++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องประมวลคำสอนการเจริญพระกรรมฐานฯ

รวบรวมจากคำสอนของครูบาอาจารย์หลายองค์ เพื่อตอบคำถามที่มีผู้สนใจปฏิบัติธรรมสอบถามมา เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับท่านอื่นบ้าง จึงลงเผยแพร่ครับ


ก.ทำไมจึงต้องเจริญพระกรรมฐาน และ อะไรคือเป้าหมาย ?

เหตุที่ต้องเจริญกรรมฐานมีมูลเหตุมาจากความจริงที่ว่า การเกิด การแก่ การตาย เป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความเสียใจ ความคับแค้นใจ การประสบพบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจ การคิดปรารถนาอยากได้สิ่งใด แต่ไม่ได้สิ่ง นั้นสมปรารถนา ล้วนเป็นทุกข์ กล่าวโดยสรุปก็คือ การหลงคิดว่าร่างกายเป็นของเราของเขานั่นแล เป็นตัวทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง (คำว่าร่างกายในที่นี้หมายถึง ร่างกายทุกภพภูมิในวัฏกะสงสาร ทั้ง ๓๑ ภพภูมิ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ มนุษย์ เทวดา และพรหม)

เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

การดับตัณหาคือคือการดับทุกข์อย่างแท้จริง

ข้อปฏิบัติเพื่อดับตัณหา นำกิเลสให้หมดไปจากใจนี้ มี ๘ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (ปัญญาเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตไว้ชอบ)

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป รวมเรียกว่าปัญญา
สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว รวมเรียกว่าศีล
สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ รวมเรียกว่าสมาธิ

คำว่าสมาธิ เรียกอีกอย่างว่า กรรมฐาน แปลว่า ตั้งใจมั่น

สรุปการเจริญพระกรรมฐานคือส่วนหนึ่งของการปฏิบัติเพื่อดับตัณหา เป้าหมายคือการที่ไม่ต้องเกิด

ข.กรรมฐานคืออะไร ?

กรรมฐานคือการตั้งใจมั่นในอารมณ์ที่เป็นกุศล ละทิ้งอารมณ์อกุศลออกจากจิต (อารมณ์อกุศลในจิตคือนิวรณ์ ๕ ประกอบด้วย ความลังเลสงสัย ความคิดฟุ้งซ่าน ความพยาบาท ความปราถนาในกาม ความง่วง)

ค. การเจริญ สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน มีขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างไร ?

การปฏิบัติกรรมฐานมีสามขั้นตอนคือ

ขั้นตอนที่ ๑ การเจริญ อธิศีลสิกขา (จะไม่ทำลายศีลให้ขาดเอง ๑, ไม่แนะนำให้คนอื่นทำลายศีล ๑, ไม่ยินดีต่อเมื่อเห็นผู้อื่นทำลายศีล ๑)

ขั้นตอนที่ ๒ การเจริญ สมถภาวนา มีสองแนวทางคือ กรรมฐาน ๔๐ และ มหาสติปัฏฐาน

ขั้นตอนที่ ๓ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานคืออารมณ์คิด คิดอยู่ในขอบเขตพิจารณา ปฏิบัติได้โดยใช้อารมณ์สมาธิที่ได้จากสมถภาวนาเป็นฐานเพื่อ พิจารณาขันธ์ ๕ เห็นว่าขันธ์ ๕ นี้เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขอะไรไม่ได้ แล้วก็มีการสลายตัวไปในที่สุด

วิปัสสนาญานนี้พิจาณาได้หลายแนวทาง แล้วแต่ความถนัดของแตละบุคคล หากอ่านในพระสูตรจะพบว่าแต่ละท่านที่บรรลุมรรคผล มีอุบายในการพิจารณาวิปัสสนา แตกต่างกัน แต่เหมือนกันที่ทุกแนวอยู่ในเขตของการพิจารณาขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ว่าเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่เป็นตัวเราของเรา (อนิจจัง ทุขขัง อนัตตา)

วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็นสามนัย คือ
ก. พิจารณาตามแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ตามนัยวิสุทธิมรรค ที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้
วิปัสสนาญาณ ๙
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับของสังขาร
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่าเบื่อหน่าย
๖. มุญจิตุกัมมยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
๘. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่าควรวางเฉยในสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ นั้น เพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ

ข. พิจารณาตามนัยอริยสัจ ๔ คือพิจารณาให้เห็นจริงว่า การเกิด การแก่ การตาย เป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความเสียใจ ความคับแค้นใจ การประสบพบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจ การคิดปรารถนาอยากได้สิ่งใด แต่ไม่ได้สิ่ง นั้นสมปรารถนา ล้วนเป็นทุกข์ กล่าวโดยสรุปก็คือ การหลงคิดว่าร่างกายเป็นของเราของเขานั่นแล เป็นตัวทำให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง (คำว่าร่างกายในที่นี้หมายถึง ร่างกายทุกภพภูมิในวัฏกะสงสาร ทั้ง ๓๑ ภพภูมิ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ มนุษย์ เทวดา และพรหม)

เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา การดับตัณหาคือคือการดับทุกข์อย่างแท้จริง

ค. พิจารณาขันธ์ ๕ ตามนัยพระไตรปิฎก ที่มีมาในขันธวรรค ให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา โดยให้พิจารณาเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ ป่วยก็รักษา เพื่อให้ทรงอยู่ แต่เมื่อมันจะพังก็ไม่ตกใจ หรือมันเริ่มป่วยไข้ ก็คิดว่าธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้ เราจะรักษาเพื่อให้ทรงอยู่ ถ้าทรงอยู่ได้ ก็จะอาศัยเพื่องานกุศลต่อไป ถ้าเอาไว้ไม่ได้มันจะผุพัง ก็ไม่มีอะไรหนักใจ ความทุกข์จะเกิดแก่ตัวเองหรือใคร อะไรก็ตาม ไม่ผูกจิตติดใจ อย่างนี้ จนกระทั่งบรรลุอรหัตตผล ตามนัยที่ท่านพระสารีบุตร กล่าวไว้ในขันธวรรคแห่งพระไตรปิฎก

สรุปเป้าหมายสุดท้ายของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานคือ การเห็นจริงว่า ขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

ง. การเจริญกรรมฐาน จะประสบกับความสำเร็จได้อย่างไร ?

การเจริญกรรมฐานจะประสบความสำเร็จได้ด้วย สัมมาวายาโม (ความเพียรชอบ) ขยายว่าคือ อิธิบาทสี่ ( ฉันทะ มีความพอใจในปฏิปทาที่ปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ ๑, วิริยะ มีความพากเพียรพยายามไม่ท้อถอย ๑, จิตตะ สนใจข้อวัตรปฏิบัติเป็นเนืองนิตย์ ๑, วิมังสา ใคร่ครวญพิจารณาในข้อวัตรปฏิบัตินั้นโดยถูกต้อง ๑)

ความเพียรชอบเป็นเช่นไร
ความเพียรชอบคือความพอใจ การปฏิบัติสม่ำเสมอ ความพากเพียรไม่ท้อถอย การประคองจิต ตั้งจิตไว้ ในกิจดังนี้
๑. เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นของอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น
๒. เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้ว
๓. เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น
๔. เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว


จ. มีวิธีการอย่างไร ในการเจริญสมถกรรมฐาน ?

มี ๒ วิธีการใหญ่ คือ สมถกรรมฐาน ๔๐ และ มหาสติปัฏฐาน ๔

ฉ. การภาวนาเมื่อจิตสงบนิ่งแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้น ?

