ มันคิดว่ากูดีกว่าด้วย ของชิ้นนี้ของกู กูรักกูหวงอย่างเดียวไม่พอ ของกูดีกว่าของมันด้วย ต่างกันไหม ? ต่างกันอยู่หน่อยเดียวแหละ
ถาม : ตัดมานะได้ก็แปลว่า ตัดสักกายทิฏฐิได้แล้วหรือครับ
ตอบ : ถ้าตัดสักกายทิฏฐิได้ มานะมันเหลือกำลังน้อยเต็มที อธิบายง่ายเกินไปหรือเปล่า
สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น