++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปฏิรูปประเทศด้วยการขจัดต้นตอของปัญหา

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 8 สิงหาคม 2553 13:31 น.
หลังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนเมษา-พฤษภา ที่ผ่านมา คนไทยก็เริ่มมีความห่วงใยในอนาคตของชาติบ้านเมืองมากขึ้น ที่สำคัญก็คือทุกคนได้ตระหนักว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มประชาชน ไม่สามารถจะประนีประนอมกันได้ด้วยสันติวิธี และหากไม่มีการแทรกแซงโดยคณะทหารแล้ว ประชาชนก็จะปะทะกันเอง สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ก็คือ กลไกของรัฐไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ มีการเผาศาลากลางจังหวัดอย่างง่ายดาย

เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงอ้างเหตุผลถึงความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม รัฐบาลจึงคิดแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการ 2-3 ชุดขึ้นมาเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

จะว่าไปแล้ว ปัญหาความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทย และเป็นปัญหาที่มีมาช้านานแล้ว แต่ทำไมจู่ๆ ปัญหาเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็อาศัยสาเหตุนี้ระดมความสนับสนุนจากประชาชนในหลายจังหวัดให้จับอาวุธเข้า ต่อสู้กับรัฐบาล แต่ข้อเท็จจริงก็คือการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นไปได้ก็เพราะการจัดตั้ง มิใช่เป็นการลุกฮือขึ้นโดยอัตโนมัติ ในสมัยโบราณมีการกบฏของชาวบ้านในหลายแห่ง แต่ก็เกิดจากความเดือดร้อนจริงๆ โดยเฉพาะการเกิดความฝืดเคืองในการทำมาหากิน และรัฐก็ยังจัดเก็บภาษีอยู่ แต่ในปัจจุบันความรุนแรงก็มิได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่เกิดจากการจัดตั้ง ประชาชนที่มาชุมนุมบางส่วนมาด้วยความเดือดร้อน ความคับแค้นใจ แต่มีส่วนของการจัดตั้งที่เป็นแกนนำผลักดันทำให้เกิดความรุนแรงโดยมีเจตนา และการเตรียมการอย่างเป็นระบบ มีการจัดหาอาวุธและกำลังคนที่มีความสามารถในทางการรบเข้ามาก่อเหตุ

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะคนมีความไม่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำในสังคม ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก ต่อให้มีมาตรการในการแก้ไขบรรเทาปัญหาเหล่านี้ แต่ถ้ากลุ่มผู้ดำเนินการยังไม่เลิกการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

เหตุการณ์ที่ผ่านไป จึงเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การผนวกกำลังของประชาชนกับกำลังของผู้ก่อการ และเป็นการก่อการร้ายในเขตเมือง แทนที่จะเป็นการต่อสู้อย่างยืดเยื้อยาวนานในชนบท ดังนั้น รัฐบาลจึงเผชิญกับปัญหาสองด้านพร้อมๆ กันไป คือ ด้านหนึ่งจะต้องพยายามขจัดเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องจัดการปราบปรามแกนนำของขบวนการทางการเมืองด้วย

ตราบใดที่พรรคการเมืองที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล ปัญหาความขัดแย้งนี้ก็จะไม่หมดไป แต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อผมเข้าไปร่วมเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศ ผมทราบดีว่าปัญหาที่พูดคุยกันเป็นปัญหาที่รู้กันอยู่อย่างกว้างขวาง และมีการศึกษาวิจัย มีการจัดสัมมนากันมากแล้ว สิ่งที่ผมสนใจก็คือ ปัญหาใดหรือปัจจัยใดที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นความรุนแรงทาง การเมืองอย่างที่เป็นอยู่ถึงกับมีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กันเอง มีการก่อวินาศกรรม

คำตอบที่ผมคิดได้ก็คือ ไม่มีปัญหาใดที่เป็นปัญหาด้านความเป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำโดยตรง แต่รากเหง้าของปัญหาคือ การช่วงชิงอำนาจกลับคืนมา และที่เกิดความรุนแรงก็เพราะมีผู้สนับสนุนทางการเงิน และอาวุธที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น โดยมีประชาชนเป็นตัวประกอบ

ดังนั้น แม้จะมีการนำนโยบายหรือมาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมมาใช้ก็ตาม แต่ปัญหาของความรุนแรงก็ยังจะไม่หมดไป เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิรูปประเทศไทย จึงจะละเลยการปฏิรูปทางการเมืองไปเสียมิได้ ตัวปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การช่วงชิงอำนาจทางการเมือง และการป้องกันมิให้ผู้มีอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หรืออาศัยความชอบธรรมทางการเมือง รวบอำนาจทางการเมืองจนถึงขั้นออกกฎหมายและนโยบายเพื่อสนองผลประโยชน์ของตน เองและของกลุ่ม

ในการคิดถึงปัญหาของประเทศไทย ทุกคนพบว่าปัญหามีมากมายหลายด้าน และเกี่ยวพันกันหมด จึงต้องหาปมปัญหาที่เมื่อแก้แล้ว จะมีผลสะเทือนช่วยให้ลดทอนปัญหาอื่นๆ ไปด้วย ที่ยากก็คือ เราใช้แนวทางปฏิรูปซึ่งหมายความว่า ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้องให้เกิดความสนับสนุนเห็นพ้องต้องกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นไปอย่างสงบ สันติ ไม่มีการบังคับขืนใจกัน นี่เป็นความยากของการปฏิรูป

หลังจากที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คิดถึงเรื่องปัญหารายได้ ปัญหาที่ดิน และการถือครองทรัพย์สิน ปัญหาสวัสดิการ ปัญหาการศึกษา ปัญหาระบบราชการ การคลังและการงบประมาณ ปัญหาการกระจายอำนาจแล้ว ในที่สุดก็ต้องวกกลับมาถึงปัญหาการเมืองอีก และน่าจะต้องเน้นไปที่ปัญหาเฉพาะ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ การตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมือง การปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง เพราะการเมืองเป็นตัวกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง

ที่ ต้องไม่ลืมก็คือ ในเมื่อปัญหาสังคมและเศรษฐกิจจะยังไม่หมดไป ทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้กลุ่มผู้ฉวยโอกาสนำเอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือ ได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนมากกว่าเรื่องอื่นใด ที่เป็นไปได้ก็คือ ขจัดต้นตอของปัญหานี้ให้เด็ดขาดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น