ข้อนี้มีรายละเอียดมากเกินกว่าจะบรรยายได้โดยย่อ เนื่องจากกรรมฐานแต่ละกองจะมีอาการที่เกิดขึ้นเมื่อจิตสงบแล้วต่างกัน เช่นอาการที่เกิดขึ้นจากการทำอานาปานุสสติกรรมฐาน ย่อมต่างจากการเจริญกสิณ ทั้งในเรื่องของนิมิต เรื่องอารมณ์ทำเกิดในแต่ละขั้นของสมาธิ อีกทั้งผมเองมีประสพการณ์ในการเจริญสมาธิน้อย และไม่ครบถ้วนทุกกอง จึงขอละไว้ไม่แสดงความเห็นในข้อนี้

ช.การภาวนาจะเกิดนิมิตเสมอไปหรือไม่ ? หากไม่เกิดนิมิตผู้ปฏิบัติควรทำอย่างไร ?

การภาวนาจะเกิดนิมิตหรือไม่ก็ได้ แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ
๑. กรรมฐานที่ไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์ เช่น อานาปานุสสติกรรมฐาน อาจมีนิมิตเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ แต่หากมีนิมิตเกิดขึ้นให้ละทิ้งอย่าไปสนใจ
๒. กรรมฐานทีมีนิมิตเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ พุทธานุสสติกรรมฐาน(สร้างรูปพระพุทธรูปเป็นนิมิต) กรณีนี้ต้องรักษารูปนิมิตที่เกิดขึ้นไว้ให้ได้ (รูปพรรณสัณฐานไม่เปลี่ยน แต่เปลี่ยนสีได้)

ซ. ญาณ และ วิปัสสนาญาณ คืออะไร ?

ญาณ แปลว่า ความรู้ คือ ปรีชาหยั่งรู้ ปรีชากำหนดรู้ หรือ กำหนดรู้ได้ด้วยอำนาจการบำเพ็ญวิปัสสนา เรียกว่า วิชชา บ้าง

มีการกล่าวถึงญาณในหลายลักษณะ ดังนี้

ญาณ ๓ ได้แก่ วิชชา3

บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เกิดในอดีตได้ คือ ระลึกชาติได้
จุตูปปาญาณ ความรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์โลกได้ เรียกว่า ทิพพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ บ้าง
อาสวักขยญาณ ความรู้ในการกำจัดอาสวกิเลสให้สิ้นไป

พระอรหันต์ที่ได้วิชชาสามข้างต้นนี้เรียกว่า เตวิชโช
ญาณ ๓ ในส่วนอดีต-อนาคต-ปัจจุบัน

อตีตังสญาณ หมายถึง ญาณในส่วนอดีต
อนาคตังสญาณ หมายถึง ญาณในส่วนอนาคต
ปัจจุปปันญาณ หมายถึง ญาณในส่วนปัจจุบัน
ญาณ ๓ ในการหยั่งรู้อริยสัจจ์

สัจจญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้อริยสัจจ์แต่ละอย่าง
กิจจญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้กิจในอริยสัจจ์
กตญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจจ์

ทิพยจักษุญาณ
๑. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิด ณ ที่ใด ที่มาเกิดนี้มาจากไหน
๒. เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่เกิดมาแล้วในกาลก่อนได้
๔. อตีตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอดีตได้
๕. อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในกาลข้างหน้าต่อไปได้
๖. ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เหตุปัจจุบันว่า ขณะนี้อะไรเป็นอะไรได้
๗. ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลกรรมของสัตว์ บุคคล เทวดา และพรหมได้ว่าเขามีสุขมีทุกข์ เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ

ญาณ ๖ ได้แก่
๑. อิทธิฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ มโนมยิทธิ
๒. ทิพยโสต มีหูเป็นทิพย์ สามารถฟังเสียงในที่ไกล หรือเสียงอมนุษย์ได้ยิน
๓. จุตูปปาตญาณ รู้การตายและการเกิดของคนและสัตว์
๔. เจโตปริยญาณ รู้ความรู้สึกในความในใจของคนและสัตว์
๕. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติต่างๆ ที่ล่วงมาแล้วได้
๖. อาสวักขยญาณ ได้แก่การทำอาสวะให้หมดสิ้นไป

พระอรหันต์ที่ได้วิชชาหกข้างต้นนี้เรียกว่า ฉฬภิญโญ

ปฏิปทาสิทธิญาน ได้แก่
อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในอรรถ คือความหมายแห่งถ้อยคำ หรือความเข้าใจผล อันจะบังเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยอนาคตังสญาน
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในธรรม หมายถึง ความเข้านัยแห่งพระพุทธภาษิตอันเป็นอุทเทส จับประเด็นสำคัญได้ หรือความเข้าเหตุเมื่อเห็นผลแล้ว สามารถโยงเข้าไปหาเหตุได้ว่า ผลนี้เกิดจากเหตุอะไรด้วย อตีตังสญาน
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ คือ ภาษา สามารถใช้ภาษาให้คนเข้าใจได้เป็นอย่างดี
ปฏิภานปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในปฏิภาน หมายถึงมีความเฉลียวฉลาดไหวพริบในการตอบปัญหา แก้ปัญหาเฉพาะได้ทันทีทันใด

พระอรหันต์ที่ได้วิชชาสามของเตวิชโช วิชชาหกของฉฬภิญโญ และปฏิปทาสิทธิญาน ข้างต้นนี้เรียกว่า ปฏิสัมภิทัปปัตโต

ญาณที่บุคคลธรรมดาปฏิบัติได้ เรียกว่า ญานโลกีย์ หรือโลกียะญาณ มีโอกาสเสื่อมลงได้ หากบุคคลนั้นละศีล เว้นจากกรรมฐาน ปล่อยให้อกุศลครอบงำจิต

แต่หากอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปปฏิบัติได้ เรียกว่า โลกุตรญาณหรือญาณโลกุตตระ เมื่อได้แล้วจะไม่มีทางเสื่อม

ญาณ16 และ วิปัสสนาญาณ 9

ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีการบรรยายขั้นต่างของการวิปัสสนา เป็น 16 ขั้น หรือเรียกว่า ญาณ16 (โสฬสญาณ) เป็นญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนา โดยลำดับตั้งแต่ต้น จนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน คือ

นามรูปปริจเฉทญาณ หมายถึง ญาณกำหนดแยกนามรูป
นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หมายถึง ญาณจับปัจจัยแห่งนามรูป
สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้
ภังคานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา
ภยตูปัฏฐานญาณ หมายถึง ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
ทีนวานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นโทษ
นิพพิทานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
มุจจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อันใคร่จะพ้นไปเสีย
ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
สังขารุเบกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
สัจจานุโลมิกญาณ หมายถึง ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์
โคตรภูญาณ หมายถึง ญาณครอบโคตร คือ หัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
มัคคญาณ หมายถึง ญาณในอริยมรรค
ผลญาณ หมายถึง ญาณอริยผล
ปัจจเวกขณญาณ หมายถึง ญาณที่พิจารณาทบทวน

แต่เมื่อกล่าวถึงวิปัสสนาญาณโดยเฉพาะ อันหมายถึงญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา จะมีเพียง 9 ขั้น คือ ตั้งแต่ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ถึง สัจจานุโลมิกญาณ (ตามปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ขั้นหนึ่งใน วิสุทธิ7) ที่บรรยายในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ นับรวม สัมมสนญาณ ด้วยเป็น10ขั้น)

ญาณสำคัญที่สุดคือ อาสวักขยญาณ ความรู้ในการกำจัดอาสวกิเลสให้สิ้นไป ผู้ที่ได้ญาณนี้หมายถึงผู้ที่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

ฌ. สนใจการเจริญสมถภาวนา โดยวิธีอานาปานุสติกรรมฐาน จะต้องทำอย่างไร ?

อานาปานุสสติกรรมฐาน คือการตั้งสติรู้ตัวอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกตลอดเวลาที่มีสมาธิภาวนาอยู่ กรรมฐานรู้ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นกรรมฐานคลุมกรรมฐานทั้ง 40 กอง จะภาวนากรรมฐานอันใดอันหนึ่งก็ต้องเริ่มด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเสียก่อน ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ถ้าไม่กำหนดระลึกรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก การบรรลุมรรคผลจะเข้าถึงช้ามาก หรือท่านจะกำหนดลมหายใจเข้าออกไปกับการพิจารณากรรมฐานร่างกาย กรรมฐานซากศพ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมกับดูลมหายใจเข้าออกไปด้วย จึงจะได้บรรลุอริยมรรค อริยผลรวดเร็ว อานาปานานุสสตินี้มีสมาธิเป็นผลถึงฌาน 4 สำหรับพุทธสาวก สำหรับท่านที่ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ คือ พระพุทธเจ้าท่านผู้นั้นจะทรงฌานที่ 5 ฌานที่ 4 จิตจะแยกออกจากกายไม่รับรู้ทุกขเวทนาทางกาย มีจิตเป็นสุขอย่างเดียว เป็นเอกัคคตา คือ จิตเป็นหนึ่งนิ่งในฌาน 4 ฌานที่ 5 สำหรับพุทธภูมิพระโพธิสัตว์ คือ ปัญจมฌาน จิตเป็นสุขทรงอยู่ในเอกัคคตารมณ์ อารมณ์เป็นหนึ่ง มีอุเบกขา ความวางเฉยเพิ่มรวมกับอารมณ์เป็นสุขของฌาน 4

เมื่อท่านที่ทรงอานาปานานุสสติถึงฌาน 4 มีสุขเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ท่านพิจารณากรรมฐานอื่นๆ เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตาแล้วมีปัญญาเฉียบแหลมจากฌาน 4 ท่านก็สามารถบรรลุ พระอรหันต์ผลภายใน 3 วัน เป็นอย่างช้า ภายในที่นั่งเดียวคราวเดียวเป็นอย่างเร็ว

เมื่อท่านกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจนจิตไม่รับลมหายใจ ไม่รับทราบอาการทางกายท่านเรียกว่า ทรงฌาน 4

วิธีปฏิบัติอานาปานุสสติกรรมฐาน
1. อยู่ที่ไหน เวลาใด ทำงานอะไร นั่ง เดิน ยืน นอน วิ่ง ขับรถ ล้างจาน ตำน้ำพริก อ่านหนังสือ ดูทีวี พูดจากับใคร ทำได้ทั้งนั้น ทำง่ายๆ ไม่ต้องนุ่งขาว ห่มผ้าเหลือง ไม่ต้องหนีไปอยู่วัด อยู่ป่า อยู่ในบ้านเมืองที่วุ่นวายก็ทำได้ เพราะลมหายใจมีอยู่ในร่างกายเรามาตั้งแต่เกิด เพียงแต่เอาจิตเอาใจรับรู้ลมหายใจเข้าออกสั้นหรือยาว เร็วหรือช้า ให้ติดตามลมหายใจเท่านั้นทำได้ทั้งลืมตา หลับตา ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ หรือเดินช้าๆ เราฝึกที่จิตไม่ได้ฝึกหัดเดินหัดนั่ง

2. จิตใจเราเคยท่องเที่ยวคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้จนเคยชิน เคยตามใจจิตใจจนเหลิง มาคราวนี้เราจะบังคับให้รู้แต่ลมหายใจอย่างเดียวมาบังคับปุ๊บปั๊บนั้นเห็น ท่าจะยากเย็นเข็ญใจ ที่จิตจะยอมทำตามเรา จิตจะดิ้นรนวิ่งไปคิดอันโน้นอันนี้ตามเดิม กว่าเราจะรู้ตัวจิตก็คิดไปไกลก็คิดได้หลายเรื่องแล้ว ก็ไม่เป็นไรกลับรู้ลมหายใจต่อใหม่ค่อยๆ ทำไปจนมีอารมณ์ชินกับการรู้ลมเข้าลมออกได้วันละ 5 นาทีก็ดีมากแล้ว

3. ถ้าจะให้ดีมากขึ้นเวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกให้นึกว่า โธ เป็นพระนามขององค์พระพิชิตมารศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นบุญบารมีใหญ่ทำให้จิตใจสะอาดสมาธิตั้งมั่น ปัญญาแจ่มใส เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนได้เร็ว เป็นเหตุให้เข้าถึงอริยมรรคอริยผลทางเข้ากระแสนิพพานได้ง่าย

4. เพื่อให้จิตใจตั้งมั่นภาวนาดียิ่งขึ้นจิตไม่วอกแวกฟุ้งซ่านไปนอกเรื่องนอก ทาง องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ทรงสอนให้กำหนดภาพพระพุทธรูปที่ไหนก็ได้ที่เราชอบนึกถึงภาพพระองค์ท่านเป็น สีเหลือง สีเขียว เป็นกรรมฐานทางกสิณอีกเพิ่มเป็น 3 กรรมฐาน นับรวมกันกำหนดรู้ลมเข้าออก นึกถึงพระคุณความดีขององค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จับภาพพุทธนิมิตจำเอาไว้ในจิตในใจ จิตจะเป็นสมาธิเป็นฌานรวดเร็วไม่วิ่งหนีฟุ้งซ่านไปไกลไร้ประโยชน์ จิตเป็นหนึ่งรวดเร็วรวมพลังเอาไว้ตัดกิเลส โลภ โกรธ หลง ออกจากใจให้หมดไปเร็วไว

5. ปฏิบัติใหม่อารมณ์จะซ่านจะตีกันจะเกิดอาการกลุ้ม บางวันดีบางวันไม่เป็นเรื่องท่านก็สอนให้รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว อย่าเคร่งเครียดอย่าขี้เกียจเกินไป ถ้าไม่ไหวก็เลิก อารมณ์ดีค่อยดูลมหายใจต่อใหม่

6. เมื่อจิตรู้ลมเข้าออกเป็นปกติใจสบายจิตจะผ่องใสอารมณ์ปลอดโปร่ง จิตจะมีพลังปัญญาพลังบารมีดีมีความฉลาดสามารถแก้ไขปัญหายุ่งยากของชีวิตได้ อย่างง่ายดาย ปัญหาทางธรรมก็สละละกิเลสตัณหาอุปทานได้รวดเร็ว จิตเป็นสุขร่างกายแข็งแรงมีโรคภัยน้อย จิตใจดีจิตใจมีคุณธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญเจริญสุขก็ตามมาไม่ต้องรอเวลาไปถึงชาติหน้าเมื่อไม่ต้องการโลก สวรรค์ พรหม ก็มีพระนิพพานเป็นที่หวังได้แน่นอน เพราะศีล สมาธิ ปัญญา แท้ที่จริงก็คืออันเดียวกันมีอยู่ด้วยกันพระท่านแบ่งแยกสอนให้เราเข้าใจง่าย เท่านั้น

7. การรู้ลมหายใจเข้าออกถ้าฝึกแบบกรรมฐาน 40 หรือให้ถึงฌาน 4 ท่านให้เอาจิตจับว่าลมหายใจกระทบ 3 ที่ คือรู้ลมกระทบปลายจมูก รู้ลมกระทบหน้าอก รู้ลมกระทบหน้าท้องพองขึ้น คือ หายใจเข้า ถ้าหายใจออกก็ให้รู้ลมกระทบหน้าท้องยุบลง กระทบหน้าอก กระทบปลายจมูก เมื่อลมหายใจออก

ถ้านักปฏิบัติทางฝ่ายมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านก็ให้รู้ลมเข้าออกช้าหรือเร็วที่ปลายจมูกพร้อมกับพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าทรงสมาธิเป็นฌาน 1 ได้ คือปฐมฌาน ท่านก็ใช้ปัญญาฌาน 1 ตัดกิเลส อวิชชา ตัณหาอุปาทาน ตัดสังโยชน์ 3 คือเห็นว่าร่างกายตายแน่นอนไม่สงสัย พระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระประทีปแก้วศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามีศีล 5 ครบ ท่านก็มีบุญวาสนาบารมีเข้าอริยมรรค อริยผลขั้นพระโสดาบันได้รวดเร็วเช่นกัน

ลุงจิ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น